สรรพากรแจงยิบ ปมแอร์ 200 ล้าน ยันโปร่งใสตามระเบียบ

31 มี.ค. 2566 | 10:56 น.
อัปเดตล่าสุด :31 มี.ค. 2566 | 10:56 น.

กรมสรรพากร แจงละเอียดกรณีโครงการจัดจ้างปรับปรุงระบบปรับอากาศ หลังเกิดกระแสข่าวซื้อแอร์ 200 ล้าน แต่ชำรุด ยันดำเนินการโปร่งใสตามระเบียบทุกขั้นตอน ระบุยังอยู่ในระยะประกันการดูแลของบริษัท

ตามที่ได้มีข่าวเผยแพร่ในสื่อสังคมออนไลน์ และสื่อมวลชนถึงความชำรุดบกพร่องระบบปรับอากาศของอาคารกรมสรรพากร จนทำให้เจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานในอาคารได้รับความเดือดร้อน และทำให้มีคำถามถึงความโปร่งใสของที่มาของโครงการและกระบวนการจัดจ้างปรับปรุงระบบปรับอากาศนั้น

กรมสรรพากร ขอชี้แจงว่า กรมสรรพากรได้รับอนุมัติงบประมาณเป็นเงินฝากค่าใช้จ่ายในการจัดเก็บภาษี จำนวนเงิน 321,374,755.00 บาท ในการจ้างปรับปรุงระบบปรับอากาศทดแทนเครื่องปรับอากาศรุ่นเดิม ที่ใช้มาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2540 

ซึ่งมีความชำรุดเสียหาย และเพื่อลดค่าใช้จ่ายในการซ่อมแซมบำรุงรักษาทรัพย์สินของทางราชการ กรมสรรพากรจึงดำเนินการจัดจ้างปรับปรุงระบบปรับอากาศตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยการพัสดุ พ.ศ. 2535 และที่แก้ไขเพิ่มเติม

โดยดำเนินการจัดซื้อจัดจ้างตามประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง แนวทางปฏิบัติในการจัดหาพัสดุด้วยวิธีตลาดอิเล็กทรอนิกส์ (Electronic Market : e-market) และด้วยวิธีประกวดราคาอิเล็กทรอนิกส์ (Electronic Bidding : e-Bidding) ลงวันที่ 3 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2558 โดยมีขั้นตอนดังนี้

  1. ขอความอนุเคราะห์จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรีในการออกแบบระบบปรับอากาศ
  2. จัดทำร่างคุณสมบัติ (Terms of Reference : TOR) โดยแต่งตั้งคณะกรรมการ ประกอบด้วย ผู้แทนจากกรมสรรพากร ร่วมกับผู้เชี่ยวชาญด้านวิศวกรรมจากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี
  3. แต่งตั้งคณะกรรมการกำหนดราคากลาง
  4. คณะกรรมการกำหนดราคากลาง ได้กำหนดและปรับปรุงราคากลางระบบปรับอากาศ    ตามกฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้อง เป็นราคา 303,442,280.48 บาท
  5. การดำเนินการจัดจ้าง ตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยการพัสดุ พ.ศ. 2535 ประกอบประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง แนวทางปฏิบัติในการจัดหาพัสดุด้วยวิธีตลาดอิเล็กทรอนิกส์ (Electronic Market : e-market) และด้วยวิธีประกวดราคาอิเล็กทรอนิกส์ (Electronic Bidding : e-Bidding)    ลงวันที่ 3 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2558 รวม 2 ครั้ง ดังนี้

ครั้งที่ 1 ยกเลิก เนื่องจากมีผู้เสนอราคาเพียงรายเดียว (คือ บริษัท ซัยโจเด็นกิ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด) จึงยกเลิกการประกวดราคาและดำเนินการใหม่ตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. 2549 ข้อ 9 (4)

ครั้งที่ 2 กรมสรรพากรจัดจ้างปรับปรุงระบบปรับอากาศ โดยวิธีประกวดราคาอิเล็กทรอนิกส์ (e-bidding) ราคากลาง 303,442,280.48 บาท โดยใช้หลักเกณฑ์การประเมินค่าประสิทธิภาพต่อราคา (Price Performance) มีผู้สนใจเข้ามาดูรายละเอียด จำนวน 25 ราย แต่มีผู้ดาวน์โหลดเอกสาร จำนวน 24 ราย มีผู้มีคุณสมบัติเข้ายื่นเสนอราคา จำนวน 2 ราย คือ

  • บริษัท ซัยโจเด็นกิ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด เสนอราคา 191,844,975.85 บาท 
  • บริษัท นีโอ เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ เซอร์วิส จำกัด เสนอราคา 238,991,154.24 บาท

ซึ่งผู้ชนะการประมูล คือ บริษัท ซัยโจเด็นกิ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด ในราคา 191,844,975.85 บาท

ทั้งนี้ การดำเนินการปรับปรุงระบบปรับอากาศ ตามสัญญาจ้างเลขที่ 57/2561 ลงวันที่ 16 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2561 มีระยะเวลาการทำงาน 480 วัน นับถัดจากวันที่ลงนามในสัญญา (เริ่มทำงานวันที่ 27 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2561) กำหนดส่งมอบงาน 4 งวดงาน กำหนดงานแล้วเสร็จภายใน วันที่ 21 มิถุนายน พ.ศ.2562

บริษัทผู้รับจ้างต้องดำเนินการติดตั้งแอร์พร้อมอุปกรณ์ ประกอบด้วย คอลย์เย็น จำนวน 1,047 ตัว และคอลย์ร้อน จำนวน 243 ตัว ตั้งแต่ชั้นที่ 1-27 รวมถึงชั้นดาดฟ้า ณ อาคารกรมสรรพากร ในการนี้บริษัทผู้รับจ้าง ดำเนินการเสร็จสิ้นและส่งงานพร้อมกัน 4 งวดงาน ในวันที่ 31 พฤษภาคม พ.ศ.2562   และได้แต่งตั้งคณะกรรมการตรวจการจ้าง ซึ่งมีผู้เชี่ยวชาญด้านวิศวกรรมเครื่องกลร่วมเป็นกรรมการ

อีกทั้ง มีการแต่งตั้งผู้เชี่ยวชาญด้านวิศวกรรมเครื่องกลจากสถาบันที่ออกแบบระบบปรับอากาศ อีกท่านหนึ่งเป็นผู้ควบคุมงาน   คณะกรรมการตรวจการจ้าง ผู้ควบคุมงาน และบริษัทผู้รับจ้าง ได้ตรวจสอบการทำงานของระบบปรับอากาศร่วมกัน พบว่าระบบทำงานได้เป็นปกติสามารถเทียบเคียงได้ตามข้อกำหนดทางเทคนิค

โดยให้บริษัทผู้รับจ้างทำรายงานเรื่องของวัตต์ไฟฟ้า อัตราการไหลเวียนของอากาศ ก่อน – หลัง การใช้งาน    เพื่อจะได้นำมาเปรียบเทียบในภายหลังได้ คณะกรรมการตรวจการจ้างนำผลและเอกสารการดำเนินการของผู้เชี่ยวชาญมาใช้ในการพิจารณาตรวจการจ้าง ประกอบกับบริษัทผู้รับจ้างได้ทำการชี้แจงรายละเอียดการติดตั้งพร้อมการเดินตรวจสอบทางกายภาพของคณะกรรมการ

“เมื่อได้ทำการทดสอบระบบปรับอากาศทั้งหมดตามกรอบระยะเวลา ทดสอบระบบการควบคุมด้วยระบบออนไลน์ เดินสำรวจอุปกรณ์ที่ทำการติดตั้ง และรับฟังคำชี้แจงจากผู้เชี่ยวชาญด้านเทคนิคทางวิศวกรรมเครื่องกลรวมถึง ตรวจเอกสารหลักฐานทั้งมวลว่าเป็นไปตามหลักวิศกรรมหลักการทางโยธา กฎหมายที่เกี่ยวข้อง TOR และสัญญาจ้าง รวมถึงเอกสารอื่น ๆ ที่ถือเป็นสัญญาจ้าง ครบถ้วน

โดยความละเอียดรอบครอบแล้วและเห็นว่า ถูกต้องเป็นไปตามระเบียบ กฎหมาย และแนวทางการตรวจรับพัสดุ จึงได้แจ้งผลการตรวจรับไปยังกรมสรรพากร”

ทั้งนี้ ตามที่กล่าวมา กรมสรรพากรขอยืนยันว่า ที่มาของโครงการเป็นไปด้วยความจำเป็นของทางราชการที่ต้องจัดหาเครื่องปรับอากาศทดแทนเครื่องปรับอากาศเดิม ที่มีอายุการใช้งานมากกว่า 20 ปี นับแต่เปิดอาคารกรมสรรพากรในปี พ.ศ. 2540

"ในการออกแบบ การกำหนดราคากลาง และกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างเป็นไปด้วยความโปร่งใส เป็นไปตามระเบียบและกฎหมายที่เกี่ยวข้อง พร้อมรับการตรวจสอบจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง"

ส่วนปัญหาความชำรุดของระบบปรับอากาศที่เกิดขึ้นนั้น ตามสัญญาได้ระบุความรับผิดชอบในความชำรุดบกพร่องของงานจ้าง ไม่น้อยกว่า 5 ปี นับถัดจากวันที่ได้รับมอบงาน และบริษัทผู้รับจ้างได้มีการออกหนังสือรับรองการรับประกันสินค้ารับประกันพัสดุและอุปกรณ์ ตามไว้ในระยะเวลา 5 ปี นับถัดจากวันที่กรมสรรพากรได้รับมอบงาน

โดยในขณะนี้อยู่ในระยะเวลาประกัน ที่ผ่านมาเมื่อมีความชำรุดบกพร่องเกิดขึ้นก็จะมีการแจ้งให้บริษัทผู้รับจ้างเข้ามาซ่อมแซมอย่างต่อเนื่อง โดยล่าสุดบริษัทผู้รับจ้างได้เข้ามาดำเนินการซ่อมแซมและเสร็จสิ้นไปเมื่อเดือนสิงหาคม 2565

สำหรับปัญหาความชำรุดที่เกิดอยู่ในขณะนี้ กรมสรรพากร ได้แจ้งให้บริษัทผู้รับจ้างเข้ามาเร่งบำรุงซ่อมแซมระบบปรับอากาศตามสัญญารับประกัน เพื่อให้เป็นไปตามกฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้องแล้ว