นายทศพล ทังสุบุตร อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ เผยว่า ธุรกิจโลจิสติกส์ ถือเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมเป้าหมายการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษของประเทศ เป็นกลไกขับเคลื่อนเศรษฐกิจตามนโยบายการพัฒนาในเชิงพื้นที่ของรัฐบาล การพัฒนาผู้ให้บริการโลจิสติกส์ไทยให้มีระบบการบริหารจัดการที่มีคุณภาพด้วยการยกระดับผู้ให้บริการโลจิสติกส์ไทยเข้าสู่มาตรฐานสากลจะช่วยสร้างความน่าเชื่อถือให้ธุรกิจเป็นที่ยอมรับทั้งในและต่างประเทศ รวมถึงช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มและเพิ่มขีดความสามารถของภาคธุรกิจในระดับสากล
กรมฯ มีบทบาทในการส่งเสริมพัฒนาธุรกิจ SMEs ของไทยให้มีความเข้มแข็ง โดยเฉพาะผู้ให้บริการโลจิสติกส์ไทย โดยตระหนักถึงความจำเป็นในการส่งเสริมธุรกิจให้มีการบริหารจัดการอย่างเป็นระบบรวมถึงประยุกต์ใช้ระบบดิจิทัลกับการบริหารธุรกิจ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ ลดต้นทุน และสร้างการเติบโตอย่างยั่งยืน
เพื่อยกระดับศักยภาพธุรกิจให้บริการโลจิสติกส์ไทยให้มีระบบการบริหารจัดการที่มีประสิทธิภาพตามมาตรฐานสากล กรมฯ ได้จัดกิจกรรมยกระดับความเชื่อมั่นธุรกิจให้บริการโลจิสติกส์ด้วยมาตรฐานสากล เพื่อเสริมสร้างองค์ความรู้เกี่ยวกับข้อกำหนดของระบบบริหารคุณภาพและพัฒนาธุรกิจให้ผ่านการรับรองมาตรฐาน ISO 9001 โดยในปีนี้มีผู้ประกอบธุรกิจให้บริการโลจิสติกส์ผ่านการคัดเลือก จำนวน 35 ราย
ธุรกิจที่ผ่านการคัดเลือกจะได้รับการพัฒนาเพื่อให้ผ่านการรับรองมาตรฐาน ISO 9001 ประกอบด้วย 1. การให้ความรู้ถึงข้อกำหนดของระบบบริหารคุณภาพและขั้นตอนในการพัฒนาสู่มาตรฐาน ISO 9001 2. ผู้เชี่ยวชาญระบบการบริหารจัดการตามแนวทางมาตรฐาน ISO 9001 (ด้านระบบบริหารงานคุณภาพ) ให้คำปรึกษาแนะนำปฏิบัติการเชิงลึก (Coaching) เพื่อวางแผนปรับปรุงระบบการบริหารจัดการภายในองค์กร 3. ตรวจประเมินระบบมาตรฐานสากล ISO 9001 : 2015 จากหน่วยงานรับรองระบบ (Certified Body : CB)
และการประเมินโดยหน่วยรับรอง (Certification Body : CB) SCK Certifications Private Limited ประเทศอินเดีย ที่ได้รับอนุญาตและขึ้นทะเบียนกับสถาบันมาตรฐานระดับชาติหรือนานาชาติ (Accreditation Body : AB & International Accreditation Forum: IAF) ภายใต้ Accreditation Body : IAS (International Accreditation Service) ประเทศสหรัฐอเมริกา
“ธุรกิจให้บริการโลจิสติกส์เป็นรากฐานที่สำคัญในการพัฒนาศักยภาพทางเศรษฐกิจ และเป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาที่ยั่งยืนของประเทศ ดังนั้น ผู้ให้บริการโลจิสติกส์ไทยจำเป็นต้องปรับตัวและเปลี่ยนวิธีคิดใหม่ ปรับรูปแบบธุรกิจให้ทันสมัยสอดคล้องต่อการเปลี่ยนแปลงของแนวโน้มธุรกิจ โดยนำเทคโนโลยี นวัตกรรม และข้อมูลสารสนเทศเข้ามาช่วยในการวิเคราะห์ การบริหารจัดการธุรกิจ เพื่อเพิ่มศักยภาพในการดำเนินธุรกิจให้สามารถแข่งขันได้ ทั้งนี้ การได้รับการรับรองมาตรฐาน ISO จะเป็นประโยชน์ต่อภาคธุรกิจโดยตรง ช่วยให้องค์กรประหยัดค่าใช้จ่ายในหลายๆ มิติ เช่น พลังงาน ต้นทุน ฯลฯ ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพ เพิ่มความน่าเชื่อถือ ทั้งพันธมิตรทางธุรกิจและลูกค้า อีกทั้งยังช่วยเพิ่มประสิทธิภาพของพนักงาน ลดความเสียหาย และปรับปรุงความก้าวหน้าในการทำงานจนเป็นที่ยอมรับจากคู่ค้าและพันธมิตรทุกระดับ”