นายวีระพงศ์ มาลัย ผู้อำนวยการ สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) เปิดเผยว่า สสว. ได้ดำเนินโครงการ “SME ปัง ตังได้คืน ปีที่ 2” ภายใต้กรอบวงเงิน 500 ล้านบาท โดยคาดว่าจะช่วยผู้ประกอบการขนาดกลาง ถึงขนาดย่อม หรือเอสเอ็มอี (SMEs) ได้มากกว่า 5,000 ราย เนื่องจากเอสเอ็มอีแต่ละรายสามารถขอรับสิทธิ์ได้ 2 ครั้งภายใต้วงเงิน 2 แสนบาที่จะได้รับ
ทั้งนี้ มาตรการดังกล่าวเป็นโครงการส่งเสริมผู้ประกอบการผ่านระบบผู้ให้บริการทางธุรกิจ (BDS) อุดหนุนค่าใช้จ่ายให้ในการพัฒนาเอสเอ็มอีแบบร่วมจ่ายในสัดส่วน 50-80% ตามขนาดของธุรกิจ สูงสุดไม่เกิน 200,000 บาท จนถึงเดือนก.ย.2566
สำหรับผู้ประกอบการเอสเอ็มอีภาคการผลิตรายได้ไม่เกิน 500 ล้านบาทต่อปี ภาคการค้าและภาคบริการรายได้ไม่เกิน 300 ล้านบาทต่อปี จะได้รับการอุดหนุนร่วมจ่าย 50%
ส่วนผู้ประกอบการไมโคร เอสเอ็มอี(MSME) มีรายได้ไม่เกิน 1.8 ล้านบาทต่อปี กิจการเพื่อสังคม ภาคการผลิตรายได้ไม่เกิน 40 ล้านบาทต่อปี และภาคอื่นๆ รายได้ไม่เกิน 20 ล้านบาทต่อปี จะได้รับการอุดหนุนร่วมจ่าย 80%
อย่างไรก็ดี ล่าสุดมีผู้ให้บริการทางธุรกิจเข้าร่วมโครงการแล้วกว่า 120 ราย รวมกว่า 200 บริการ ครอบคลุม 5 หมวดบริการ ได้แก่ การพัฒนาคุณภาพและมาตรฐานสินค้าและบริการ การเพิ่มผลิตภาพและประสิทธิภาพธุรกิจ การพัฒนาและบริหารธุรกิจ การพัฒนาช่องทงการจำหน่ายและการตลาด
และการพัฒาสู่ตลาดต่างประเทศ มีเอสเอ็มอีเข้าโครงการแล้ว 3,000 ราย จากผู้สนใจเข้าระบบกว่า 5,000 ราย โดยมีการเบิกจ่ายแล้วประมาณ 300 ราย อาทิ ธุรกิจเกี่ยวกับอาหารและเครื่องสำอาง เป็นต้น คิดเป็นวงเงินประมาณ 12 ล้านบาท
นายวีระพงษ์ กล่าวอีกว่า เฟสที่ 2 จะมีการเปิดให้เอสเอ็มอีขอใช้บริการเพิ่มเติมได้ในหมวดของการอบรมเพื่อยกระดับกิจการ หรือเสริมความรู้ แต่ทั้งทั้งนั้นะต้องไม่ใช่การอบรมแบบเรื่องทั่วไป แต่ต้องเป็นเรื่องใหม่ เช่น พระราชบัญญัติคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (PDPA) หรือเรื่องที่เอสเอ็มอีจะต้องทำที่เป็นประโยชน์ต่อธุรกิจ เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม สสว.ยังตั้งเป้าผลิตภัณฑ์มวลรวม(จีดีพี) เอสเอ็มอีปี 2566 โต 2-4% โดยเตรียมแผนพัฒนาเอสเอ็มอีไว้ในหลายด้าน ซึ่งส่วนแรกคือการประสานให้บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) ค้ำประกันเงินกู้สถาบันการเงินให้เอสเอ็มอีวงเงิน 968 ล้านบาท เสนอต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.) พิจารณา
ซึ่งคาดว่าจะเห็นชอบภายในเร็ววันนี้ โดยการค้ำประกันดังกล่าวเพื่อให้ผู้ประกอบการที่ประสบปัญหาช่วงโควิด-19 และมีหนี้เสียเกิดขึ้นในส่วนโควิดมีเงินทุนหมุนเวียนนำไปปรับปรุงกิจการรายละไม่เกิน 2 ล้านบาท ซึ่งคาดว่าจะครอบคลุมเอสเอ็มอีกว่า 1,500 ราย รองรับกิจกรรมทางเศรษฐกิจในช่วงเทศกาลสงกรานต์ เกิดเม็ดเงินหมุนเวียนในระบบอย่างน้อย 3,000 ล้านบาท
นายวีระพงษ์ กล่าวต่ออีกว่า ภาพรวมของเอสเอ็มอีในปีนี้นั้น มองว่าได้รับผลกระทบไม่มาก ยกเว้นกลุ่มที่ส่งออกซึ่งมีปัจจัยเสี่ยงมาจากเรื่องของอัตราแลกเปลี่ยน ภาวะไม่ปกติทางด้านสงคราม และการล้มละลายของธนาคารในสหรัฐอเมริกา
ส่วนเอสเอ็มอีภายในประเทศเชื่อว่าได้รับปัจจัยบวกมากกว่า จากเรื่องการท่องเที่ยวซึ่งมาจากการเปิดประเทศ ส่งผลทำให้ร้านขนาดเล็กมีกำลังซื้อเพิ่มมากขึ้น โดยจะได้ประโยชน์จากจำนวนนักท่องเที่ยวกว่า 40 ล้านคนที่คาดว่าจะเดินทางเข้ามา แต่เอสเอ็มอีเองก็ต้องปรับตัวรับปัจจัยบวกดังกล่าวด้วยเช่นเดียนวกัน เช่น การปรับปรุงเปลี่ยนร้าน หรือผลิตภัณฑ์ให้ดึงดูดความสนใจของลูกค้า