นายเศรษฐา ทวีสิน ประธานที่ปรึกษาหัวหน้าครอบครัวเพื่อไทย พร้อมด้วยนางพวงเพ็ชร ชุนละเอียด ประธานคณะกรรมการประสานงานด้านการเมืองพื้นที่กรุงเทพมหานคร (กทม.) พรรคเพื่อไทย นายจักรพงษ์ แสงมณี นายทะเบียนพรรคเพื่อไทย นายวิชาญ มีนชัยนันท์
กลุ่มงานบริหารพื้นที่ กทม. ศูนย์ปฏิบัติการเลือกตั้ง ส.ส. พรรคเพื่อไทย นายดนุพร ปุณณกันต์ ประธานรณรงค์หาเสียงเลือกตั้ง กทม.พรรคเพื่อไทย นายเผ่าภูมิ โรจนสกุล รองเลขาธิการพรรคเพื่อไทย เข้าพบปะ หารือ แลกเปลี่ยนกับสมาคมไทย - จีน ณ อาคารหอการค้าไทย-จีน
นายเศรษฐา ทวีสิน ประธานที่ปรึกษาหัวหน้าครอบครัวเพื่อไทย และที่ปรึกษาคณะกรรมการด้านเศรษฐกิจ พรรคเพื่อไทย กล่าวว่า การพบหอการค้าไทย-จีน ในวันนี้ ถือเป็นงานแรกอย่างเป็นทางการหลังจากได้รับตำแหน่งประธานที่ปรึกษาหัวหน้าครอบครัวเพื่อไทย ทั้งนี้ไทยและจีน มีความสัมพันธ์กันมาอย่างยาวนาน ไทยเป็นประเทศที่มีความผูกพันธ์กับจีนในเชิงพาณิชย์ สร้างมูลค่าการค้าระหว่างกันมหาศาล โดยจีน ถือเป็นประเทศคู่ค้าอันดับต้นๆ และสำคัญที่สุดของประเทศไทย
นายเศรษฐา กล่าวว่า ในการเลือกตั้งที่กำลังจะเกิดขึ้น ถือเป็นจุดเปลี่ยนของประเทศไทย ประเด็นการค้าต่างประเทศ และ ภูมิรัฐศาสตร์ ถือเป็นเรื่องสำคัญและมีความเปราะบางเป็นอย่างมาก นโยบายในอดีตของพรรคไทยรักไทย พลังประชาชน และเพื่อไทย ได้ให้ความสำคัญกับการค้าระหว่างประเทศสูงสุด
การค้าระหว่างประเทศในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ตนไม่อยากลงรายละเอียดมากนัก แต่หากพรรคเพื่อไทยได้รับความไว้วางใจจากประชาชน สามารถจัดตั้งรัฐบาล มั่นใจว่าจะทำได้ดี และดีมากกว่านี้ ด้วยการเปิดตลาดการค้า พบปะนักธุรกิจ และผู้นำต่างประเทศ รวมทั้งนโยบายเปิดประเทศ นำสินค้าไทยไปขายที่จีนให้มากขึ้น จีนจะเข้ามามีบทบาทสำคัญทางการค้ากับไทยมากยิ่งขึ้น เพื่อให้มูลค่าการค้าของไทยปรับตัวดีขึ้น
“การประชุมเอเปคที่ผ่านมา ถือเป็นการปูพื้นฐานที่ดี เราจะสานต่อข้อตกลงต่างๆ และจะทำต่อไปให้ดีกว่านี้ถ้าได้เป็นรัฐบาล” นายเศรษฐา กล่าว
นายณรงค์ศักดิ์ พุทธพรมงคล ประธานกรรมการหอการค้าไทย-จีน กล่าวว่า จากการสำรวจความคิดเห็นของผู้ประกอบการในสมาคมหอการค้าไทย-จีน พบว่า ผู้ตอบแบบสอบถามส่วนใหญ่ เชื่อมั่นว่าเศรษฐกิจไทยจะฟื้นตัวก่อนสิ้นปี 2566
ดังนั้นรัฐบาลใหม่ควรมีนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติม เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจ การแก้ไขปัญหาแรงงานต่างชาติ ไปพร้อมกับการดึงดูดแรงงานไทยที่ถูกเลิกจ้างในช่วงการระบาดของโควิด - 19 กลับเข้าสู่ตลาดแรงงานอีกครั้ง
รวมทั้งการส่งเสริมธุรกิจใหม่ๆ ที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยี ดูแลควบคุมค่าครองชีพที่เพิ่มสูงขึ้น มีมาตรการใหม่ๆ เพื่อส่งเสริมการลงทุนจากต่างประเทศเข้ามาในประเทศเพิ่มขึ้น