ชงสมุดปกขาว เคลื่อนประเทศ หอฯ-สภาอุตฯจัดดีเบตใหญ่รับเลือกตั้ง

23 มี.ค. 2566 | 01:30 น.
อัปเดตล่าสุด :23 มี.ค. 2566 | 04:18 น.

ภาคเอกชนชี้ยุบสภา สู่โหมดเลือกตั้ง สร้างความเชื่อมั่นวางแผนธุรกิจ ขยายลงทุน “หอการค้าฯ -CIMBT” ยังกังวล ตั้งรัฐบาลใหม่ลากยาวกระทบจัดสรรงบประมาณ เจรจาการค้าสะดุด ดึง 10 พรรคดีเบต พร้อมยื่นสมุดปกขาวนำไปขับเคลื่อน สภาอุตฯระบุเห็นอนาคตประเทศชัด หลังได้รัฐบาลใหม่

การเมืองไทยเดินหน้าเข้าสู่โหมดการเลือกตั้งเต็มตัว หลังมีพระราชกฤษฎีกายุบสภาผู้แทนราษฎร และราชกิจจานุเบกษาได้เผยแพร่ประกาศ “ยุบสภา”มีผลตั้งแต่วันที่ 20 มีนาคม 2566 และประเทศไทยจะมีการเลือกตั้งทั่วไปครั้งใหม่ในวันที่ 14 พฤษภาคม นำมาซึ่งความคิดเห็นของประชาชนและภาคธุรกิจที่มีส่วนได้เสียอย่างหลากหลายทั้งผลดี ข้อกังวล รวมถึงข้อเสนอต่อพรรคการเมืองและว่าที่รัฐบาลใหม่

นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทย และสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า การยุบสภาเป็นสิ่งที่ดี ช่วยสร้างความชัดเจนให้กับทุกฝ่าย ทั้งนักการเมือง ภาคธุรกิจ และประชาชน รวมถึงนักลงทุนต่างชาติเกิดความเชื่อมั่น และวางแผนธุรกิจได้ง่ายขึ้น อย่างไรก็ดี ที่ยังกังวลและต้องจับตาต่อไปคือ หลังการเลือกตั้งหากการจัดตั้งรัฐบาลใหม่มีความล่าช้าเกินไป ขณะที่รัฐบาลที่มีอยู่เป็นรัฐบาลรักษาการจะสร้างความเสียหายให้กับประเทศอย่างน้อย 2 เรื่องใหญ่

นายสนั่น  อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทย และสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย

 1.เรื่องการจัดสรรหรือใช้งบประมาณไม่ทันเวลา 2.การเจรจาและทำสัญญาต่าง ๆ กับต่างประเทศไม่สามารถทำได้ในรัฐบาลรักษาการ ขณะที่เศรษฐกิจไทยและเศรษฐกิจโลกมีความผันผวน ต้องการรัฐบาลในการออกมาตรการกระตุ้น หรือขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้มีความต่อเนื่อง ทันต่อสถานการณ์ สิ่งที่อยากเห็นคือการจัดตั้งรัฐบาลให้ได้โดยเร็วหลังการเลือกตั้ง เพราะหากเกิดความขัดแย้งเกิดความล่าช้าในการจัดตั้งรัฐบาล จะเกิดสุญญากาศไม่เป็นผลดีกับประเทศ

  • จัดดีเบตใหญ่ 10 พรรค พร้อมยื่นปกขาว

 “วันที่ 30 มีนาคมนี้ทางหอการค้าไทยจะจัดเวทีดีเบตใหญ่ เชิญ 10 พรรคการเมืองเข้าร่วมงาน โดยจะจัดนักธุรกิจรุ่นใหม่ นักวิชาการ และภาคประชาสังคมมาพูดบนเวทีให้ 10 พรรคการเมืองฟังใน 10 ประเด็นที่เราคาดหวัง และต้องการเห็นรัฐบาลชุดใหม่ช่วยขับเคลื่อน หลังจากนั้นจะเชิญตัวแทนทั้ง 10 พรรคช่วยตอบประเด็นที่เรานำเสนอไปว่าเขาจะมีทิศทางในการช่วยขับเคลื่อนอย่างไร หลังพูดเสร็จเราจะสรุปทำเป็นสมุดปกขาวยื่นให้กับพรรคการเมือง เพื่อเป็นข้อมูลให้เขานำไปสานต่อ หากได้เป็นรัฐบาลต่อไป”

นายสนั่นได้ยกตัวอย่าง เรื่องที่พรรคการเมืองส่วนใหญ่ไม่ค่อยได้พูดถึง และอยากให้สานต่อ เช่น เศรษฐกิจ BCG (Bio-Circular-Green) ที่ได้ประกาศเป็นวาระแห่งชาติแล้ว รวมถึงแผนดึงต่างชาติลงทุนในพื้นที่อีอีซี เป็นต้น

ชงสมุดปกขาว เคลื่อนประเทศ หอฯ-สภาอุตฯจัดดีเบตใหญ่รับเลือกตั้ง

  • ส.อ.ท.ชี้เห็นรัฐบาลเห็นอนาคตประเทศ

นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(ส.อ.ท.) กล่าวว่า อนาคตประเทศไทยหลังยุบสภาจะเป็นอย่างไรนั้น ยังเร็วเกินไปที่จะพูด ต้องรอดูว่าหลังการเลือกตั้งแล้ว พรรคการเมืองใดบ้างจะได้จับขั้วจัดตั้งรัฐบาล ใครจะได้เป็นนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรี และนโยบายของพรรคร่วมรัฐบาลแต่ละด้านจะเป็นอย่างไรบ้าง จะทำให้เห็นแนวโยบายในการขับเคลื่อนอนาคตของประเทศไทยที่ชัดเจนขึ้น

นายเกรียงไกร  เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย

“การยุบสภา อยู่ในช่วงที่ทุกฝ่ายได้คาดการณ์ไว้แล้ว ข้อดีคือทำให้ทุกอย่างมีความชัดเจนขึ้น ภาคเอกชนไม่ชอบอะไรที่มีความอึมครึม ซึ่งจะทำให้การวางแผนและตัดสินใจในการทำธุรกิจ การลดความเสี่ยง ต่าง ๆ หรือขยายการลงทุนที่ล้อไปกับไทม์ไลน์การเลือกตั้งที่จะมีขึ้นทำได้ง่ายขึ้น”

ขณะที่การหาเสียงเลือกตั้งของพรรคการเมืองส่วนใหญ่ ชูนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจเป็นตัวนำ เพื่อให้คนมีกินมีใช้ การปรับขึ้นค่าแรง ช่วยเอสเอ็มอี กลุ่มเปราะบาง ท่ามกลางหนี้ครัวเรือนที่สูงกว่า 90% ต่อจีดีพี ทำให้คนต้องหันไปพึ่งหนี้นอกระบบ เล่นการพนัน ส่งผลไทยยังติดกับดักประเทศรายได้ปานกลาง ไม่สามารถขยับสู่ประเทศรายได้สูงได้ เรื่องต่างๆ เหล่านี้นักการเมืองต้องเร่งแก้ เพราะระยะยาวไม่เป็นผลดีกับประเทศ

อย่างไรก็ตามในวันที่ 28 มีนาคมนี้ ทาง ส.อ.ท.จะจัดเวทีให้พรรคการเมืองร่วมแสดงวิสัยทัศน์เกี่ยวกับนโยบายฟื้นฟูเศรษฐกิจ การเพิ่มขีดแข่งขันประเทศ การทรานส์ฟอร์มสู่อุตสาหกรรมยุคใหม่ นโยบายแก้ไขปัญหาคอรัปชั่น เป็นต้น รวมถึงจะตอบสนองหรือแก้ปัญหาให้ภาคเอกชนอย่างไรในหลายเรื่อง เช่น ด้านพลังงาน วัตถุดิบ แรงงาน การเงิน เป็นต้น โดยได้รับการตอบรับแล้วจาก 9 พรรคการเมือง

"เวทีดังกล่าว เราจะจัดขึ้นในวันที่ 28 มีนาคมนี้ ในการประชุมใหญ่สามัญประจำปี 2566 ของสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยที่ห้องคอนเวนชั่น โรงแรมเซ็นทารา แอท เซ็นทรัลเวิลด์ ช่วงเวลา 9.00-12.00 น.โดยจะมี 9 พรรคการเมืองมาร่วมแสดงนโยบายเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจประเทศ"นายเกรียงไกร กล่าว

  • อสังหาฯขอทีม ศก.เก่ง-กล้า

นายประเสริฐ แต่ดุลยสาธิต ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร สายงานธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ บริษัท อนันดา ดีเวล ลอปเม้นท์ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า อยากเห็นรัฐบาลใหม่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศรวดเร็วและต่อเนื่อง มีทีมเศรษฐกิจที่เก่ง กล้าตัดสินใจ และพร้อมรับมือกับการเปลี่ยนแปลงหรือเหตุการณ์ที่ไม่คาดฝันได้ เช่นกรณี Silicon Valley Bank (SVB) ถูกสั่งปิด และอาจลุกลามผลกระทบมาถึงประเทศไทย

นายประเสริฐ แต่ดุลยสาธิต ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร สายงานธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ บริษัท อนันดา ดีเวล ลอปเม้นท์ จำกัด (มหาชน)

ขณะที่ นายอุทัย อุทัยแสงสุข ประธานผู้บริหารสายงานปฏิบัติการ บริษัท แสนสิริ จำกัด (มหาชน) ระบุว่า มาตรการภาครัฐช่วยเสริมกำลังซื้อในตลาดอสังหาฯ ได้อย่างแน่นอนไม่ว่าจะออกมาตรการอะไรออกมา ที่สำคัญรัฐบาลใหม่ ต้องทำให้เศรษฐกิจดี ปากท้องดี มีรายได้กลับสู่กลุ่มฐานราก เมื่อเขามีรายได้ก็สามารถซื้อที่อยู่อาศัยได้ โดยแสนสิริเติบโต เพราะทำตลาดตั้งแต่ราคาล้านเดียว ไปถึงขายบ้านเดี่ยว 200 ล้านบาท จึงสามารถเก็บเกี่ยวตลาดได้ครอบคลุม ดังนั้นหากเศรษฐกิจดีขึ้น 1% จะผลักดันการเติบโตของภาคอสังหาฯขยับขึ้น 2%

  • ขอดันท่องเที่ยววาระแห่งชาติ

 นายชำนาญ ศรีสวัสดิ์ ประธานสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย(สทท.) กล่าวว่า การยุบสภาไม่ได้ส่งผลให้การท่องเที่ยวของไทยสะดุดแต่อย่างใด เพราะการเติบโตของการท่องเที่ยวยังคงเป็นไปตามโมเมนตัม ซึ่งตั้งแต่ ม.ค.-พ.ค.เป็นช่วงขาขึ้น จากเป็นช่วงไฮซีซัน โดยในปีนี้เพียงแค่ 2 เดือนกว่า ๆ มีต่างชาติเที่ยวไทยแล้วกว่า 5 ล้านคน เฉลี่ยเข้ามาเดือนละ 2 ล้านคน แม้ว่าเที่ยวบินเข้าไทยยังเพิ่งอยู่ในช่วงฟื้นตัว ราคาตั๋วเครื่องบินมีราคาแพง และจีนค่อยๆ ทยอยมา แต่หลังจากไตรมาส 3 และ 4 จะมีมากขึ้น เพราะจะมีเที่ยวบินเพิ่มขึ้นและคนอั้นอยากเดินทางเที่ยว ตลอดทั้งปีนี้ สทท.คาดจะมีต่างชาติเที่ยวไทยถึง 30 ล้านคน

“อยากให้รัฐบาลใหม่ใช้การท่องเที่ยวเป็นเครื่องยนต์หลักในการกระตุ้นเศรษฐกิจ เพราะหวังผลได้ ขณะที่ภาคส่งออกแนวโน้มชะลอตัว ไม่ว่าใครจะเข้ามาเป็นรัฐบาลต้องเดินหน้าส่งเสริมการท่องเที่ยวอย่างไร้รอยต่อ สิ่งสำคัญอยากให้ผลักดันท่องเที่ยวเป็นวาระแห่งชาติ มีนโยบายกระตุ้นที่ชัดเจน และให้เกิดการกระจายตัวในลักษณะเป็นคลัสเตอร์ เช่น อันดามันคลัสเตอร์ เพื่อให้คนตัวใหญ่และตัวเล็กได้ประโยชน์ไม่ใช่กระจุกอย่างในปัจจุบันที่รายได้หลักๆ อยู่ในไม่กี่จังหวัด”

  • สศค.มั่นใจพื้นฐานเอาอยู่

สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) รายงานว่า การยุบสภาเพื่อให้มีการเลือกตั้งทั่วไปใหม่ ไม่ได้มีผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทย เนื่องจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยปี 2566 มีปัจจัยบวกจากการท่องเที่ยวที่ฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง คาดปีนี้จำนวนนักท่องเที่ยวที่เดินทางเข้ามาในไทยจะสูงถึง 27.5 ล้านคน จากปี 2565 ที่ผ่านมามี 12 ล้านคน ซึ่งรายได้จากการท่องเที่ยวและกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ฟื้นตัวน่าจะช่วยการบริโภค การลงทุนภาคเอกชน ช่วยสนับสนุนปัจจัยภายในประเทศได้

“มองว่า หลังยุบสภาฯและเลือกตั้ง จะมีรัฐบาลใหม่เข้ามาบริหารจัดการ แต่หากเกิดสถานการณ์เลวร้ายที่สุดจากต่างประเทศจากความผันผวนเศรษฐกิจและการเงินโลกที่กระทบมายังเศรษฐกิจไทย คาดเรายังคงเดินหน้าได้ต่อเนื่อง และรองรับความผันผวนได้ จากปัจจัยพื้นฐานเศรษฐกิจไทยที่มีอยู่ในขณะนี้ ทั้งระบบสถาบันการเงินที่เข้มแข็ง เงินทุนสำรองระหว่างประเทศที่อยู่ระดับสูง สัดส่วนหนี้สาธารณะที่แม้ว่าจะเพิ่มขึ้น แต่ก็ยังอยู่ในระดับที่ตํ่า จะช่วยรองรับสถานการณ์ได้”

  • ยุติความขัดแย้ง-แก้โกง

นายอานนท์ วังวสุ นายกสมาคมประกันวินาศภัยไทย(TGIA) กล่าวว่า รัฐบาลใหม่หลังการเลือกตั้ง หากการจัดตั้งรัฐบาลใหม่ยังมีภาพของความขัดแย้งย่อมเป็นเรื่องยากที่จะเกิดความเชื่อมั่นได้ แม้จะตั้งรัฐบาลได้ก็ไปไม่รอด เพราะการออกกฎหมายทั่วไปไม่ได้ใช้เสียง ส.ว. ยกเว้นต้องจัดตั้งรัฐบาลโดยสง่างาม จึงจะเกิดเชื่อมั่นและมีผลบวกต่อระบบเศรษฐกิจไทย ความหวังแรกภายใต้รัฐบาลใหม่อยากเห็นการยุติของความขัดแย้ง ซึ่งเป็นวิธีเดียวที่จะทำให้สงครามสีหมดไป

ข้อเสนอและความหวังจากรัฐบาลใหม่ เรื่องใหญ่ที่สุดคือ ปัญหาคอรัปชั่น ที่ขาดความเชื่อถือในรัฐบาลทุกชุด ดังนั้นรัฐบาลใหม่ต้องวางระบบการบริหารงานที่มีการควบคุม และตรวจสอบเรื่องคอรัปชั่น ที่มีประสิทธิภาพและรวดเร็วกว่าปัจจุบัน ซึ่งรัฐบาลมีเครื่องมือ มีเครือข่ายและฐานข้อมูลด้านต่างๆ อยู่แล้ว

  • CIMBT หวั่นงบล่าช้า

 ดร.อมรเทพ จาวะลา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสำนักวิจัยและที่ปรึกษาการลงทุน ธนาคารซีไอเอ็มบีไทย (CIMBT) กล่าวว่า กว่าจะรู้ผลเลือกตั้ง และได้คณะรัฐมนตรีชุดใหม่ประมาณเดือนสิงหาคม และกว่าจะเปิดประชุมสภาผู้แทนราษฎรได้ เกรงระหว่างทางจะเกิด 2 เหตุการณ์คือ งบประมาณอาจจะล่าช้า เนื่องจากยังไม่มีรัฐบาลใหม่ รวมถึงทำให้การเจรจาการค้าเสรี (FTA) หยุดชะงัก อาจทำให้ไทยเสียโอกาสการลงทุนจากต่างชาติได้ โดยเฉพาะนักลงทุนหน้าใหม่

 “ภาพรวมเศรษฐกิจไทยอาจยังมีปัจจัยเสี่ยงช่วงระยะสั้น แต่ข้อดีคือ มีโอกาสฟื้นตัวในเมืองท่องเที่ยว แต่ยังมีความอ่อนแอในระดับล่างอย่างมาก โดยเฉพาะภาคเกษตร แต่ปัจจัยบวกอาจจะมีเงินจากกิจกรรมหาเสียงเข้ามาช่วยในกลุ่มธุรกิจค้าส่ง ค้าปลีก อาหาร และเครื่องดื่มเข้ามาบ้าง”

 ส่วนระยะกลาง หากจัดตั้งรัฐบาลได้แล้ว แต่ละพรรคมีนโยบายคล้ายกันเช่น ด้านสวัสดิการ แจกจ่าย แต่ถามว่า จะหารายได้จากทางไหน ด้านการลงทุนภาครัฐที่กระจุกตัวเฉพาะกรุงเทพและอีอีซีควรจะกระจายเม็ดงินไปสู่หลายเมืองมากขึ้น ด้านแรงงาน ที่ให้นํ้าหนักการเพิ่มค่าแรงขั้นตํ่า หรือยกกำลังซื้อของผู้มีรายได้น้อย อาจจะทำให้เกิดการย้ายฐานการผลิตของเอสเอ็มอีไปที่แรงงานถูก และความหวังที่ยังไม่เห็นพรรคการเมืองใดพูดถึงคือ อยากจะเห็นประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการลงทุนอย่างเป็นรูปธรรม ที่ผ่านมาแม้ตัวเลขการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) หรือการลงทุนโดยตรงของไทยในต่างประเทศ (TDI) จะมีมากขึ้น แต่ยังไม่มากพอที่จะผลักดันการเติบโตทางเศรษฐกิจให้ขยายตัวถึง 4% ต่อปีได้

  • ยํ้าต้องทำได้จริง ไม่ขายฝัน

นายแสงชัย ธีรกุลวาณิช ประธานสมาพันธ์เอสเอ็มอีไทย กล่าวว่า การมองอนาคตประเทศไทย หลังการเลือกตั้ง ด้านบวกคือ จะส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางเศรษฐกิจที่ให้ความสำคัญกับการเพิ่มความมั่งคั่งให้กับเศรษฐกิจฐานราก การแก้กฎหมาย กฎระเบียบที่เป็นอุปสรรคต่อการประกอบธุรกิจของ SMEให้มีความสะดวก และง่ายขึ้น ลดความเหลื่อมลํ้าในการทำธุรกิจและทำให้ต้นทุนการประกอบธุรกิจตํ่าลง และขจัดค่าใช้จ่ายนอกระบบ

ดังนั้นนโยบายต้องทำได้จริง ไม่ขายฝัน ไม่ลืมสัญญา “คิดดี นำเสนอดี ต้องทำเป็น ทำจริง ทำต่อเนื่อง” และแต่ละนโยบายต้องมีมาตรการรองรับผลกระทบกลุ่มผู้ที่เกี่ยวข้องร่วมด้วย

ส่วนความกังวลต่อนโยบายของพรรคการเมืองที่นำเสนอในขณะนี้คือ นโยบายและมาตรการดี แต่ที่มางบประมาณมาจากไหนและยั่งยืนหรือไม่ ทั้งนี้อยากให้มองว่านโยบายดีต้องสร้างความยั่งยืนมีการนำเสนอชุดความคิดที่มีการสื่อสารด้วยฐานข้อมูลที่มา วิธีการ เป้าหมายผลลัพธ์ที่ชัดเจน และมุ่งสร้างสรรค์นโยบายที่นำไปสู่ความยั่งยืนของประเทศ เช่น การเพิ่มค่าแรงขั้นตํ่า และเงินเดือนขั้นตํ่าต้องนำเสนอกลไกการยกระดับขีดความสามารถแรงงาน และผู้ประกอบการเอสเอ็มอี เพื่อให้เกิดการพัฒนาเป็นวงจรคู่ขนาน

สิ่งที่รัฐบาลใหม่ ต้องทำ คือ 1. ฟื้นฟูเศรษฐกิจสร้างรายได้ให้ผู้ประกอบการและนำรายได้เข้าประเทศ มุ่งเป้าหมายแต่ละภาคเศรษฐกิจ 2. ลดต้นทุนผู้ประกอบการ ค่าไฟฟ้า ค่านํ้ามัน 3.ลดค่าครองชีพประชาชน อาทิ ค่าเดินทาง ค่าไฟฟ้า ค่าแก๊สหุงต้ม ค่าอินเตอร์เน็ต เป็นต้น 4. ลดดอกเบี้ย มีแต้มต่อ เพิ่มโอกาสเข้าถึงแหล่งเงินทุนต้นทุนตํ่า ด้วยกลไกกองทุนฟื้นฟูและพัฒนา SME เป็นต้น

หน้า 1 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3872 วันที่  23 -25 มีนาคม พ.ศ. 2566