พรรคการเมืองดาหน้างัดไม้เด็ดออกมาหาเสียงกันแล้ว หลังยื่นสมัครชิงส.ส.ทั้งแบบเขตและระบบบัญชีรายชื่อเลือกตั้งเสร็จสิ้น เปิดตัวเปิดหน้าผู้สมัครครบถ้วน จากนโยบายที่เสนอก่อนหน้าที่เรียกเสียงฮือฮา และกระแสวิพากษ์วิจารณ์ตามมาว่าแข่งกันด้วยประชานิยมยังไม่จบ ล่าสุดพรรคเพื่อไทยเปิดอีกนโยบาย “คิดใหญ่” ประกาศจะเติมเงินในกระเป๋าเงินดิจิทัลถึง 10,000 บาท ให้คนไทยทุกคนที่มีอายุ 16 ปีขึ้นไป ปลุกกระแสพรรคคู่แข่งที่ออกมาแสดงความเห็นและคิดค้นนโยบายที่ประชานิยมกว่ามาสู้
รศ.ดร.อัทธ์ พิศาลวานิช ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาการค้าระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ล่าสุด กองวิจัยเศรษฐกิจอุตสาหกรรม สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) กระทรวงอุตสาหกรรมร่วมกับตน (ในฐานะที่ปรึกษาโครงการวิจัยฯ) ได้ประเมินเม็ดเงินนโยบายเศรษฐกิจพรรคการเมืองที่กำลังหาเสียงกันอยู่ในขณะนี้ว่าจะมีผลกระทบต่ออุตสาหกรรมใดบ้าง
ในการประเมินครั้งนี้ วิเคราะห์เฉพาะพรรคการเมือง 6 พรรคใหญ่ ได้แก่ ประชาธิปัตย์ ก้าวไกล ภูมิใจไทย เพื่อไทย รวมไทยสร้างชาติ และพลังประชารัฐ ใน 6 นโยบายเศรษฐกิจได้แก่ การขึ้นค่าแรง, เพิ่มอำนาจซื้อประชาชน, อุดหนุนเกษตรกร,เพิ่มศักยภาพอุตสาหกรรม และ SMEs, กระตุ้นเศรษฐกิจ และด้านพลังงาน (นับนโยบายถึงวันที่ 15 มี.ค. 2566 +นโยบายเติมเงินในกระเป๋าเงินดิจิทัลของพรรคเพื่อไทย 5 เม.ย. 2566)
ทั้งนี้ได้ข้อสรุปผลการประเมินทั้ง 6 พรรค คาดจะใช้เม็ดเงินตามนโยบายเศรษฐกิจรวมกันกว่า 8.45 ล้านล้านบาท โดยพรรคเพื่อไทยใช้เม็ดเงินมากสุดประมาณ 2.96 ล้านล้านบาท (รวมนโยบายเติมเงินในกระเป๋าเงินดิจิทัล 1 หมื่นบาทแล้ว คิดที่คนไทยอายุ 16 ปีขึ้นไปที่ 55 ล้านคนจะใช้เม็ดเงิน 5.5 แสนล้านบาท) โดยเม็ดเงินส่วนใหญ่จะใช้ในการขึ้นค่าแรงเป็น 600 บาทต่อวันคิดเป็นเงิน 2.41 ล้านล้านบาท
รองลงมาคือพรรคก้าวไกล ใช้เม็ดเงินรวม 1.95 ล้านล้านบาท พรรคพลังประชารัฐ 1.57 ล้านล้านบาท พรรคประชาธิปัตย์ 8.27 แสนล้านบาท พรรคภูมิใจไทย 7.85 แสนล้านบาท และพรรครวมไทยสร้างชาติ 3.58 แสนล้านบาท (ดูกราฟิกประกอบ)
สำหรับในการประเมินครั้งนี้ แยกที่มาของเม็ดเงินออกเป็น 2 ส่วนคือ จากงบประมาณประเทศ กับไม่ใช่งบประมาณ คือนโยบาย“ขึ้นค่าจ้างแรงงาน” ที่ปัจจุบันจำนวนแรงงานมีมากกว่า 6 ล้านคน ซึ่งเป็นแรงงานที่มีวุฒิการศึกษาตํ่ากว่ามัธยมตอนปลาย และแรงงานจากเด็กจบใหม่ที่จะเข้าสู่ตลาดแรงงานอีกราว 4-5 แสนคนในแต่ละปี คิดจากค่าแรงต่อวันอยู่ระหว่าง 400-600 บาท และการขึ้นเงินเดือนวุฒิปริญญาตรีระหว่าง 20,000-25,000 บาทต่อเดือนตามนโยบายหาเสียง
ส่วน “การเพิ่มอำนาจซื้อประชาชน” มี 2 รูปแบบ คือ ให้เงินอุดหนุนโดยตรงแก่กลุ่มที่ด้อยโอกาสทางสังคม ซึ่งจำนวนเงินจะอยู่ในช่วง 600 - 5,000 บาทต่อเดือน และการให้เงินอุดหนุนทางอ้อมแก่กลุ่มประชาชนทั่วไปในการบริโภค และท่องเที่ยว โดยจะมีส่วนลดค่าใช้จ่ายอยู่ที่ 40% -50% ต่อครั้งในการใช้จ่าย
“อุดหนุนเกษตรกร” 1. ด้านราคาและรายได้ เน้นไปที่การประกันราคาสินค้าเกษตร 2.เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน 3. ช่วยลดต้นทุนปัจจัยทางการผลิต เพื่อให้เกษตรกรมีกำไรมากขึ้น “เพิ่มศักยภาพอุตสาหกรรม และ SMEs” 1.สนับสนุนด้านเงินทุนและลดภาระหนี้สิน 2.นโยบายเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน ด้วยการพัฒนาทักษะและยกความสามารถของทั้งแรงงานและผู้ประกอบการแก่ SMEs เพื่อให้มีความสามารถในการผลิตดีขึ้น และมีความสามารถในการแข่งขันกับตลาดได้
“กระตุ้นเศรษฐกิจ” 1.จัดสรรงบประมาณเข้าสู่ชุมชน ในระดับจังหวัด อำเภอ ตำบล หมู่บ้าน เพื่อพัฒนาชุมชนในด้านโครงสร้างพื้นฐาน เศรษฐกิจ และสังคม ทำให้เกิดรายได้ และการจ้างงานที่มากขึ้น 2.พัฒนาแหล่งท่องเที่ยวในชุมชน เพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวและเม็ดเงินจากการใช้จ่ายของนักท่องเที่ยว ซึ่งจะทำให้ผู้ประกอบการในชุมชนมีรายได้มากขึ้น สามารถเลี้ยงชีพตนเองและครอบครัว 3.ลดภาระค่าใช้จ่ายที่สูง และพักหนี้แก่ประชาชน
“พลังงาน” 1.ลดราคาพลังงาน คือ การลดอัตราค่าไฟฟ้า และการตรึงราคานํ้ามัน เพื่อลดต้นทุนค่าใช้จ่ายภาคเอกชนและครัวเรือน และ 2.สนับสนุนพลังงานทางเลือก
“จากการประเมินเบื้องต้น หากใช้เงินข้างต้นของทุกพรรคการเมืองจะทำให้ GDP เพิ่มขึ้นระหว่าง 0.4-2.3% กลุ่มอุตสาหกรรมที่ได้ประโยชน์คือ อาหารและเครื่องดื่ม เชื้อเพลิง เสื้อผ้า รถยนต์ อุปกรณ์สื่อสาร และเครื่องใช้สำนักงาน เป็นต้น ส่วนนโยบายการขึ้นค่าจ้าง/ค่าแรง ระหว่าง 400-600 บาทต่อวันพบว่า จะทำให้ GDP ไทยลดลง -1.6% ถึง - 6% จากเงินส่วนนี้นายจ้างหรือภาคธุรกิจจะเป็นผู้จ่ายทำให้เพิ่มต้นทุน”รศ.ดร.อัทธ์ กล่าว
ด้านแหล่งข่าวจากกระทรวงการคลัง กล่าวว่าการหาเสียงของพรรค การเมืองกำลังสร้างความกังวลต่อภาระการคลังของประเทศ เพราะกว่า 90% ของการหาเสียงมุ่งไปที่การใช้จ่ายเงิน แถมยังไม่ได้บอกด้วยว่า เงินที่จะนำมาใช้ในนโยบายต่างๆ นั้น จะมาจากทางไหน ทั้งๆ ที่กฎหมายระบุไว้ชัดเจนว่า จะต้องระบุแหล่งที่มาของเงินด้วยว่าจะมีช่องทางหารายได้จากแหล่งไหนบ้าง
ทั้งนี้หากพิจารณาจากกรอบวงเงินงบประมาณ ปี 2567 วงเงิน 3.35 ล้านล้านบาทนั้นเป็นรายจ่ายประจำไปแล้ว 2.51 ล้านล้านบาท หรือกว่า 74.89% ของวงเงินงบประมาณรวม นอกจากนั้นยังจะถูกผูกมัดด้วยรายจ่ายเพื่อชดใช้เงินคงคลัง รายจ่ายลงทุนและรายจ่ายชำระคืนเงินต้น
ขณะที่ภายใต้กรอบวินัยการเงินการคลัง กำหนดไว้ชัดเจนว่า การจัดทำงบประมาณจะต้องมีรายจ่ายงบกลางรายการสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็นต้องอยู่ระหว่าง 2.0-3.5% งบประมาณชำระคืนต้นเงินกู้ต้องอยู่ระหว่าง 2.5-3.5% สัดส่วนการก่อหนี้ผูกพันงบประมาณรายจ่ายข้ามปีไม่เกิน 10% สัดส่วนการก่อหนี้ผูกพันเกินกว่าหรือนอกเหนือจากที่กำหนดในงบประมาณรายจ่ายไม่เกิน 5% และอัตราการชดเชยค่าใช้จ่ายหรือการสูญเสียรายได้ของหน่วยงานของรัฐในการดำเนินการตามที่ได้รับมอบหมายต้องมียอดคงค้างรวมกันไม่เกิน 30% ของงบประมาณรายจ่ายประจำปี
ดังนั้นจะเหลือวงเงินที่จะนำมาใช้เพิ่มเติมในนโยบายหาเสียงได้น้อยมาก ยกเว้นว่าจะเป็นการหาจากช่องทางอื่น ซึ่งอาจจะเป็นการกู้เงินเพิ่มเติมเหมือนที่รัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้ดำเนินการในช่วงที่มีการแพร่ระบาดโควิด-19 แต่ก็ไม่สามารถทำได้มากนัก เพราะภายใต้กรอบวินัยการคลัง กำหนดกรอบวินัยในการบริหารหนี้ไว้ว่าหนี้สาธารณะต่อ GDP ไม่เกิน 60% ภาระหนี้ของรัฐบาลต่อประมาณการรายได้ไม่เกินร้อย 35% หนี้สาธารณะที่เป็นเงินตราต่างประเทศต่อหนี้สาธารณะทั้งหมดไม่เกิน 10% และภาระหนี้สาธารณะที่เป็นเงินตราต่างประเทศต่อรายได้จากการส่งออกสินค้าและบริการไม่เกิน 5%
“การกู้เงินเพิ่มเติม 1.5 ล้านล้านบาท เพื่อแก้ปัญหาโควิด-19 ทำให้รัฐบาลต้องมาขอขายเพดานการก่อหนี้สาธารณะต่อจีดีพีจาก 60% เป็นไม่เกิน 70% จากยอดหนี้สาธารณะล่าสุดเดือนกุมภาพันธ์ 2566 ที่สูงถึง 10.72 ล้านล้านบาท คิดเป็น 61.13% ของจีดีพี จากมูลค่าของจีดีพีที่ 17.54 ล้านล้านบาท ขณะที่แนวโน้มการเติบโตของเศรษฐกิจไทยเองยังมีความเสี่ยงจากความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจโลกและการดำเนินนโยบายการเงินของธนาคารกลางต่างประเทศ”
ดังนั้นแนวทางเดียวที่รัฐบาลจะต้องดำเนินการคือ การเพิ่มประสิทธิภาพการจัดเก็บรายได้ของรัฐบาล ซึ่งหมายถึง ภาษี เพราะปัจจุบันอัตราการจัดเก็บรายได้ของรัฐบาลลดลงจากที่เคยอยู่ที่ 17-18% ของจีดีพี เหลือเพียง 13-14% ของจีดีพี ซึ่งต่ำกว่าทั้งประเทศในเอเชียและประเทศที่พัฒนาแล้วที่สูงถึง 18-20% ของจีดีพี หากเป็นเช่นนั้นก็เป็นภาระของคนทั้งประเทศ ไม่ว่าจะเป็นแนวทางการเพิ่มประสิทธิภาพการจัดเก็บภาษีหรือ การเพิ่มอัตราการจัดเก็บก็ตาม
หน้า 1 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3877 วันที่ 9 – 12 เมษายน พ.ศ. 2566