เมื่อเร็ว ๆ นี้ที่ห้องจามจุรี โรงแรมภูเก็ตเมอร์ลิน อำเภอเมือง จังหวัดภูเก็ต ดร.พะโยม ชิณวงศ์ นายกสภาสถาบันการอาชีวศึกษาภาคใต้ 2 เป็นประธานในพิธีเปิดการประชุมวิชาการและนวัตกรรมเทคโนโลยีอาชีวศึกษา ระดับชาติ ปีการศึกษา 2565 โดยมีดร.สุนทร พลรงค์ ผู้อำนวยการสถาบันการอาชีวศึกษาภาคใต้ 2 ผู้บริหารสถาบันการอาชีวศึกษาในสังกัดสถาบันการอาชีวศึกษาภาคใต้ 2 ภาคเอกชนและนักศึกษาเข้าร่วม
ดร.สุนทร พลรงค์ ผู้อำนวยการสถาบันการอาชีวศึกษาภาคใต้ 2 กล่าวว่า สถาบันการอาชีวศึกษาภาคใต้ 2 เป็นสถาบันอุดมศึกษาด้านวิชาชีพและเทคโนโลยี จึงมีหน้าที่หลัก 4 ประการ คือ การจัดการอาชีวศึกษา การวิจัย การบริการวิชาการ และทะนุบำรุงศิลปวัฒนธรรม
โดยเฉพาะด้านการวิจัย สถาบันฯ มีนโยบายส่งเสริมและสนับสนุนการวิจัยของคณาจารย์และนักศึกษา "อย่างเป็นรูปธรรม" อาทิ การรับงานวิจัย สนับสนุนทุนการวิจัย เงินรางวัลวิจัย การนำผลงานวิจัยสู่ชุมชน และการเผยแพร่ผลงานวิจัย โดยจัดให้มีการประชุมวิชาการและนวัตกรรมเทคโนโลยีขึ้นทุกปีการศึกษา
สำหรับปีนี้ได้ใช้ชื่องานว่า "การประชุมวิชาการและนวัตกรรมเทคโนโลยีอาชีวศึกษา ระดับชาติและนานาชาติ ปีการศึกษา 2565" (The 2022 National and International Conference on Vocational Education Innovationand Technology) โดย มี 7 หน่วยงาน ร่วมเป็นเจ้าภาพจัดงาน คือ สถาบันการอาชีวศึกษาภาคใต้ 2 มหาวิทยาลัยนราธิวาสราชนครินทร์ สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล สภาอุตสาหกรรมจังหวัดภูเก็ต สถาบันพัฒนาฝีมือแรงงาน 21 ภูเก็ต มหาวิทยาลัยราชภัฏภูเก็ต และสมาคมโรงแรมไทยภาคใต้
โดยมีวัตถุประสงค์ เพื่อส่งเสริมให้คณาจารย์ นักศึกษา และบุคคลทั่วไป นำเสนอและเผยแพร่ผลงานวิจัย โครงงานพัฒนาสมรรถนะวิชาชีพ สิ่งประดิษฐ์ และนวัตกรรม ในการประชุมวิชาการระดับชาติและนานาชาติและ เพื่อยกระดับผลงานวิจัย โครงงานพัฒนาสมรรถนะวิชาชีพ สิ่งประดิษฐ์ และนวัตกรรม ให้มีคุณภาพได้มาตรฐาน และเพื่อประชาสัมพันธ์ กิจการของสถาบันการอาชีวศึกษาภาคใต้ 2 และหน่วยงานเครือข่ายต่อสาธารณชน
ในการประชุมวิชาการครั้งนี้ มี 2 กิจกรรม ประกอบด้วย 1.การประกวดผลงานวิจัย แบ่งเป็น 2 ระดับ 3 ประเภท มีผลงานระดับนักศึกษาส่งเข้าประกวดทั้งสิ้น 8· ผลงาน ผลงานระดับอาจารย์ และบุคคลทั่วไป จำนวน 8 ผลงาน ดังนี้ ระดับนักศึกษา 1. ผลงานประเภทโปสเตอร์(Poster Presentation) ภาคภาษาไทย จำนวน 80 ผลงาน. ผลงานประเภทโปสเตอร์(Poster Presentation) ภาคภาษาอังกฤษ จำนวน 3 ผลงาน ประเภทบรรยาย (Oral Presentation) จำนวน 18 ผลงาน และ
2.การแสดงผลงานสิ่งประดิษฐ์นวัตกรรม แบ่งออกเป็น 3 ประเภท คือ สิ่งประดิษฐ์ด้านพลังงานและสิ่งแวดล้อม จำนวน 7 ผลงาน สิ่งประดิษฐ์ด้านเทคโนโลยีอาหารและสุขภาพ จำนวน 2 ผลงาน และสิ่งประดิษฐ์ด้านการประกอบอาชีพ จำนวน 24 ผลงาน ระดับอาจารย์และบุคคลทั่วไป มีผลงานประเภทบรรยาย (Oral Presentation) จำนวน 1 ผลงาน ประเภทโปสเตอร์ (Poster Presentation) ภาคภาษาไทย จำนวน 1 ผลงาน และประเภทโปสเตอร์(Poster Presentation) ภาคภาษาอังกฤษ จำนวน 6 ผลงาน
ด้านดร.พะโยม ชิณวงศ์ นายกสภาสถาบันการอาชีวศึกษาภาคใต้ 2 กล่าวว่า ขอชื่นชมการประชุมวิชาการและนวัตกรรมเทคโนโลยีอาชีวศึกษา ระดับชาติและนานาชาติปีการศึกษา 2565 ในวันนี้ ที่มีการส่งเสริมงานวิจัย สิ่งประดิษฐ์ และนวัตกรรม ของคณาจารย์และนักศึกษา ที่เป็นรูปธรรม และจัดการประชุมวิชาการมาอย่างต่อเนื่องทุกปี เป็นการสนับสนุนให้เจ้าของผลงานได้นำเสนอและเผยแพร่ผลงานวิจัยในวงวิชาการ
รวมทั้งขอขอบคุณทั้ง 7 หน่วยงาน ที่เล็งเห็นถึงความสำคัญของการอาชีวศึกษา ได้ให้ความร่วมมือเป็นเจ้าภาพร่วม ยกระดับการจัดประชุมวิชาการในปีนี้ ให้ได้มาตรฐานยิ่งขึ้น การประชุมวิชาการเพื่อนำเสนอและเผยแพร่ผลงานวิจัย สิ่งประดิษฐ์ และนวัตกรรม นับเป็นการประชุมที่มีความจำเป็น และมีความสำคัญอย่างยิ่งสำหรับสถาบันอุดมศึกษา เพราะมีบทบาทหน้าที่จัดการศึกษาและการวิจัยเป็นสำคัญ การวิจัยซึ่งเป็นกระบวนการศึกษาค้นคว้า หาองค์ความรู้ใหม่ ๆ คณาจารย์และนักศึกษา จะต้องดำเนินการศึกษาค้นคว้าอย่างเป็นระบบและจริงจัง สามารถนำผลการวิจัยไปใช้ประโยชน์ได้
โดยข้อเท็จจริง การวิจัยกับการอาชีวศึกษานั้นดำเนินการมานาน อาชีวะได้ส่งเสริมการประกวดสิ่งประดิษฐ์คนรุ่นใหม่ และหุ่นยนต์จนมีชื่อเสียงและแพร่หลาย ปัจจุบันเมื่อจัดการศึกษาถึงระดับปริญญาตรี นักศึกษาจึงอาจต่อยอดสิ่งประดิษฐ์และผลงานดังกล่าว ให้เป็นนวัตกรรมหรืองานสร้างสรรค์ได้
งานวิจัยที่ก่อให้เกิดประโยชน์ต่อชุมชน หรือผู้ประกอบการในพื้นที่ ควรคำนึงถึงความต้องการของพื้นที่ สถานการณ์ต่างๆ ดังเช่นสถานการณ์ปัจจุบัน ของกลุ่มจังหวัดภาคใต้ฝั่งอันดามัน กำลังประสบภาวการณ์ขาดแคลนแรงงานในภาคธุรกิจบริการ หรือสถานการณ์โรคระบาดโควิด-19 ที่ผ่านมา ตลอดจนภัยพิบัติทางธรรมชาติ
การจัดการประชุมวิซาการครั้งนี้ เป็นการส่งเสริมให้นักวิจัยรุ่นใหม่ เผยแพร่ผลงานวิจัยในวงวิชาการ เพื่อให้ผู้เกี่ยวข้อง สามารถนำงานวิจัยไปใช้ประโยชน์ได้ ทั้งการพัฒนางาน พัฒนาสังคม พื้นที่ และพัฒนาประเทศต่อไป