นายไพโรจน์ โชติกเสถียร อธิบดีกรมการจัดหางาน กระทรวงแรงงาน กล่าวในเวทีเสวนา หัวข้อ " Go Thailand ทัพธุรกิจไทยตะลุยซาอุฯ" ในรายการสัมมนาออนไลน์ "The Big Issue 2022:ประวัติศาสตร์หน้าใหม่ไทย-ซาอุฯ" จัดโดยฐานดิจิทัล ว่า เมื่อกว่า 32 ปีก่อน ซาอุดีอาระเบีย เป็นตลาดหลักของแรงงานไทยที่ประสงค์ไปทำงานต่างประเทศ โดยเวลานั้นซาอุฯต้องการแรงงานพื้นฐานเพื่อไปเป็นกรรมกรในงานก่อสร้างต่าง ๆ ต่อมาในช่วงที่ไทยไม่ได้เข้าไปทำงานในซาอุฯ แรงงานต่างชาติที่เข้าไปทำงานทดแทนส่วนใหญ่มาจากเอเซียใต้ เข่น บังคลาเทศ อินเดีย ปากีสถาน รวมถึงฟิลิปปินส์
เมื่อไทย-ซาอุฯกลับมาเปิดสัมพันธ์ มีการเปิดตลาดแรงงานใหม่ ก็พบว่าถ้าเป็นแรงงานพื้นฐานไร้ทักษะ เป็นตำแหน่งงานที่จะได้ผลตอบแทนใกล้เคียงกับแรงงานจากเอเซียใต้ ที่เข้าไปทำอยู่ในซาอุฯเวลานี้ ที่ระดับ 1.4-1.5 หมื่นบาทต่อเดือน ซึ่งไม่ต่างจากจากผลตอบแทนในไทยนัก ทางรัฐบาลและกระทรวงแรงงานเห็นว่า ถ้าเป็นตลาดแรงงานกลุ่มนี้ทำในบ้านเราเองดีกว่า ถ้าจะไปทำงานต่างประเทศควรต้องเน้นกลุ่มแรงงานทักษะฝีมือเป็นหลัก ซึ่งจะได้ผลตอบแทนที่เดือนละ 2.5 หมื่นบาทขึ้นไป
นายไพโรจน์กล่าวอีกว่า นับแต่มีการฟื้นสัมพันธ์ จนถึงปัจจุบันนี้มีนายจ้างในซาอุดีอาระเบีย แจ้งความต้องการแรงงานไทยมายังการจัดหางาน โดยผ่านการรับรองจากสำนักงานแรงงานในกรุงริยาดแล้ว 7 บริษัท รวม 13 ตำแหน่ง 2,161 อัตรา ส่วนมากเป็นตำแหน่งพยาบาล ผู้ช่วยพยาบาล พนักงานขับรถ พนักงานทำความสะอาด และช่างต่าง ๆ อาทิ ช่างเชื่อม ช่างไฟฟ้า
"รัฐมนตรีแรงงานให้นโยบายว่า ในช่วงแรกให้กรมการจัดหางานรับผิดชอบ การจัดส่งแรงงานไทยไปทำงานในซาอุดีอาระเบีย เพื่อดูแลไม่ให้มีค่าใช้จ่ายสูงเกินไปและป้องกันการหลอกลวงแรงงานไทยที่ประสงค์ไปทำงานต่างประเทศ"
นายไพโรจน์กล่าวอีกว่า จากความต้องการแรงงานไทยที่นายจ้างจากซาอุฯแจ้งมา กรมการจัดหางานได้ประกาศรับสมัครผู้สนใจจะไปทำงานกับนายจ้างซาอุฯ 4 บริษัท รวม 714 อัตรา ประกอบด้วย พยาบาลและผู้ช่วยฯ 704 อัตรา ช่างไฟฟ้า ช่างเชื่อม และช่างกลึง ประเภทละ 3 อัตรา เมื่อครบกำหนด 4 ก.ค.2565 มีผู้สมัคร 60 คน เป็นตำแหน่งพยาบาลและผู้ช่วย 45 คน และช่างต่าง 15 คน
ซึ่งได้แจ้งรายชื่อผู้สมัครกลับไปให้นายจ้างซาอุฯแล้ว จะเริ่มสัมภาษณ์ผู้สมัครทำงานช่างในวันที่ 9 ส.ค.นี้ หากผ่านการพิจารณาของนายจ้างและแจ้งชื่อกลับมา ทางกรมฯจะได้นัดหมายเพื่อจัดส่งแรงงานไทยชุดแรกที่จะกลับไปทำงานในซาอุฯโดยเร็วที่สุด โดยหากเป็นไปได้ท่านรัฐมนตรีแรงงานจะไปส่งด้วยตนเอง
อธิบดีกรมการจัดหางานกล่าวอีกว่า แม้ช่วงแรกกรมจะเป็นผู้รับผิดชอบจัดส่งแรงงานไทยไปงานซาอุฯ แต่ก็ไม่ได้ปิดกั้นบริษัทจัดหารงานเอกชน โดยสามารถดำเนินการควบคู่กันไป เพื่อจุดมุ่งหมายเดียวกัน คือ การส่งเสริมให้คนไทยมีงานทำโดยเฉพาะการไปทำงานในต่างประเทศ
"จากการประชุมทางด้านเทคนิคระหว่างสองประเทศหลายครั้ง พบว่าทางการซาอุฯ ได้แจ้งในที่ประชุมว่า การจัดหาแรงงานต่างชาติของประเทศซาอุฯ จะดำเนินการโดยบริษัทจัดหางานเท่านั้น โดยไม่มีช่องทางของภาครัฐจัดส่ง ดังนั้น คาดว่าการจัดส่งแรงงานไทยไปทำงานที่ซาอุฯในอนาคต จะมีเพียงช่องทาง การจัดส่งโดยบริษัทจัดหางานเอกชน"
นายไพโรจน์กล่าวอีกว่า คาดว่าในอนาคตจะมีตำแหน่งงานที่หลากหลายเพิ่มเติมอีก โดยเฉพาะตำแหน่งงานในอุตสาหกรรมบริการ เช่น โรงแรม ร้านอาหาร พนักงานนวดสปา ช่างฝีมือทักษะพิเศษ เช่น ช่างเชื่อมใต้น้ำ ซึ่งมีผลตอบแทนสูงมากเดือนละนับแสนบาท อยู่ระหว่างการจัดหาผู้สนใจ รวมถึงแนวโน้มจาก Saudi Vision 2030 ซาอุฯ จะมีความต้องการแรงงานเป็นจำนวนมาก จากแผนลงทุนโครงการสร้างเมือง Smart City ให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวขนาดใหญ่ บริเวณชายฝั่งทะเลแดง ใกล้กับประเทศอียิปต์และจอร์แดน
สำหรับค่าใช้จ่ายในการไปทำงานในซาอุฯนั้น หากผ่านทางกรมการจัดหางานไม่คิดค่าบริการ จะมีเฉพาะค่าใช้จ่ายจริง คนละประมาณ 31,000 บาท คือ ค่าหนังสือเดินทาง 1,500 บาท ค่าธรรมเนียมวีซ่า 6,000 บาท ค่าตรวจสุขภาพ 2,500 บาท ค่าตั๋วเครื่องบินประมาณ 20,000 บาท และค่าทดสอบฝีมือแรงงาน 1,000 บาท ถ้าผ่านบริษัทจัดหางานเอกชน กำหนดให้เก็บค่าบริการได้ไม่เกิน 1 เท่าเงินเดือนเดือนแรก และค่าใช้จ่ายตามที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 3 เท่าของเงินเดือนเดือนแรก
อธิบดีกรมการจัดหางาน เตือนว่า มีการเชิญชวนคนไปทำงานต่างประเทศเผยแพร่ตามสื่อโซเชี่ยลต่าง ๆ ต้องดูให้ละเอียด และตรวจสอบให้ถี่ถ้วน เพราะบริษัทที่ถูกต้องจะบอกรายละเอียด ทั้งชื่อ ที่อยู่ เบอร์โทรศัพท์ชัดเจน ถ้ามีแต่เบอร์โทรศัพท์อย่างเดียวให้สงสัยไว้ก่อน หรือถ้าชวนไปทำงานพื้นฐานเป็นกรรมกรทั่วไป แต่บอกว่าจะได้เงินเดือนหลาย ๆ หมื่นหรือเป็นแสน ก็ต้องระวัง เพราะเกินจริงและเป็นไปไม่ได้ โดยสามารถตรวจสอบข้อมูลบริษัทจัดหางานได้ที่สำนักงานแรงงานทั่วประเทศ หรือสายด่วนกระทรวงแรงงาน 1506 กด 2 หรือที่เว็บไซต์ https://www.doe.go.th/overseas