ทางพิเศษ (ทางด่วน) ศรีนครินทร์- สุวรรณภูมิ ระยะทาง 18.5 กิโลเมตร วงเงินลงทุน 21,892 ล้านบาท หนึ่งในโครงการสำคัญที่การทางพิเศษ แห่งประเทศไทย (กทพ.) ได้รับถ่ายโอนมาจากกรมทางหลวง (ทล.) และกรมทางหลวงชนบท (ทช.) ให้เป็นผู้ดำเนินโครงการ โดยการศึกษาในครั้งนี้ ต้องมีความละเอียดถี่ถ้วน เนื่องจากกทพ.เป็นหน่วยงานรัฐ วิสาหกิจ ซึ่งจะต้องหางบประมาณเพื่อดำเนินการก่อสร้างเอง
ดังนั้นหากเดินหน้าโครงการฯต่อไปได้ ต้องทำให้ผลตอบแทนด้านการเงินคุ้มค่า ประกอบกับเป็นโครงข่ายเชื่อมโยงกับท่าอากาศยานสุวรรณภูมิโดยตรงจึงมีแผนเจรจา บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือทอท. ร่วมลงทุน เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดกับผู้ใช้บริการต่อไป
รายงานข่าวจากการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) เปิดเผยว่า สำหรับความคืบหน้าโครงการทางพิเศษ (ทางด่วน) สายศรีนครินทร์-ท่าอากาศยาน สุวรรณภูมิ แบ่งเป็น ค่าก่อสร้างงานโยธา 21,104 ล้านบาท และค่าจัดกรรมสิทธิ์เวนคืนที่ดิน 788 ล้านบาท ปัจจุบัน กทพ.อยู่ระหว่างดำเนินการจัดจ้างที่ปรึกษาเพื่อศึกษาความเหมาะสมทางด้านเศรษฐกิจและการเงิน รวมทั้งออกแบบกรอบรายละเอียดของ โครงการฯ คาดว่าจะเริ่มศึกษาความเหมาะสมฯ ภายในเดือนพฤษภาคม 2566 ใช้ระยะเวลาศึกษาประมาณ 6 เดือน คาดศึกษาโครงการฯแล้วเสร็จภายในปีนี้
ทั้งนี้จะดำเนินการจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) เสนอต่อคณะกรรมการผู้ชำนาญการพิจารณารายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (คชก.) พิจารณา ควบคู่กับการเปิดรับฟังความคิดเห็นของประชาชน ซึ่งจะเริ่มดำเนินการได้ภายในปี 2567 โดยจะเสนอต่อกระทรวงคมนาคมและคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาเห็นชอบภายในปี 2567 คาดว่าจะเริ่มเปิดประมูลภายในปลายปี 2567 และเริ่มก่อสร้างได้ทันที เนื่องจากเป็นพื้นที่โครงการฯเป็นเขตทางของกรมทางหลวง (ทล.) ทั้งหมด
รายงานข่าวจากกทพ. กล่าวต่อว่า โครงการฯนี้ กทพ.มีแนวคิดที่จะเชิญชวนบริษัทท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท. เข้าร่วมลงทุนโครงการด้วย เนื่อง จากแนวเส้นทางสามารถต่อเชื่อมเข้าสนามบินสุวรรณภูมิ รองรับประชาชนที่ประสงค์จะเดินทางเข้าออกสนามบินสุวรรณภูมิได้โดยตรง ซึ่งจะได้รับความสะดวกรวดเร็วในการเดินทางเพิ่มมากขึ้น
“กทพ.จะต้องหารือร่วมกับทอท.ในการร่วมลงทุนในโครงการฯดังกล่าวด้วยว่ามีความพร้อมหรือไม่ หากทอท.สนใจเข้าร่วมโครงการฯจะทำให้โครงการสามารถเดินหน้าได้เร็วขึ้น เนื่องจากเป็นแนวเส้นทางที่ประชาชนต้องการเดินทางเข้า-ออก สนามบินสุวรรณภูมิ ซึ่งเขาก็ควรที่จะร่วมลงทุน เพราะโครงการฯนี้จะช่วยเพิ่มปริมาณผู้ใช้บริการแก่ทอท.”
ขณะเดียวกันจะต้องดูผลการศึกษาด้วยว่าคุ้มทุนหรือไม่ หากดำเนินการใช้รูปแบบการร่วมลงทุนระหว่างภาครัฐและเอกชน (PPP) จะมีผู้สนใจหรือไม่ แต่ถ้าทอท.สนใจร่วมลงทุนกับ กทพ.จะช่วยลดภาระค่าก่อสร้างโครงการฯ ทำให้ผลตอบแทนทางการเงินดีขึ้น คาดว่า โครงการฯดังกล่าวจะใช้รูปแบบการร่วมลงทุนระหว่างภาครัฐและเอกชน (PPP) เนื่องจากโครงการฯมีแนวเส้นทางที่เชื่อมต่อทางพิเศษศรีรัชของบริษัท ทางด่วนและรถ ไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BEM ที่เป็นผู้ลงทุน
นอกจากนี้โครงการดังกล่าวเป็น 1 ใน 5 โครงการที่กทพ.ได้ลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือเพื่อบูรณาการความร่วมมือ โดยมีการถ่ายโอนโครงการจากกรมทาง หลวง (ทล.) และกรมทางหลวงชนบท (ทช.) ให้ กทพ.รับผิดชอบดำเนินการแทน เพื่อลดความซํ้าซ้อนในการ ลงทุน เพิ่มประสิทธิภาพและความรวดเร็วในการดำเนินงานตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2565 ที่ผ่านมา
นายกีรติ กิจมานะวัฒน์ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท. กล่าวว่า การลงทุนโครงการฯดังกล่าว ปัจจุบันยังไม่ได้มีการหารือร่วมกันกับกทพ.อย่างเป็นทางการ เนื่องจากโครงการนี้ต้องพิจารณาร่วมกับคณะกรรมการ (บอร์ด) ทอท.ก่อน ซึ่งจะต้องพิจารณาใน หลายด้าน เช่น สถานการณ์การเงินของ ทอท. และพันธกิจของบริษัทฯ ว่าสามารถร่วมลงทุนได้หรือไม่ รวมถึงต้องดูความคุ้มค่าในการลงทุนด้วย
สำหรับทางด่วนสายศรีนครินทร์- ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ มีระยะทาง 18.5 กิโลเมตร (กม.) โดยมีจุดเริ่มต้นเชื่อมต่อกับทางพิเศษศรีรัชส่วน D บริเวณทางแยกต่างระดับศรีนครินทร์ ไปตามแนวทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองหมายเลข 7 และสิ้นสุดโครงการบริเวณ กม.18 แขวงทับยาว เขตลาดกระบัง ครอบคลุมพื้นที่ 5 เขต ประกอบด้วย 1. เขตบางกะปิ 2. เขตสวนหลวง 3. เขตประเวศ 4.เขตสะพานสูง และ5. เขต ลาดกระบัง โดยมีการออกแบบจุดขึ้น-ลง และจุดเชื่อมต่อ จำนวน 3 แห่ง ดังนี้ 1. จุดขึ้น-ลง บริเวณทางแยกต่างระดับศรีนครินทร์ 2. จุดเชื่อมต่อบริเวณท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ 3. จุดขึ้น-ลง บริเวณลาดกระบัง
ส่วนรูปแบบการก่อสร้างของโครงการฯ เป็นทางยกระดับตามแนวทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองหมายเลข 7 ช่วงศรีนครินทร์-ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ขนาด 3 ช่องจราจร (ไป-กลับ) ช่องจราจรกว้าง 3.6 เมตร ไหล่ทางด้านซ้ายกว้าง 2 เมตร ไหล่ทางด้านขวา กว้าง 1 เมตร จุดขึ้น-ลง จำนวน 3 แห่ง
อย่างไรก็ตามหากโครงการฯ ก่อสร้างแล้วเสร็จจะเชื่อมโยงพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑลไปยังภาคตะวันออก ซึ่งเป็นที่ตั้งของนิคมอุตสาหกรรมหลายแห่งและ ท่าเรือแหลมฉบังในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) รวมทั้งจะช่วยบรรเทาปัญหาจราจรบริเวณทางเชื่อมเข้า-ออก ท่าอากาศ ยานสุวรรณภูมิ