จากสถานการณ์ "ค่าไฟแพง" ทำให้ประชาชน และผู้ประกอบการ ที่ได้รับผลกระทบ ต่างออกมาตั้งคำถามถึงสาเหตุของค่าไฟ ที่พุ่งสูงขึ้นหลายเท่าตัว กระทั่ง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ได้สั่งการให้กระทรวงพลังงาน ออกมาชี้แจงต่อประชาชนอย่างเร่งด่วนนั้น
ล่าสุด นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ได้เปิดเผยถึง โครงสร้างค่าไฟฟ้าว่า โครงสร้างค่าไฟฟ้า ปี 2555 รัฐบาลในขณะนั้นได้ปรับปรุงแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้าของไทย หรือ Power Development Plan (PDP) ฉบับปี 2010 โดยได้ประมาณการความต้องการไฟฟ้าใหม่ตามแผนการกระตุ้นเศรษฐกิจและผลกระทบจากอุทกภัยปี 2554 ส่งผลให้อัตราการขยายตัวของ GDP ไทย ขึ้นมาอยู่ในระดับร้อยละ 4 – 5 ตั้งแต่ปี 2555 – 2569
รัฐบาลในขณะนั้นจึงได้เพิ่มโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ (ก๊าซธรรมชาติ) เข้าไปในแผน PDP 2010 รวมถึงโครงการผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชน (Independent Power Producer: IPP) 5,400 MW โดยจ่ายไฟเข้าระบบ ระหว่างปี 2564 – 2569 ปีละ 900 MW เพื่อให้รองรับความต้องการที่จะเพิ่มขึ้นในอีก 10 - 20 ปีข้างหน้า ภายใต้ประมาณการว่าการสำรอง (Reserve) ซึ่งจะอยู่ที่ประมาณร้อยละ 15 - 24
เดือนพฤษภาคม 2557 ในยุค รัฐบาล พลเอกประยุทธ์ ได้ทบทวนโครงการโรงไฟฟ้า IPP 5,400 MWแล้ว แต่ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงโครงการที่มีการลงนามผูกพันไปแล้วได้ จึงได้สั่งการให้ทบทวนแผน PDP ใหม่อีกครั้ง และได้จัดทำแผน PDP ฉบับใหม่ขึ้น โดยฉบับล่าสุดคือ แผน PDP 2018 (ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 1) เมื่อปี 2563 โดยพบปัญหาของแผน PDP
3 ปัญหา ของแผน PDP
1. อัตราความต้องการใช้พลังงานไม่ได้เป็นไปตามที่รัฐบาลก่อนหน้านี้ได้ประมาณการไว้ ซึ่งทำให้ Reserve Margin % ณ ปี 2558 ที่เคยคาดว่าจะอยู่ที่ประมาณร้อยละ 15 กลายเป็นร้อยละ 30 และคาดว่าจะเพิ่มสูงขึ้นต่อเนื่องในอนาคต
2. โรงไฟฟ้าที่อนุมัติไปทั้งหมดก่อนหน้านี้ รัฐบาลต้องจ่ายค่าความพร้อม หรือ Availability Payment (AP) โดยกำหนดในสัญญาซื้อขายไฟฟ้าอย่างชัดเจน และเป็นสัญญาระยะยาว
3. แผนจัดหาแหล่งพลังงานสะอาดและพลังงานน้ำมีจำกัด และมีการเพิ่มพลังงานจาก fossil ซึ่งไม่สอดคล้องกับแนวทางของโลกที่มุ่งไปสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน
นายอนุชา ได้กล่าวถึงช่วงสถานการณ์โควิด-19 ระหว่างปี 2563 – 2565 ทำให้ความต้องการใช้ไฟฟ้าลดลงกว่าที่ประมาณการไว้ แต่การพัฒนาโครงการโรงไฟฟ้าต่าง ๆ ตาม แผน PDP ได้ผูกมัดไว้หมดแล้ว ทำให้ประเทศไทยมี POWER SUPPLY ตามแผน แต่ POWER DEMAND ต่ำกว่าแผน ส่งผลให้ RESERVE MARGIN ยังสูงอยู่ และส่วนหนึ่งมีผลกระทบต่อค่าไฟในภาพรวม
อีกทั้ง ในช่วงปลายปี 2564 – ปัจจุบัน ได้เกิดวิกฤตพลังงานจากสงครามรัสเซีย-ยูเครน ทำให้ราคาพลังงานที่ใช้เป็นเชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้าได้เพิ่มสูงขึ้นกว่าช่วงเวลาปกติอย่างมาก ส่งผลให้ค่าไฟในส่วนของค่าเชื้อเพลิงเพิ่มขึ้น สะท้อนในค่า Ft ซึ่งเป็นปัจจัยที่อยู่เหนือการควบคุมของรัฐบาล
ทั้งนี้ หากดำเนินการตามแผน PDP 2018 จะส่งผลให้สัดส่วนกำลังการผลิตของโรงไฟฟ้า IPP ก๊าซธรรมชาติ ตั้งแต่ปี 2570 ลดลงอย่างต่อเนื่อง จากร้อยละ 28 ในปี 2569 เหลือร้อยละ 14 ในปี 2580 เป็นการวางแผนลดปริมาณการรับซื้อไฟจากโรงไฟฟ้าเอกชนขนาดใหญ่ ซึ่งมีผลต่อค่าไฟระยะยาว