นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ได้สั่งการหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเดินหน้าขยายตลาดและส่งเสริมแรงงานไทยไปทำงานต่างประเทศ เพื่อให้คนไทยมีงานทำ มีอาชีพ สร้างรายได้และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับประเทศ ในช่วง 2 ปี (2565 – 2566)
ทั้งนี้ภายหลังสถานการณ์โควิด-19 คลี่คลาย สามารถทำให้ตลาดแรงงานไทยในต่างประเทศขยายตัวต่อเนื่อง มีแรงงานไทยเดินทางไปทำงานต่างประเทศ มากถึง 113,186 คน และส่งเงินกลับเข้าประเทศผ่านระบบธนาคารแห่งประเทศไทย มูลค่ารวมกว่า 299,077 ล้านบาท ถือเป็นส่วนสำคัญในการสนับสนุนการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศ
ขณะเดียวกันกระทรวงแรงงานตั้งเป้าหมายจัดส่งแรงงานไทยไปทำงานต่างประเทศ ในปีงบประมาณ 2566 จำนวน 50,000 คน โดยรักษาตลาดแรงงานเดิมที่มีศักยภาพ อาทิ ภาคการเกษตรในรัฐอิสราเอล ภาคอุตสาหกรรมในญี่ปุ่น และภาคก่อสร้าง อุตสาหกรรม และการเกษตรในสาธารณรัฐเกาหลี ควบคู่ไปกับการขยายตลาดแรงงานใหม่ที่มีแนวโน้มความต้องการแรงงานไทย
นอกจากนี้แรงงานไทยเป็นแรงงานที่มีคุณภาพ มีทักษะฝีมือดี ขยันทำงาน อดทน และเรียนรู้ได้รวดเร็ว ทำให้เป็นที่ต้องการของตลาดแรงงานในต่างประเทศ โดยกระทรวงแรงงาน มีการอนุญาตให้แรงงานไทยเดินทางไปทำงานต่างประเทศ ในปี 2565 จำนวน 88,164 คน และปี 2566 (เดือนมกราคม - มีนาคม) จำนวน 25,022 คน โดยตลาดที่เป็นที่นิยมของแรงงานไทยมากที่สุด 5 ลำดับแรก ได้แก่ ไต้หวัน สาธารณรัฐเกาหลี รัฐอิสราเอล ญี่ปุ่น และมาเลเซีย
นายอนุชา กล่าวต่อว่า รัฐบาลได้สร้างความร่วมมือด้านแรงงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในหลายประเทศ เพื่อจัดหาตลาดที่มีศักยภาพรองรับแรงงานไทย รวมถึงฝึกอบรมเพิ่มทักษะแรงงานไทยให้มีคุณสมบัติตรงตามความต้องการของตลาด ซึ่งจะช่วยเพิ่มโอกาสการจ้างงาน สร้างรายได้ให้กับแรงงานไทย และกระตุ้นเศรษฐกิจ ซึ่งแรงงานไทยในต่างประเทศถือเป็นอีกหนึ่งกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ และมีส่วนสำคัญในการพัฒนาวิถีชีวิตคนไทย
“นายกรัฐมนตรีให้ความสำคัญและมีนโยบายสนับสนุนให้แรงงานไทยเดินทางไปทำงานในต่างประเทศอย่างถูกต้องตามกฎหมาย เพื่อได้รับการคุ้มครองตามกฎหมาย และปกป้องดูแลแรงงานไทยได้ตามสิทธิ รวมถึงได้รับค่าจ้างที่เหมาะสม”