เกียรติ สิทธีอมร ชำแหละระบบคิดค่าไฟฟ้า ที่มานโยบายปชป.ยกเลิกค่า FT

21 เม.ย. 2566 | 01:58 น.
อัปเดตล่าสุด :25 เม.ย. 2566 | 10:04 น.

"เกียรติ สิทธีอมร" ประธานคณะกรรมการต่างประเทศ พรรคประชาธิปัตย์ ผ่าระบบคิดค่าไฟฟ้า ทำคนไทยแบกรับค่าไฟฟ้าแพง ชี้ค่าFT ไม่จำเป็น ย้ำต้องลดต้นทุนการผลิตไฟฟ้า เกลี่ยราคาก๊าซให้ถูกลง

นายเกียรติ สิทธีอมร ประธานคณะกรรมการต่างประเทศ พรรคประชาธิปัตย์ เปิดเผยกับ ฐานเศรษฐกิจ ถึงแนวคิดพรรคประชาธิปัตย์ที่จะยกเลิกค่า FT ว่า เนื่องจากระบบการผลิตไฟฟ้า และวิธีคิดค่าไฟฟ้า เป็นสาเหตุทำคนไทยแบกรับค่าไฟฟ้าราคาแพงในหน้าร้อนว่า การตอบว่าค่าไฟฟ้าแพงเนื่องจากคนใช้ไฟฟ้าเยอะขึ้น ในหน้าร้อน ถือว่าเป็นคำตอบที่ใช้ไม่ได้ เพราะตามข้อเท็จจริงมีการใช้ไฟฟ้าเท่าเดิม แต่ค่าไฟเพิ่มขึ้นเกือบ 40% ซึ่งวิธีการแก้ปัญหาค่าไฟฟ้าแพงต้องรื้อทั้งระบบ 

วิธีคิดค่าเอฟทีนั้น ทั่วโลกมีแค่เฉพาะในประเทศไทย ที่มีการคิดค่าเอฟที จาการเรียกตัวแทนจากกระทรวงพลังงานมาชี้แจงที่คณะกรรมาธิการ เกี่ยวกับการคิดค่าเอฟทีในประเทศต่าง ปรากฏว่าไม่มีคำตอบว่ามีประเทศใดคิดค่าเอฟที จึงได้ทำการหาข้อมูลเพิ่มเติม พบว่ามีลักษณะการเก็บที่ใกล้เคียงค่าเอฟทีของประเทศไทยอยู่เพียง 2-3 แห่งเท่านั้น

ข้อเสียของระบบค่าเอฟทีนั้น คือการมโน หรือ คาดการณ์ถึงความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นไปล่วงหน้า 4 เดือน แล้วเรียกเก็บกับผู้ใช้ไฟฟ้าตั้งแต่วันนี้ ซึ่งถือเป็นหลักคิดที่ไม่มีจำเป็นใดๆ ทั้งยังเป็นช่องโหว่ ให้เกิดการบิดเบือน ให้ผู้ใช้ไฟฟ้าจ่ายค่าไฟฟ้า สูงกว่าที่ควรจะจ่าย

วิธีแก้ปัญหาค่าไฟฟ้าแพงนั้น สามารถทำได้โดยง่ายด้วยการดูปริมาณการใช้ไฟฟ้าย้อนหลัง 4 เดือนหลังเพื่อการคิดคำนวณค่าไฟฟ้าในอีก 4เดือนข้างหน้า และใช้ระบบกองทุนเพื่อรองรับการผันผวนที่อาจจะเกิดขึ้น

อีกปัจจัยที่ทำให้ค่าไฟฟ้ามีราคาแพง เนื่องจาก ต้นทางของการผลิตกระแสไฟฟ้ามีราคาแพงเกินเหตุ ทั้งราคาก๊าซ และน้ำมัน เพราะไม่มีการเกลี่ยต้นทุนที่เรามีในประเทศ ทั้งที่ประเทศไทยเองมีแหล่งก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทย ที่มีราคาเพียง 3 บาท ต่อกิโลกรัม แต่กลับนำเข้าก๊าซจากต่างประเทศ ที่มีราคากว่า 10 บาท ต่อกิโลกรัม 

ทุกครั้งที่เข้าสภา ตนตั้งคำถามเสมอว่าเหตุใด ไม่มีการเกลี่ยค่าก๊าซธรรมชาติ และเหตุใดค่าผ่านท่อจึงมีราคาแพง คำตอบจากคณะกรรมการกำกับดูแลกิจการพลังงาน ส่งเป็นหนังสือว่า เนื่องจากบริษัท ปตท. แม้จะเป็นบริษัทมหาชน แต่ไม่ได้มีการแยกบัญชี จึงยังอยู่ระหว่างการดำเนินการ ซึ่งถือเป็นคำตอบที่ใช้ไม่ได้

ก๊าซที่เป็นต้นทุนในการผลิตไฟฟ้าของโรงไฟฟ้า มีราคาเกิน 10 บาท ต่อกิโลกรัม จึงเป็นข้อสังเกตว่า เหตุใดไม่มีการเกลี่ยราคาก๊าซที่ผลิตได้ภายในประเทศ และใครเป็นผู้ได้ใช้ก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทย ที่มีราคาเพียง 3 บาท ต่อกิโลกรัม ในขณะที่ปั๊มขายก๊าซธรรมชาติ มีราคาขายที่บวกค่าการตลาดอยู่ที่ 4 บาท ต่อกิโลกรัม ทั้งที่เอกชนสามารถทำได้ที่ 2 บาท จะเห็นได้ว่า ยังมีช่องว่างอีกมากที่ต้องดำเนินการแก้ไข เพื่อไม่ให้ประชาชนถูกเอาเปรียบ เพื่อไม่ให้เป็นการเอื้อต่อกลุ่มทุน

ผลกระทบจากการที่ก๊าซแพง น้ำมันแพง ค่าไฟฟ้าแพง ขนส่งแพง ข้าวของแพง สิ่งเหล่านี้สร้างผลกระทบเป็นโดมิโน่ จึงต้องแก้ที่ต้นทาง ซึ่งต้องใช้ความกล้าในการรื้อระบบ แต่เนื่องจากเคยดำเนินการมาแล้วจึงไม่ใช่เรื่องยากเกินไป โดยเป็นอำนาจของกระทรวงการคลัง และกระทรวงพลังงาน

รัฐวิสาหกิจ เป็นเจ้าของโดยรัฐมากกว่า 50% ฉะนั้น หากบอร์ดไม่ตอบสนองนโยบายรัฐ จึงเป็นอำนาจของรัฐบาลที่สามารถเปลี่ยนบอร์ดได้ โดยไม่ต้องมีความกังวลใดๆเนื่องจากเป็นการทำประโยชน์เพื่อประชาชน การดูแลเรื่องค่าไฟฟ้าไม่ใช่ความผิดของบริษัท แต่เป็นความรับผิดชอบของระดับกำกับนโยบายที่จะต้องทำให้ดีกว่านี้