เมื่อเร็ว ๆ นี้ที่ห้องประชุมโกมาซุม ชั้น 2 ศาลากลางจังหวัดระนอง นายศักระ กปิลกาญจน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดระนอง ประธานการประชุมหารือ เพื่อเตรียมการจัดกระบวนการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน และผู้มีส่วนได้เสีย โครงการพัฒนาท่าเรือบริเวณแหลมอ่าวอ่าง ตำบลราชกรูด อำเภอเมืองระนอง พร้อมส่วนราชการ ภาคเอกชน ที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุม โดยมีผู้แทนจากสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) และคณะ เข้าร่วมชี้แจงข้อมูลโครงการ
ตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 21 ส.ค. 2561 เห็นชอบกรอบแนวคิดการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้(SEC) ในพื้นที่จังหวัดชุมพร ระนอง สุราษฎร์ธานี และจังหวัดนครศรีธรรมราช ให้เร่งผลักดันแผนงานประกอบด้วย โครงการพัฒนาท่าเรือระนอง โครงการระบบรถไฟทางคู่ และโครงการพัฒนาการท่องเที่ยว เพื่อพลิกโฉมการพัฒนาพื้นที่ภาคใต้ เพื่อขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม กลุ่มจังหวัดภาคใต้ฝั่งอ่าวไทยและฝั่งอันดามัน
ซึ่งสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร(สนข.) ได้เร่งผลักดันโครงการพัฒนาท่าเรือ บริเวณแหลมอ่าวอ่าง เพื่อเชื่อมโยงโครงการพัฒนาท่าเรือบริเวณแหลมริ้ว อ.หลังสวน จ.ชุมพร ระหว่างอ่าวไทยและอันดามัน
สำหรับโครงการพัฒนาท่าเรือบริเวณแหลมอ่าวอ่าง จะมีการก่อสร้างเขื่อนกันคลื่น ความยาว 4,800 เมตร งานถมทะเลขนาด 4,460 ไร่ การก่อสร้างหน้าท่าเทียบเรือยาว 8,500 เมตร ตลอดจนระบบสาธารณูปโภคที่จำเป็นต่าง ๆ บนพื้นที่ถมทะเล
ซึ่งการดำเนินการจะต้องศึกษาความเหมาะสม ออกแบบเบื้องต้น ประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม และวิเคราะห์รูปแบบโมเดลการพัฒนาการลงทุน โดยจะมีชุมชนบริเวณการพัฒนาที่จะได้รับผลกระทบ ประกอบด้วยหมู่ที่ 7 และ 8 ต.ราชกรูด และหมู่ที่ 1 ต.เกาะพยาม อ.เมืองระนอง หมู่ที่ 2 และ 4 ต.ม่วงกลวง อ.กะเปอร์ จ.ระนอง
ในการศึกษาความเหมาะสมจะครอบคลุม 4 ด้าน คือ ด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมทางกายภาพ ด้านทรัพยากรสิ่งแวดล้อมทางชีวภาพ ด้านคุณค่าต่อการใช้ประโยชน์ของมนุษย์ และด้านคุณค่าต่อคุณภาพชีวิต
สำหรับการเปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนจังหวัดระนอง และออกพบปะผู้นำชุมชน ประชาชนในพื้นที่ โดยได้กำหนดไว้จำนวน 3 ครั้ง คือ ครั้งที่ 1 เดือนพฤษภาคม 2566 ครั้งที่ 2 เดือนกันยายน-พฤศจิกายน 2566 และ ครั้งที่ 3 เดือนมีนาคม 2567
ทั้งนี้เมื่อโครงการฯ แล้วเสร็จ จะทำให้ประเทศไทยเป็นจุดศูนย์กลางของภูมิภาค เป็นประตูในการขนส่งและแลกเปลี่ยนสินค้าของประเทศในภูมิภาค ลดเวลาและระยะทางการขนส่ง จากเดิมที่ต้องผ่านช่องแคบมะละกา หลีกเลี่ยงปัญหาการติดขัดช่องแคบมะละกา และมีแนวโน้มการจูงใจผู้ประกอบการขนส่งและนักลงทุน ให้ใช้ประโยชน์จากเส้นทางนี้มากขึ้น