ไฟเขียวขับเคลื่อน AWC ดันยุทธศาสตร์ ระเบียงเศรษฐกิจสุขภาพอันดามัน

13 เม.ย. 2566 | 08:55 น.

ภาคีเครือข่าย AWC เดินหน้าขับเคลื่อน “ระเบียงเศรษฐกิจสุขภาพอันดามัน” พร้อมตั้งคณะกรรมการศึกษาขั้นตอนร่างยุทธศาสตร์การพัฒนาเขตนวัตกรรมการแพทย์ฯ พร้อมเชื่อมโยงการท่องเที่ยวสู่ New Thailand Riviera อันดามัน-อ่าวไทย

หลังจากที่ภาคีเครือข่าย AWC ได้เข้าพบและหารือร่วมกับ นายธนกร วังบุญคงชนะ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ถึงการยกระดับพื้นที่ เพื่อผลักดันให้เกิดระเบียงเศรษฐกิจสุขภาพประเทศไทย (TWC) โดยมีข้อเสนอ Proposal แผนพัฒนาพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจสุขภาพอันดามัน Andaman Wellness Economic Corridor หรือ (AWC) เป็นตัวนำร่อง

ซึ่งปัจจุบันภาคเอกชนและนักลงทุนมีความพร้อมเป็นอย่างยิ่ง หากได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลชุดปัจจุบัน พร้อมกันนี้สมาคมโรงแรมที่พักส่งเสริมสุขภาพอันดามันและอ่าวไทย ยังได้ยื่นหนังสือเพื่อขอเข้าพบพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีด้วยนั้น

ล่าสุดนายกรัฐมนตรีได้มอบหมายให้พล.อ.ณัฐพล นาคพาณิชย์ ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี เป็นประธานในการรับฟังเสนอแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาเขตนวัตกรรมการแพทย์ และการส่งเสริม และระเบียงเศรษฐกิจประเทศไทยโดยมีผู้เข้าร่วมประชุมจากภาคเอกชน หน่วยงานภาคการศึกษา และภาคีเครือข่าย ร่วมชี้แจงยุทธศาสตร์เขตนวัตกรรมการแพทย์ และระเบียงเศรษฐกิจสุขภาพไทย TWC และอันดามัน AWC

นายก้าน ประชุมพรรณ์ ประธานกรรมการ บริษัท อันดามันพัฒนาเมือง จำกัด และเลขาธิการสมาคมโรงแรมที่พักส่งเสริมสุขภาพอันดามันและอ่าวไทย และกฎบัตรไทย กล่าวว่า พล.อ.ณัฐพล นาคพาณิชย์ ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี ให้ความสำคัญกับการที่ภาคเอกชนมีความต้องการที่จะพัฒนาบ้านเมือง

ไฟเขียวขับเคลื่อน AWC  ดันยุทธศาสตร์ ระเบียงเศรษฐกิจสุขภาพอันดามัน

และต้องการให้ทางหน่วยงานของรัฐบาล ช่วยผลักดันโครงการในครั้งนี้ ซึ่งก็เป็นวัตถุประสงค์หลักของรัฐบาล ที่พร้อมให้การสนับสนุนภาคเอกชนเช่นเดียวกัน โดยผู้แทนกฎบัตรไทย ภาคเอกชน และผู้บริหารจากมหาวิทยาลัยรวม 9 เขตนวัตกรรมการแพทย์ ได้เป็นตัวแทนเพื่อเสนอข้อมูลที่สำคัญต่อการขับเคลื่อนโครงการให้เป็นรูปธรรมมากขึ้น

ขณะที่ผลของการหารือและรับฟังข้อเสนอ สรุปได้ดังนี้

1.พล.อ.ณัฐพล นาคพาณิชย์ ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี เล็งเห็นถึงพลังความร่วมมือและสามัคคีเพื่อขับเคลื่อนประเทศไทย และเห็นว่าการยกระดับเศรษฐกิจด้านการส่งเสริมสุขภาพ เป็นทิศทางที่ถูกต้องและสมเหมาะสมกับสถานการณ์โลกในปัจจุบัน

2. มอบหมายให้ผู้แทนจาก สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ รับฟังข้อเสนอเพื่อนำไปปรับใช้ในการวางยุทธศาสตร์แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13 (พ.ศ. 2566-2570) โดยผู้แทนสำนักงานสภาพัฒน์ ได้แสดงความเห็นในเรื่องของระยะเวลา และจะเร่งการทำแผนงานดังกล่าวให้เสร็จก่อนมีการตั้งรัฐบาลสมัยหน้า

3. ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี เสนอให้มีการจัดตั้งคณะกรรมการศึกษาขั้นตอนร่างยุทธศาสตร์การพัฒนาเขตนวัตกรรมการแพทย์ และการส่งเสริมระเบียงเศรษฐกิจประเทศไทย และระเบียงเศรษฐกิจสุขภาพอันดามัน

ไฟเขียวขับเคลื่อน AWC  ดันยุทธศาสตร์ ระเบียงเศรษฐกิจสุขภาพอันดามัน

4. นัดประชุมหารือ เพื่อตั้งคณะทำงานและกำหนดทิศทางการพัฒนาของแต่ละเขตนวัตกรรม และระเบียงเศรษฐกิจที่เหมาะสมกับภูมิภาค

5. การทำแผนพัฒนาดังกล่าว จะถูกนำไปใช้ได้ทันที ไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลไหนมาบริหารจัดการประเทศในอนาคต                  6. ภาคเอกชนได้นำเสนอความต้องการ เพราะเปรียบเสมือนอยู่ในภาคทดลองเขตเศรษฐกิจพิเศษด้านสุขภาพและการท่องเที่ยว โดยยังไม่มีพระราชบัญญัติเขตพัฒนาพิเศษมารองรับในปัจจุบัน ซึ่งมีผลต่อภาคการลงทุน และพัฒนา BCG และ Green Economy ในอนาคต

อย่างไรก็ดี เมื่อกลางเดือนมีนาคมที่ผ่านมานายชำนาญ ศรีสวัสดิ์ ประธานสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (สทท.) และนางวิรินทร์ตรา ปภากิจยศพัฒน์ ประธานสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยเขต 11 (ภูเก็ต พังงา กระบี่) อันดามัน พัฒนาเมืองและภาคีเครือข่าย ได้จัดตั้งโครงการ “ อันดามันพร้อม” โดยมีพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และคณะรัฐมนตรีร่วมงาน

ทั้งนี้ได้มีผู้แทน (สทท.) ได้นำผลงานและร่วมกันเสนอแนวทางสร้างเศรษฐกิจสร้างสรร โดยชู AWC Andaman Wellness Economic Corridor เป็นระเบียงเศรษฐกิจเชื่อมโยงการท่องเที่ยวสู่ New Thailand Riviera (อันดามัน-อ่าวไทย) โดยนายกรัฐนายกได้ให้คำมั่น พร้อมที่จะเดินหน้าพัฒนาอันดามันให้มีความเจริญก้าวหน้าในระดับโลกต่อไป เป็นผลสำเร็จถึงความตั้งใจของรัฐบาล ทำให้ภาคเอกชนในภูเก็ต และพื้นที่อันดามันมีความพอใจเป็นอย่างยิ่ง

ไฟเขียวขับเคลื่อน AWC  ดันยุทธศาสตร์ ระเบียงเศรษฐกิจสุขภาพอันดามัน

สำหรับแนวทางการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจสุขภาพอันดามัน (Andaman Wellness Corridor : AWC) ถูกยกระดับเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจระหว่างการระบาดและหลังการระบาดของโรคโควิด-19 ในกลุ่มจังหวัดภาคใต้ฝั่งอันดามัน ได้แก่ ภูเก็ต กระบี่ พังงา และระนอง ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีความพร้อมและมีศักยภาพสูง เช่น การรักษาโรคสลับซับซ้อน การผ่าตัดแปลงเพศ สปาและแหล่งน้ำพุร้อนระดับโลก

การดูแลนักท่องเที่ยวทางทะเล เป็นต้น โดยมอบหมายกรมสนับสนุนบริการสุขภาพและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจัดทำยุทธศาสตร์ด้านบริการทางการแพทย์ ด้านผลิตภัณฑ์สุขภาพ ด้านบริการวิชาการและงานวิจัย และด้านบริการส่งเสริมสุขภาพ เสนอคณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบต่อไป พร้อมจัดตั้งคณะกรรมการ อนุกรรมการ และคณะทำงานขับเคลื่อนในระดับประเทศและระดับพื้นที่ เพื่อพัฒนาต้นแบบพื้นที่นำร่อง

ทั้งนี้กรอบแนวคิดเขตระเบียงเศรษฐกิจเวลเนสอันดามัน (Andaman Wellness Corridor : AWC) เกิดขึ้นโดยมีเป้าหมายในการผลักดันให้พื้นที่อันดามันให้เป็นมหาอำนาจของโลกด้านสุขภาพ โดยมีแม็กเน็ตหลัก 4 ด้าน ได้แก่ 1. Medical Service Hub 2. Product Hub 3. Academic Hub และ 4. Wellness Hub

ไฟเขียวขับเคลื่อน AWC  ดันยุทธศาสตร์ ระเบียงเศรษฐกิจสุขภาพอันดามัน

มีกลุ่มเป้าหมายหลักคือ นักท่องเที่ยวคนไทยและนักท่องเที่ยวต่างชาติ ทั้งกลุ่ม Workation และlong stay โดยธุรกิจด้านการบริการดูแลสุขภาพ ที่ได้รับความสนใจคือ บริการสุขภาพที่มีศักยภาพ การใช้บริการจากสมุนไพร กัญชา เครื่องมือแพทย์ สปาน้ำพุร้อน สปาเพื่อสุขภาพ นวด อาหาร ศูนย์กลางการวิจัย ศูนย์กลางการจัดประชุม (MICE) เป็นต้น

โดยที่ผ่านมาภาคเอกชนและภาคีเครือข่ายต่างต้องการให้ภาครัฐสนับสนุนและช่วยเหลือในด้านต่างๆ อาทิ การแก้ไขข้อกฎหมายที่เป็นข้อจำกัดสำหรับการพัฒนาโครงการ เช่น กฎหมายผังเมือง กฎหมายสิ่งแวดล้อม กฎหมายควบคุมอาคาร, การขออนุญาตเส้นทางคมนาคม, การขอสัมปทานหรือเช่าใช้พื้นที่บางส่วนจากภาครัฐ เช่น ป่าชุมชน ป่าเศรษฐกิจ , การลงทุนจากนักลงทุนต่างชาติในการนำเข้าเงินตรามาประกอบธุรกิจ, มาตรการทางด้านการเงินการคลังสนับสนุนนักธุรกิจที่ลงทุนในกิจการที่เป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาประเทศ เป็นต้น

หน้า 15 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 43 ฉบับที่ 3,876 วันที่ 6 - 8 เมษายน พ.ศ. 2566