นายสุรเชษฐ์ เหล่าพูลสุข ผู้ว่าการการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) เปิดเผยภายหลังการประชุมรับฟังความคิดเห็นของประชาชน ครั้งที่ 1 (การปฐมนิเทศโครงการ) งานศึกษาความเหมาะสมทางด้านวิศวกรรม เศรษฐกิจ การเงิน และผลกระทบสิ่งแวดล้อม โครงการ ระบบทางด่วนขั้นที่ 3 สายเหนือ ส่วนทดแทนตอน N1 ว่า ที่ผ่านมาคณะกรรมการจัดระบบการจราจรทางบก (คจร.) ได้มีมติเห็นชอบให้ กทพ. ดำเนินโครงการระบบทางด่วนขั้นที่ 3 สายเหนือ ตอน N2 เชื่อมต่อไปยังถนนวงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานครด้านตะวันออก และส่วนทดแทนตอน N1 เพื่อเป็นการแก้ไขปัญหาการจราจรและพัฒนาโครงข่ายทางพิเศษที่เชื่อมโยงการเดินทาง ระหว่างพื้นที่ด้านตะวันออก และตะวันตกของกรุงเทพมหานคร
ทั้งนี้คจร.ได้มอบหมายให้กทพ. พิจารณาความเหมาะสมของรูปแบบ และแนวเส้นทางโครงการระบบทางด่วนขั้นที่ 3 สายเหนือ ส่วนทดแทนตอน N1 ให้มีความชัดเจน โดยคำนึงถึงความเหมาะสมทางวิศวกรรม ค่าใช้จ่ายในการก่อสร้าง การจัดกรรมสิทธิ์ที่ดิน ระยะเวลาดำเนินการ ความยากง่ายในการดำเนินการผลกระทบกับชุมชน และสิ่งแวดล้อม รวมทั้งพิจารณาแนวทางหรือมาตรการเพื่อลดผลกระทบด้านการจราจรบริเวณแยกเกษตร ที่มีข้อจำกัดทางด้านกายภาพในปัจจุบัน เพื่อเป็นการแก้ไขปัญหาการจราจรดังกล่าว
นายสุรเชษฐ์ กล่าวต่อว่า ขณะนี้กทพ.ได้จ้างกลุ่มบริษัทที่ปรึกษา ประกอบด้วย บริษัทอินเด็กซ์ อินเตอร์เนชั่นแนล กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) บริษัท ดีเคตคอนซัลแตนท์ จำกัด และบริษัท เอ็นริช คอนซัลแตนท์ จำกัด ให้ดำเนินการศึกษาความเหมาะสมทางด้านวิศวกรรม เศรษฐกิจ การเงิน และผลกระทบสิ่งแวดล้อม โครงการระบบทางด่วนขั้นที่ 3 สายเหนือ ส่วนทดแทนตอน N1 ช่วงทางพิเศษศรีรัช-ถนนงามวงศ์วาน-ถนนประเสริฐมนูกิจ วงเงินจ้างที่ปรึกษา 30 ล้านบาท มีระยะเวลาศึกษา ตั้งแต่วันที่ 12 เมษายน 2565 - 3 พฤษภาคม 2567 หลังจากเปิดรับฟังความคิดเห็นแล้ว เบื้องต้นกทพ.มีแผนจะเปิดรับฟังความคิดเห็นอีก 2 ครั้ง คาดว่าจะดำเนินการแล้วเสร็จภายในปีนี้
นายสุรเชษฐ์ กล่าวต่อว่า หลังจากศึกษาส่วนทดแทนตอน N1 ช่วงทางพิเศษศรีรัช-ถนนงามวงศ์วาน-ถนนประเสริฐมนูกิจ แล้วเสร็จ จะเสนอคณะกรรมการ (บอร์ด) กทพ. และคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบได้ภายในกลางปี 67 คาดว่าจะเริ่มเปิดประมูลได้ภายในปี 67 โดยจะเริ่มก่อสร้างภายในต้นปี 68 ระยะเวลาก่อสร้าง 6 ปี เปิดให้บริการได้ภายในปี 73
ทั้งนี้ส่วนทดแทนตอน N1 ช่วงศรีรัช-ถนนประเสิรฐมนูกิจ มีมูลค่าลงทุนโครงการ 31,747 ล้านบาท แบ่งเป็น ค่าจัดกรรมสิทธิ์ 1,000 ล้านบาท และค่าก่อสร้าง 30,747 ล้านบาท เบื้องต้นกทพ.มีแผนก่อสร้างในลักษณะอุโมงค์ใต้ดิน ซึ่งจะใช้งบประมาณเพิ่มขึ้น 20,000 ล้านบาท จากผลการศึกษาเดิมหากเป็นการก่อสร้างทางยกระดับจะใช้งบประมาณประมาณ 10,000 ล้านบาท
นายสุรเชษฐ์ กล่าวต่อว่า ส่วนรูปแบบการร่วมลงทุน ตอนN1 ช่วงศรีรัช-ถนนประเสิรฐมนูกิจนั้น พบว่าช่วงดังกล่าวมีการใช้งบลงทุนค่อนข้างสูง แต่ยังมีผลตอบทางเศรษฐกิจที่ดี เบื้องต้นกทพ.มีแผนจะใช้รูปแบบการร่วมลงทุนระหว่างภาครัฐและเอกชน (PPP) โดยให้ภาครัฐเป็นผู้สนับสนุนค่างานโยธา
"ถึงแม้ว่าตอน N1 จะใช้รูปแบบการร่วมลงทุนแตกต่างจาก N2 เชื่อว่าจะไม่เป็นปัญหาต่อการจัดเก็บรายได้ค่าผ่านทาง เพราะกทพ.มีระบบจัดเก็บค่าผ่านทางที่สามารถดำเนินการได้ ซึ่งไม่มีการเก็บค่าแรกเข้าเหมือนกับโครงการรถไฟฟ้า"
นายสุรเชษฐ์ กล่าวต่อว่า ปัจจุบันการลงทุนในโครงการต่างๆมีเครื่องมือการลงทุนหลายรูปแบบ ซึ่งกทพ.มีฐานะทางการเงินที่แข็งแกร่ง เช่น การใช้แหล่งเงินกู้,การลงทุนในรูปแบบ PPP สามารถดำเนินการได้ทั้งหมด ทั้งนี้จะต้องขึ้นอยู่กับผลการศึกษาด้วย ว่ารูปแบบใดมีความเหมาะสม
ส่วนพื้นที่แนวเส้นทางส่วนทดแทนตอนN1 ของโครงการฯ ผ่าน 2 จังหวัด คือ กรุงเทพฯ และนนทบุรี 6 เขต/อำเภอ ได้แก่ บางเขน จตุจักร หลักสี่ ลาดพร้าว บางซื่อ และเมืองนนทบุรี
สำหรับแนวทางเลือกในการศึกษา เบื้องต้นมี 3 แนวทาง ประกอบด้วย 1.ทางพิเศษประจิมรัถยา-ถนนพหลโยธิน-แนวคลองบางบัว มีจุดเริ่มต้นบริเวณทางพิเศษประจิมรัถยาข้ามทางพิเศษศรีรัช เลี้ยวซ้ายไปตามถนนกำแพงเพชร 2 ถึงบริเวณซอยวิภาวดีรังสิต 11 แล้วเลี้ยวขวา และลดระดับลงใต้ดินบริเวณซอยวิภาวดีรังสิต 17 แยก 8 ลอดใต้ ถนนวิภาวดีรังสิต ต่อเนื่องไปตามแนวคลองระบายน้ำด้านข้างซอยเผือกวิจิตร จนถึงถนนรัชดาภิเษกบริเวณใกล้ ซอยรัชดาภิเษก 46 เลี้ยวขวาไปตามแนวถนนรัชดาภิเษกถึงแยกรัชดาลาดพร้าว เลี้ยวซ้ายไปตามแนวถนนพหลโยธินฝั่งขาออก เมื่อถึงแยกเกษตรจึงเลี้ยวขวาไปเชื่อมต่อกับโครงการทางด่วนขั้นที่ 3 สายเหนือ ตอน N2 เชื่อมต่อ E-W Corridor
2.ทางพิเศษศรีรัช-ถนนงามวงศ์วาน-แนวคลองบางบัว มีจุดเริ่มต้นบริเวณทางพิเศษศรีรัชตัดกับแนวถนนงามวงศ์วาน มาตามแนวเกาะกลางถนนงามวงศ์วาน ผ่านแยกพงษ์เพชร แยกบางเขน แยกเกษตร ไปตามแนวถนนประเสริฐมนูกิจจนเชื่อมต่อกับโครงการทางด่วนขั้นที่ 3 สายเหนือ ตอน N2 เชื่อมต่อ E-W Corridor แนวทางนี้จะมีทางเลือกย่อย 2 แนวทาง ดังนี้
2.1 จะเริ่มต้นในลักษณะเส้นทางยกระดับจนถึงคลองลาดยาว แล้วลดระดับลงใต้ดิน บริเวณด้านหน้าเรือนจำกลางคลองเปรม ลอดใต้คลองเปรมประชากร ถนนวิภาวดีรังสิต แยกเกษตร
2.2 จะมีลักษณะเป็นเส้นทางใต้ดินทั้งหมด ไปจนถึงจุดเชื่อมต่อกับโครงการทางด่วนขั้นที่ 3 สายเหนือ ตอน N2 เชื่อมต่อ E-W Corridor
3.ทางพิเศษประจิมรัถยา-ต่างระดับรัชวิภาฯ-แนวคลองบางบัว มีจุดเริ่มต้นบริเวณทางพิเศษประจิมรัถยาข้ามทางพิเศษศรีรัช ไปตามแนวถนนกำแพงเพชร 2 ถึงทางต่างระดับรัชวิภา เลี้ยวตัดผ่านซอยวิภาวดีรังสิต 40/1 ตรงไปตามยังแนวซอยด้านหลังตลาดอมรพันธ์ ลอดใต้ ถนนพหลโยธิน ต่อเนื่องไปตามแนวถนนประเสริฐมนูกิจ เพื่อเชื่อมต่อโครงการทางด่วนขั้นที่ 3 สายเหนือ ตอน N2 เชื่อมต่อ E-W Corridor ทางเลือกนี้จะมีทางเลือกย่อย 2 แนวทาง ดังนี้
3.1 จะมีลักษณะเป็นทางยกระดับจากจุดเริ่มต้นโครงการ ไปจนถึงทางต่างระดับรัชวิภา จนถึงซอยพหลโยธิน 35 แยก 13 จึงลดระดับลงใต้ดินตรงไปตามแนวซอยด้านหลังตลาดอมรพันธ์ ลอดใต้ ถนนพหลโยธิน ต่อเนื่องไปตามแนวถนนประเสริฐมนูกิจ เพื่อเชื่อมต่อโครงการทางด่วนขั้นที่ 3 สายเหนือ ตอน N2 เชื่อมต่อ E-W Corridor
3.2 จะมีจุดเริ่มต้นเหมือนทางเลือกย่อยที่ 3.1 ลักษณะเป็นทางยกระดับจนถึงซอยวิภาวดีรังสิต 40/1 แล้วจึงเปลี่ยนเป็นเส้นทางใต้ดิน บริเวณซอยวิภาวดีรังสิต 17 แยก 8 แล้วลอดใต้ถนนวิภาวดีรังสิต บริเวณซอยพฤกษ์วิชิต แล้วเลี้ยวซ้ายอ้อมออกไปทางถนนรัชดาภิเษก บริเวณซอยรัชดาภิเษก 48 จนถึงซอยวิภาวดีรังสิต 38 จึงเลี้ยวขวาไปตามแนวทางเลือกที่ 3.1
นายสุรเชษฐ์ กล่าวต่อว่า ขณะที่ตอน N2 ถนนประเสริฐมนูกิจ-ถนนวงแหวนรอบนอกกรุงเทพฯ ระยะทาง 11.3 กม. มูลค่าลงทุน 16,960 ล้านบาท เบื้องต้นกทพ.จะนำร่องดำเนินการเปิดประมูลหาผู้รับจ้างเพื่อก่อสร้างตอน N2 ถนนประเสริฐมนูกิจ-ถนนวงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานคร ก่อน ปัจจุบันกทพ.เตรียมเสนอคณะกรรมการ (บอร์ด) กทพ. ภายในเดือนพฤษภาคมนี้ หลังจากนั้นจะเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) ชุดใหม่เห็นชอบ คาดว่าจะเริ่มเปิดประมูลได้ภายในปี 67 และดำเนินการก่อสร้างทันที ระยะเวลาก่อสร้างราว 3-4 ปี เปิดให้บริการประมาณปี 70-71
สำหรับแนวเส้นทางของทางด่วนตอน N2 มีจุดเริ่มต้นบริเวณ กม.1+000 ของถนนประเสริฐมนูกิจ เป็นทางด่วนยกระดับขนาด 4 ช่องจราจร เชื่อมต่อทางด่วนฉลองรัชบริเวณทางแยกฉลองรัช สิ้นสุดเชื่อมต่อกับถนนวงแหวนรอบนอกฯ ด้านตะวันออก (ทล.9) บริเวณทางแยกต่างระดับลาดบัวขาว