มร.โคจิ ซาโต้ กรรมการผู้จัดการใหญ่ โตโยต้า มอเตอร์ คอร์ปอเรชั่น กล่าวว่า โตโยต้า เอสซีจี และ CJPT ได้เดินหน้าความร่วมมือพัฒนานวัตกรรมรักษ์โลก 3 ด้าน ได้แก่ ด้านพลังงาน ทั้งการผลิตพลังงานไฮโดรเจนจากชีวมวลและอาหารเหลือทิ้ง การผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์-น้ำ ในการใช้บิ๊กดาต้า (Big Data) และโครงสร้างพื้นฐานด้านการโทรคมนาคม เพิ่มประสิทธิภาพการขนส่งและโลจิสติกส์ รวมถึงด้านการพัฒนานวัตกรรมยานยนต์ไฟฟ้าที่หลากหลาย ได้แก่ รถยนต์พลังงานไฟฟ้าแบบไฮบริด(HEVs) รถยนต์พลังงานไฟฟ้า (BEVs) รถยนต์พลังงานไฟฟ้าแบบเซลล์เชื้อเพลิง (FCEVs) และ รถยนต์ประหยัดพลังงาน เพื่อให้ประเทศไทยบรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน ภายในปี 2050
"การประชุมระหว่างผู้บริหารระดับสูงของเครือเอสซีจีและโตโยต้าเมื่อเดือนธันวาคมปีที่แล้ว ในครั้งนั้นได้มีมุมมองร่วมกันว่าเราควรทำงานร่วมกับพันธมิตรเพื่อทำประโยชน์ให้กับประเทศไทย โตโยต้ารู้สึกยินดีอย่างยิ่งที่สามารถร่วมมือกับเอสซีจี ซึ่งให้การสนับสนุนเรามาอย่างยาวนาน และความร่วมมือกับเอสซีจี และ CJPT ในครั้งนี้เราจะเร่งความพยายามสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอนเพื่อตอบแทนประเทศไทยที่สนับสนุนธุรกิจของโตโยต้า”
ด้านมร.ฮิโรกิ นากาจิม่า กรรมการผู้จัดการใหญ่ Commercial Japan Partnership Technologies Corporation (CJPT) กล่าวว่า CJPT จะจับมือกับพันธมิตรต่างๆ เพื่อสร้างความแข็งแกร่งให้กับการขนส่งผู้คนและสินค้าในประเทศไทย และจะเริ่มจากสิ่งที่เราทำได้ตอนนี้ เพื่อลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ เราอยากจะช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของคนไทย เพื่อเป็นการตอบแทนสังคมไทย”
นายรุ่งโรจน์ รังสิโยภาส กรรมการผู้จัดการใหญ่ เอสซีจี กล่าวว่า โครงการดังกล่าว นอกจากจะเป็นการพัฒนา ต่อยอดการสร้างนวัตกรรม เทคโนโลยีจากองค์กรชั้นนำระหว่างประเทศแล้ว ยังมีส่วนสำคัญที่ส่งเสริมให้ภาคอุตสาหกรรมร่วมกันแก้วิกฤตโลกร้อนตามเป้าหมาย Carbon Neutrality (สังคมที่มีความเป็นกลางทางคาร์บอน) ในปี 2050 และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) ในปี 2065 ด้วยซึ่งสอดคล้องกับแนวทาง ESG 4 Plus ของเอสซีจี