สรรพสามิตรื้อใหญ่ เดินหน้าปรับภาษีทั้งระบบ

18 เม.ย. 2566 | 11:23 น.
อัปเดตล่าสุด :18 เม.ย. 2566 | 11:24 น.

สรรพสามิตรื้อโครงสร้างภาษีทั้งระบบ รับนวัตกรรมสินค้าใหม่ สร้างความเท่าเทียม ดึงเครื่องทำโซดา-เบียร์ 0% เข้าพิกัดอัตราภาษีถูกต้อง ชะลอศึกษาบุหรี่ไฟฟ้าเหตุยังเป็นสินค้าไม่ถูกกฎหมาย ชะงักภาษีความเค็มเพราะโควิด

นายเกรียงไกร พัฒนาภรณ์ รองอธิบดีกรมสรรพสามิต ในฐานะโฆษกกรมสรรพสามิตเปิดเผยว่า กรมสรรพสามิตจะมีการตั้งคณะกรรมการพิจารณาโครงสร้างภาษีสรรพสามิต เพื่อปรับปรุงแผนเก็บภาษีในส่วนของกรมทั้งระบบ โดยจะมีการคำนึงถึงการส่งเสริมสิ่งแวดล้อมด้วย หลังจากที่กรมสรรพสามิตมีการปฏิรูปโครงการสร้างภาษีตั้งแต่ปี 2560 แต่ยังมีความไม่ชัดเจนในเรื่องข้อกฎหมาย และนวัตกรรมของสินค้าที่มีการพัฒนา การปรับรูปแบบใหม่ๆเกิดขึ้น ฉะนั้น จะต้องมีการทบทวนโครงสร้างภาษีเพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน

สำหรับนวัตกรรมใหม่ที่เกิดขึ้น เช่น เครื่องทำโซดาที่สามารถกดเองได้ ซึ่งเป็นเรื่องที่ควรจะเสียภาษี แต่เนื่องจากยังมีความคลุมเครือของกฎหมาย จึงยังไม่โดนคิดอัตราภาษี เป็นต้น ซึ่งในส่วนนี้จะทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำกับผู้ที่อยู่ในระบบการจ่ายภาษี ฉะนั้น จึงจะต้องมีการทบทวนกฎหมายโครงสร้างภาษีเพื่อให้เกิดความเท่าเทียมกัน

ขณะที่เบียร์ 0% นั้น ปัจจุบันกรมสรรพสามิตเก็บภาษีในพิกัดของอัตราภาษีเครื่องดื่ม คิดอัตราภาษี 11% ต่อราคาขายปลีก แต่แอลกอฮอล์นั้น กรมคิดอัตราภาษีตามดีกรี และราคา เป็นต้น

ทั้งนี้ ภาษีเครื่องดื่มยังมีพิกัดอัตราภาษีที่หลากหลาย ได้แก่ โซดา คิดอัตราภาษี 14% เครื่องดื่มผลไม้ พืชผัก คิดอัตราภาษี 10% แต่หากผู้ประกอบการมีการปรับสูตรตามที่กรมกำหนดก็จะคิดอัตราภาษี 0% ส่วนเครื่องดื่มบำรุงกำลัง น้ำอัดลม คิดอัตราภาษี 14% และเครื่องดื่มเติมสารอาหาร คิดอัตราภาษี 3-10% เป็นต้น ก็จะมีการพิจารณาอีกครั้ง

 ส่วนภาษีบุหรี่จะต้องพิจารณาอีกครั้งว่าผลจากการใช้โครงสร้างภาษี 2 อัตราเป็นอย่างไร ยังมีประสิทธิภาพพอหรือไม่ ตามนโยบายที่ต้องการตอบโจทย์ 4 ด้าน ได้แก่ ด้านสุขภาพ ปราบปรามบุหรี่เถื่อน การจัดเก็บรายได้ของกรม และไม่กระทบเกษตรกรผู้ปลูกใบยา และจะต้องมาศึกษาอีกครั้งว่า หรือจะใช้ในรูปแบบของอัตราเดียว ซึ่งคณะรัฐมนตรี (ครม.) ก็ได้มีมติให้กรมกลับมาศึกษาต่อว่าควรจะเป็นอัตราเดียวหรือไม่

 ด้านบุหรี่ไฟฟ้านั้น กรมเคยมีแนวคิดที่จะทำการศึกษาเพื่อเพิ่มเข้าสู่พิกัดสินค้าอยู่ในการควบคุมของกรม อย่างไรก็ตาม บุหรี่ไฟฟ้ายังเป็นสินค้าต้องห้ามในประเทศไทย เนื่องจากยังไม่ถูกกฎหมาย หากนำเข้ามาในพิกัดสินค้าของกรมก็จะขัดกับนโยบาย ฉะนั้น กรมจึงชะลอการศึกษาเรื่องนี้ออกไปก่อน เช่นเดียวกันกับแผนการเก็บภาษีความเค็ม กรมก็ได้มีการศึกษาไว้แล้วในช่วงก่อนโควิด แต่เมื่อการแพร่ระบาดโควิดเข้ามา จึงทำให้กรมชะลอการเดินหน้าในเรื่องนี้ออกไปก่อน

 ทั้งนี้ ในส่วนของภาษีความหวานนั้น ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2566- 31 มีนาคม 2568 กรมได้ปรับขึ้นอัตราภาษีความหวาน ระยะที่ 3 ได้แก่ ปริมาณน้ำตาล 6-8 กรัม คิดอัตราภาษี 0.3 บาทต่อลิตร ปริมาณน้ำตาล 8-10 กรัม คิดอัตราภาษี 1 บาทต่อลิตร ปริมาณน้ำตาล 10-14 กรัม คิดอัตราภาษี 3 บาทต่อลิตร ปริมาณน้ำตาล 14-18 กรัม คิดอัตราภาษี 5 บาทต่อลิตร และปริมาณน้ำตาล ตั้งแต่ 18 กรัม คิดอัตราภาษี 5 บาทต่อลิตร

 แหล่งข่าวจากกระทรวงการคลังกล่าวว่า เพื่อสนับสนุนการส่งเสริมสิ่งแวดล้อม กรมสรรพสามิตยังได้ศึกษาแนวทางการปรับโครงสร้างภาษีแบตเตอรี่ เพื่อให้สอดรับกับนโยบายส่งเสริมการใช้รถยนต์ไฟฟ้าในอนาคต เนื่องจากประเมินว่าหากในอนาคตมีการใช้รถยนต์ไฟฟ้าอย่างแพร่หลาย ซึ่งอายุการใช้งานแบตเตอรี่เฉลี่ย 8-10 ปี จะส่งผลให้เป็นขยะภายในประเทศ

 ดังนั้น กรมจึงได้ศึกษามาตรการสนับสนุนภาษีแบตเตอรี่ หากผู้ประกอบการมีระบบการผลิต ไปจนถึงการกำจัด หรือนำมารีไซเคิลแบตเตอรี่ที่หมดอายุได้ จะได้รับการยกเว้นภาษีตามมาตรการต่อไป จากเดิมที่กรมสรรพสามิตคิดอัตราภาษีแบตเตอรี่อยู่ที่ 8% ของมูลค่า

 ทั้งนี้ มาตรการดังกล่าวดำเนินการเสร็จเรียบร้อยแล้ว และกรมสรรพสามิตได้เสนอให้คณะกรรมการนโยบายยานยนต์ไฟฟ้าแห่งชาติ (บอร์ดอีวี) เห็นชอบแล้ว เดิมบอร์ดอีวีจะเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบในวันที่ 14 มีนาคม 2566 ก่อนรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ประกาศยุบสภา แต่เนื่องจากดำเนินการไม่ทัน จึงคาดว่าจะมีการเสนอมาตรการอีกครั้ง หลังจากรัฐบาลชุดใหม่เข้ามา

 กรมสรรพสามิตได้ปรับโครงสร้างภาษีสรรพสามิตครั้งใหญ่เมื่อปี 2560 เพื่อสร้างความเป็นธรรม สร้างความโปร่งใส มีความเป็นสากลและมีประสิทธิภาพ โดยได้รวมกฎหมายที่มีทั้งหมด 7 ฉบับในอดีตที่เกี่ยวข้องกับภาษีสรรพสามิตเดิมไว้ในพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ภาษีสรรพสามิต พ.ศ.2560 ฉบับเดียว และยังมีการเปลี่ยนมาใช้ราคาขายปลีกแนะนำ ซึ่งถือเป็นราคาขั้นสุดท้ายที่ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมและผู้นำเข้าต้องการให้เป็นราคาขายให้ผู้บริโภคทั่วไปมาเป็นฐานในการคำนวณภาษีอีกด้วย

 นอกจากนั้น ยังมีการปรับปรุงวิธีการเสียภาษีจากเดิมที่กำหนดให้ “เสียภาษีในอัตราตามมูลค่าหรือ ตามปริมาณแล้วแต่อัตราใดจะคิดเป็นเงินสูงกว่า”เป็นให้ “เสียภาษีทั้งอัตราตามมูลค่าและตามปริมาณ” มีการปรับปรุงอัตราภาษีให้สอดคล้องกับการปรับฐานภาษีใหม่ โดยให้มีผลกระทบหรือสร้างภาระต่อผู้เสียภาษีน้อยที่สุด และยังมีการออกกฎกระทรวงกำหนดพิกัดอัตราภาษีสรรพสามิต สำหรับสินค้าที่ไม่มีความคุ้มค่าในการจัดเก็บภาษีเช่น สินค้าเครื่องไฟฟ้า สินค้าแก้วและเครื่องแก้ว สินค้าพรมและสิ่งทอปูพื้นอื่น จัดเก็บภาษี 0%

 ขณะเดียวกันยังมีการจัดเก็บภาษีสินค้าและบริการที่มีผลเสียต่อสุขภาพและ ศีลธรรมอันดีของประชาชนเช่น เครื่องดื่มที่มีความหวาน สุราและยาสูบ โดยภาษีความหวาน ช่วงเริ่มต้นของการบังคับใช้ มีการแบ่งระดับการจัดเก็บภาษีไว้ เพื่อให้ผู้ประกอบการปรับตัว รวมถึงภาษียาสูบเองก็แบ่งเป็น 2 ระดับจนก่อให้เกิดผลกระทบกับผู้ประกอบการ

   สำหรับการจัดเก็บรายได้ของกรมสรรพสามิตช่วง 5 เดือนแรกปีงบประมาณ 2566 พบว่า จัดเก็บได้ทั้งสิ้น 198,177 ล้านบาทต่ำกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อน 32,875 ล้านบาทหรือ 14.2% ที่จัดเก็บได้ 231,052 ล้านบาท และยังต่ำกว่าเอกสารงบประมาณ 33,587 ล้านบาท หรือ 14.5% โดยสาเหตุหลักจากการปรับลดอัตราภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซลเพื่อบรรเทาผลกระทบต่อค่าครองชีพของประชาชนเป็นการชั่วคราวจากราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกที่ทรงตัวอยู่ในระดับสูง

 อย่างไรก็ตาม การจัดเก็บรายไดรัฐบาลสุทธิในช่วง 5 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2566 รัฐบาลจัดเก็บรายได้สุทธิ 989,837 ล้านบาท สูงกว่าประมาณการตามเอกสารงบประมาณ 90,451 ล้านบาทหรือ 10.1% และสูงกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อน 7.8% โดยหน่วยงานที่จัดเก็บได้สูงกว่าประมาณการที่สำคัญคือ กรมสรรพากร โดยเฉพาะการจัดเก็บภาษีเงินได้นิติบุคคล ภาษีมูลค่าเพิ่มและภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาที่ขยายตัวได้ดีตามเศรษฐกิจ

 ขณะที่หน่วยงานอื่นจัดเก็บรายได้สูงกว่าช่วงเดียวกันปีก่อน 35,829 ล้านบาท เนื่องจากมีรายได้พิเศษจากการนำส่งทุนหรือผลกำไรส่วนเกินของทุนหมุนเวียน รายได้จากสัมปทานโทรศัพท์เคลื่อนที่และรายได้จากการประมูลใบอนุญาตคลื่นความถี่วิทยุระบบ FM และรัฐวิสาหกิจมีการนำส่งรายได้เหลื่อมจากปีงบประมาณก่อนหน้า และกรมศุลกากรมีรายได้เพิ่มขึ้น ตามมูลค่าการนำเข้าที่ขยายตัวได้ดีีประกอบกับมีการชำระอากรขาเข้าย้อนหลังตามคำพิพากษาคดี

หน้า 1 หนังสือพิมพ์ฐานเศราฐกิจ ปีที่ 43 ฉบับที่ 3,878 วันที่ 13 - 15 เมษายน พ.ศ. 2566