ประเด็นร้อนในการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันนี้ (14 มีนาคม 2566) กระทรวงคมนาคม ชงผลการคัดเลือกเอกชนในโครงการ รถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) วงเงินลงทุนประมาณ 1.4 แสนล้านบาท ซึ่งบริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จํากัด (มหาชน) หรือ BEM เป็นผู้ชนะการประมูล เข้ามาในครม.พิจารณาเห็นชอบ
แหล่งข่าวจากทำเนียบรัฐบาล ระบุว่า ในวงประชุมครม. ได้หารือถึงโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มนานเกือบหนึ่งชั่วโมง โดยมีรัฐมนตรีจากกระทรวงต่าง ๆ ร่วมแสดงความเห็นกันแบ่งเป็น 2 ส่วน คือ ฝ่ายที่เห็นด้วย และฝ่ายที่คัดค้าน
แต่เป็นที่น่าสังเกตว่า นายอธิรัฐ รัตนเศรษฐ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม ในฐานะปฏิบัติหน้าที่แทน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ซึ่งเป็นผู้เซ็นโครงการเข้าครม.ครั้งนี้ กลับไม่ได้อธิบายอะไรในที่ประชุม
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง : “รถไฟฟ้าสายสีส้ม” แท้ง นายกฯ สั่งถอนออกจากครม. รอรัฐบาลใหม่
หลายปมเคลียร์ปัญหาได้แล้ว
ทั้งนี้ในวงประชุมได้ตั้งข้อสังเกตโครงการนี้มีเรื่องที่เคลียร์ชัดเจนแล้ว นั่นคือ การตอบคำถามสังคมได้ไหมว่า ในกรณีตัวเลขส่วนต่างของวงเงินการประมูลหลายหมื่นล้านบาท ซึ่งจากการตรวจสอบพบว่า กรณีนี้ไม่มีตัวเลขที่ชัดเจน เพียงแต่เป็นแค่ความเห็นของฝ่ายต่าง ๆ ที่ออกมาตั้งข้อสังเกต เพราะที่ผ่านมา รฟม. ไม่เคยได้เปิดซองราคาการประมูลในครั้งแรกออกมา จึงไม่รู้ว่าเอกชนรายใดเสนอสูงกว่ากัน
เรื่องต่อมาคือ คำพิพากษาศาลปกครองสูงสุด ในคดีที่บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ บีทีเอส ยื่นฟ้องคณะกรรมการคัดเลือกฯ โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม และการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย เป็นผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1-2 กรณีขอให้คณะกรรมการคัดเลือกฯ ชดใช้ค่าเสียหายจากการที่มีมติแก้ไขเปลี่ยนแปลงหลักเกณฑ์และวิธีการพิจารณาผู้ชนะการประเมินของเอกสารการคัดเลือกเอกชนโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ซึ่งศาลก็ชี้ว่า รฟม.แก้หลักเกณฑ์โดยชอบ
เช่นเดียวกับการตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับการล็อกสเปคในโครงการนั้น ตอนนี้ก็ไม่มีหลักฐานอะไรมาอ้างเรื่องนี้ได้ ดังนั้นจึงเห็นว่าเรื่องส่วนใหญ่ได้เคลียร์หมดแล้ว
อย่างไรก็ตามในระหว่างการหารือเรื่องนี้ที่ประชุมให้น้ำหนักมากเกี่ยวกับการพิจารณาความเห็นของหน่วยงานต่าง ๆ โดยเฉพาะสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ที่เสนอเข้ามาประกอบการพิจารณาในครม. ซึ่งแจ้งว่า ปัจจุบัน ยังมีบางคดีที่ยังค้างในชั้นศาล จึงเสนอว่าควรรอฟังการตัดสินของศาลออกมาให้เสร็จสิ้นก่อน จากนั้นจึงให้เสนอเข้ามายังครม.เพื่อพิจารณาอนุมัติ
เสนอทางออกอนุมัติแบบมีเงื่อนไข
แหล่งข่าวระบุว่า นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ยังได้เสนอทางออกต่อครม.ด้วยว่า ในเมื่อหลายเรื่องเคลียร์ชัดเจนแล้ว ก็แนะนำว่า ครม.สามารถอนุมัติโครงการนี้แบบมีเงื่อนไขไปก่อนได้ แต่ยังไม่ต้องไปลงนามในสัญญากับเอกชน เพราะขอให้รอคำสั่งศาลในคดีที่เหลือออกมาก่อน ถ้าศาลสั่งว่าผิดก็ไม่ต้องลงนามในสัญญา แต่ท้ายที่สุดก็มีการคัดค้านจากรัฐมนตรีหลายคน จึงไม่สามารถทำตามข้อแนะนำได้
“ในที่ประชุมส่วนใหญ่ที่แย้งว่า เรื่องนี้ทำไมต้องมาเสนอครม.ในวันสุดท้าย หากอนุมัติไปจะเกิดปัญหาตามมาอีกมาก เพราะโครงการนี้เป็นเรื่องที่สังคมจับตามอง แล้วจะตอบคำถามสังคมอย่างไร รวมทั้งเป็นผลต่อทางการเมืองไหม ขณะเดียวกันในเอกสารของหลายหน่วยงานก็แสดงความเห็นชัดเจนว่าให้รอศาลตัดสินก่อน จึงทำให้เรื่องนี้นายกฯ ตัดสินใจขอให้ถอนเรื่องนี้ออกจากครม.” แหล่งข่าวระบุ
รัฐมนตรีส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วย
ภายหลังการประชุมเสร็จสิ้น นายสาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข บอกถึงปมร้อนครั้งนี้ว่า ในที่ประชุมมีรัฐมนตรีที่อภิปรายเรื่องนี้ 6-7 คน โดยตนเองได้อภิปรายแสดงจุดยืนอย่างชัดเจน และเป็น 1 ในรัฐมนตรีที่ไม่เห็นด้วย และให้บันทึกลงไปว่าไม่เห็นด้วย พร้อมขอให้ถอนออกไป และรู้สึกสบายใจมากในสิ่งที่นายกรัฐมนตรีตัดสินใจแบบนี้ เพื่อตอบคำถามกับสังคมได้
โดยในการประชุมวาระนี้ มีรัฐมนตรีที่ไม่เห็นด้วยกับเรื่องนี้ ประกอบด้วย มีนายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน นายธนกร วังบุญคงชนะ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และ นายนริศ ขำนุรักษ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย
เช่นเดียวกับ นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า เป็น 1 ในรัฐมนตรีที่ไม่เห็นด้วยกับการพิจารณาโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม และย้ำว่าเป็นการทำตามความเห็นของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา เพราะยังคงต้องรอความชัดเจนจากศาลปกครองสูงสุด เมื่อที่ปรึกษาของรัฐบาลให้ความเห็นแบบนี้ จึงเห็นว่าไม่ควรอนุมัติ
“อนุทิน” ทำใจรอลุ้นรัฐบาลหน้า
นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ระบุว่า การหารือวาระเกี่ยวกับโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มในครม.ครั้งนี้ รัฐมนตรีหลายคนยังมีข้อกังวลใจหลายเรื่อง โดยเฉพาะประเด็นเกี่ยวกับคดีต่าง ๆ ที่ยังคงค้างอยู่ในชั้นศาล ทำให้กระทรวงคมนาคมต้องถอนวาระการพิจารณาดังกล่าวออกมาก่อน
ขณะเดียวกันยังมีความเห็นของส่วนราชการหลายแห่ง ทั้งกระทรวงการคลัง สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา และ สำนักงบประมาณ ได้รายงานความเห็นประกอบการพิจารณาเข้ามาว่า ควรรอให้มีคำพิพากษาของศาลในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มออกมาให้ชัดเจนก่อน
“อย่าไปซีเรียส ถ้าไม่จบในรัฐบาลนี้ก็ต้องจบในรัฐบาลหน้า โดยรถไฟฟ้าสายสีส้มมีสองตอน คือตอนตะวันออก และตอนตะวันตก โดยตอนตะวันออกสร้างเรียบร้อยแล้ว เหลือตอนตะวันตกยังไงก็ต้องสร้าง”
ส่วนการเป็นรัฐบาลรักษาการจะเสนอเรื่องนี้เข้ามาได้หรือไม่ ยอมรับว่า คงทำเรื่องนี้ไม่ได้แล้ว และคงต้องรอรัฐบาลใหม่มาพิจารณาอนุมัติ อย่างไรก็ตามเมื่อโครงการเกิดปัญหาจำเป็นต้องเปิดประมูลใหม่หรือไม่นั้น หากไม่สามารถพิจารณาได้ทันรัฐบาลนี้ ก็อยู่ที่ครม.ชุดต่อไปว่าจะทำต่อ หรือล้มประมูล ประมูลใหม่ ก็เป็นเรื่องอนาคตแล้ว