โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วง บางขุนนนท์-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) มูลค่า 1.4 แสนล้านบาทของการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย(รฟม.) ต้องสะดุดลงกลางที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) นัดสุดท้ายวันที่ 14 มีนาคม 2566 และไปไม่ถึงฝั่งฝัน ของการลงนามในสัญญาระหว่างรฟม.และเอกชน คือ บริษัททางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพจำกัด(มหาชน) หรือBEM
เมื่อพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี มีคำสั่งถอนวาระรถไฟฟ้าสายสีส้ม ออกจากครม.หลังจากที่นายอธิรัฐ รัตนเศรษฐ รมช.คมนาคมในฐานะรักษาการ รมว.คมนาคมกลับลำ ผลักดันเข้าสู่การพิจารณาทั้งที่ยังมีคดีคาราคาซังอยู่ในศาล
ที่ประชุมครม.ใช้เวลาถกกันเกือบหนึ่งชั่วโมง โดยเห็นว่าข้อมูลไม่เพียงพอ ท่ามกลางวาระสำคัญที่รออนุมัติกว่า 100 เรื่องโดยนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ระบุว่าต้องรอคำชี้ขาดจากศาลในทุกคดี3
อย่างไรก็ตามก่อนเข้าประชุมรัฐมนตรีหลายคนเห็นค้านนายสาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข พรรคประชาธิปัตย์ สะท้อนว่าครม.ชุดนี้จะมีการกลั่นกรองเรื่องเข้ามาสู่การพิจารณา ทั้งนี้รถไฟฟ้าสายสีส้มยังมีความไม่แน่นอนในเรื่องของข้อกฎหมายที่มีผู้ได้รับผลกระทบยื่นศาลปกครองไว้ หากครม. พิจารณาเรื่องจะมีความผิดตามไปด้วย
เช่นเดียวกับ นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในฐานะหัวหน้าพรรคชาติไทยพัฒนา ระบุว่าจุดยืนของพรรคฯไม่ใช่ไม่เห็นด้วยกับโครงการดังกล่าวแต่ขอให้ชะลอไปก่อน เพื่อรอคำตัดสินของศาล
สอดรับกับพรรครวมไทยสร้างชาติได้มีการหารือไม่เห็นด้วยการพิจารณาวาระนี้ตั้งแต่คืนวันที่ 13 มีนาคม 2566
แหล่งข่าวจากกระทรวงคมนาคม ยํ้าว่าในการประชุม ครม. ในวาระดังกล่าวประเมินว่า จะมีพรรคร่วมรัฐบาล รวมถึงพรรคภูมิใจไทย จะแสดงความเห็นที่ไม่เห็นด้วย เนื่องจากที่ผ่านมากระทรวงคมนาคม จะรอผลการตัดสินของศาลฯที่มีการฟ้องร้องกัน เกี่ยวเนื่องกับโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มที่มีอยู่ 3 คดี
โดยให้มีข้อสรุปถึงจะมีทิศทางในการดำเนินการในโครงการนี้ นอกจากนี้รัฐมนตรีพรรคร่วมหลายคนหวั่นใจว่าหากอนุมัติตามที่เสนอมาอาจจะถูกฟ้องร้องจาก กลุ่มบริษัทระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพจำกัด (มหาชน) หรือ บีทีเอสซี ซึ่งเป็นผู้ร่วมประมูลได้
ก่อนหน้านี้นายอธิรัฐ มีท่าทีชะลอโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มโดยกล่าวถึงผลการประมูลโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มว่า ขอดูรายละเอียดโครงการฯและคดีต่างๆจากรฟม.ก่อน เนื่องจากยังมีประเด็นเรื่องการฟ้องร้องต่อศาลต้องดูว่าสามารถดำเนินการอะไรได้หรือไม่
“โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มจะเสนอทันภายในรัฐบาลชุดนี้หรือไม่ ยังตอบไม่ได้ เพราะต้องดำเนินการให้ถูกต้องตามกฎหมาย หากทุกเรื่องสามารถชี้แจงได้และมีคำตอบสู่สังคม เราก็เดินต่อได้ หากบางประเด็นยังไม่เคลียร์อาจจะต้องรอคำสั่งของศาลก่อน คงไม่สามารถชะลอได้ด้วยตนเอง ซึ่งจะต้องดูปัจจัยหลายๆเรื่อง”
ด้านนายคีรี กาญจนพาสน์ ประธานกรรมการ บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือบีทีเอสซี กล่าวว่า สำหรับโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มนั้นหากมีการเปิดประมูลโครงการฯใหม่ จะเป็นประโยชน์ต่อประชาชนและประเทศชาติจริงๆ เพราะไม่ต้องจ่ายเงินส่วนต่างถึง 6.8 หมื่นล้านบาท
“หากรัฐบาลจะเดินหน้าโครงการฯต่อไป คงเป็นหน้าที่ของประชาชนควรรับทราบว่ารัฐบาลกำลังทำอะไรอยู่ มีการเอื้อประโยชน์หรือฮั้วประมูลหรือไม่ เพราะเรื่องนี้ยังอยู่ในศาลที่ยังไม่ได้ตัดสิน ถ้ามีการลงนามสัญญาและมีผู้ที่เกี่ยวข้องมีส่วนเห็นด้วยที่ทำให้ประเทศชาติเสียหาย เตรียมรอคำฟ้องจากผมและประชาชนได้”
ทั้งนี้องค์กรต่อต้านคอรัปชันยังมีความเห็นถึงโครงการฯดังกล่าว มีความผิดปกติ เนื่องจากในช่วง 2 ปีที่ผ่านมามีการเปลี่ยนหลักเกณฑ์การคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุน (ทีโออาร์) จนนำมาสู่การล้มประมูล อีกทั้งการประมูลในครั้งใหม่บริษัทไม่สามารถเข้าร่วมประมูลได้ เพราะไม่มีผู้รับเหมาที่เข้าเกณฑ์คุณสมบัติของโครงการฯ
“เรามีแต่ตัวเลขจากการประมูลครั้งแรกที่เคยเปิดเผยซึ่งตัวเลขต่างจากการประมูลรอบใหม่หลายหมื่นล้านบาท ประชาชนควรตัดสินใจเองว่าเรื่องนี้ถูกต้องกับภาษีของตนเองหรือไม่”
ด้านนายพงษ์สฤษดิ์ ตันติสุวณิชย์กุล กรรมการบริหารบริษัททางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BEM และรองกรรมการผู้จัดการใหญ่กลุ่มงานปฏิบัติการบริษัทช.การช่าง จำกัด (มหาชน) หรือ CK กล่าวว่า
ปัจจุบันบริษัทอยู่ระหว่างรออนุมัติให้ลงนามสัญญาโครงการฯ ไม่ว่าจะรัฐบาลนี้หรือรัฐบาลไหนบริษัทก็รอ หากเคาะอนุมัติและลงนามสัญญาได้ BEM และบมจ.ช.การช่าง พร้อมทำงานทันที เพราะมีเงินทุนมีครบแล้ว เชื่อว่าสามารถทำได้จริง สำเร็จจริง คุณภาพดีจริง