GDP ไทยไตรมาส 1/66 โต 2.7% สศช.ยันไม่ถดถอย คงทั้งปี 2.7-3.7%

15 พ.ค. 2566 | 02:38 น.
อัปเดตล่าสุด :15 พ.ค. 2566 | 08:16 น.

สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) แถลงภาวะเศรษฐกิจไทย ไตรมาสแรก ปี 2566 GDP โต 2.7% บริโภค-ท่องเที่ยวพระเอก ยันไม่ถดถอย หรือ Recession ส่วนทั้งปี 2566 คาดว่าจะขยายตัว 2.7-3.7%

วันนี้ (15 พฤษภาคม 2566) เวลา 9.30 น. นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เปิดเผยภาวะเศรษฐกิจไทยไตรมาสแรกของปี 2566 และแนวโน้มปี 2566 โดยในช่วงไตรมาสที่ 1 ปี 2566 ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ของไทย ขยายตัว 2.7% เร่งขึ้นจากการขยายตัวในไตรมาสที่ 4 ของปี 2565 ซึ่งขยายตัว 1.4%

ทั้งนี้เป็นผลมาจากเครื่องชี้ทางเศรษฐกิจขยายตัว การบริโภคภาคเอกชน 5.4% ถือว่าเป็นการขยายตัวต่อเนื่อง เช่นเดียวกับการลงทุนรวมขยายตัว 3.1% ส่วนการส่งออกบริการ 87.8% เป็นผลจากการท่องเที่ยวขยายตัวต่อเนื่อง ขณะที่ปริมาณการส่งออกสินค้ายังติดลบ 6.4% หลังแนวโน้มเศรษฐกิจโลกชะชอตัว 

“ความกังวลเรื่องของเศรษฐกิจถดถอย หรือ Recession ของไทยไม่ได้เกิดขึ้น เหมือนที่มีการกังวลก่อนหน้านี้ เพราะแนวโน้มในอนาคตเศรษฐกิจก็กำลังขยายตัวไปได้ด้วยดี” นายดนุชา ระบุ

 

นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.)

สำหรับเศรษฐกิจไทยในไตรมาสแรกของปี 2566 ขยายตัว 2.7% เร่งขึ้นจากการขยายตัว 1.4% ในไตรมาสก่อนหน้า  โดยมีรายละเอียดแยกเป้นด้านต่าง ๆ ดังนี้

 

สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) แถลงภาวะเศรษฐกิจไทย ไตรมาสแรก ปี 2566

 

ด้านการใช้จ่าย 

การส่งออกบริการ และการอุปโภคบริโภคภาคเอกชน ขยายตัวในเกณฑ์สูง การลงทุนภาคเอกชนและการลงทุนภาครัฐขยายตัวต่อเนื่อง ขณะที่การส่งออกสินค้าและการใช้จ่ายเพื่อการอุปโภคของรัฐบาลปรับตัวลดลง การอุปโภคบริโภคภาคเอกชนขยายตัวในเกณฑ์สูง 5.4% ต่อเนื่องจาก 5.6% ในไตรมาสก่อนหน้า ตามการขยายตัวในเกณฑ์สูงของการใช้จ่ายในหมวดบริการสอดคล้องกับการขยายตัวของภาคการท่องเที่ยว และการกลับมาขยายตัวของการใช้จ่ายในหมวดสินค้าคงทน 

การใช้จ่ายเพื่อการอุปโภคของรัฐบาล ลดลง 6.2% ต่อเนื่องจากการลดลง 7.1% ในไตรมาสก่อนหน้า โดยรายจ่ายการโอนเพื่อสวัสดิการสังคมที่ไม่เป็นตัวเงินสำหรับสินค้าและบริการในระบบตลาดลดลง 40.4% ส่วนค่าซื้อสินค้าและบริการ และค่าตอบแทนแรงงาน (ค่าจ้าง เงินเดือน) ขยายตัว 1% และ 1.8% ตามลำดับ สำหรับอัตราการเบิกจ่ายงบประมาณรายจ่ายประจำในไตรมาสนี้อยู่ที่ 23.7% (ต่ำกว่าอัตราเบิกจ่าย 33.9% ในไตรมาสก่อนหน้า แต่สูงกว่า 20.3% ในไตรมาสเดียวกันของปีก่อน) 

การลงทุนรวม ขยายตัว 3.1% ชะลอลงจาก 3.9% ในไตรมาสก่อนหน้า แบ่งเป็น
การลงทุนภาคเอกชนที่ขยายตัว 2.6% ชะลอลงจาก 4.5% ในไตรมาสก่อนหน้า โดยการลงทุนในหมวดเครื่องจักรเครื่องมือและหมวดก่อสร้างขยายตัว 2.8% และ 1.1% ชะลอลงจาก 5.1% และ 1.9% ในไตรมาสก่อนหน้า ตามลำดับ 

การลงทุนภาครัฐ ขยายตัว 4.7% เร่งขึ้นจาก 1.5% ในไตรมาสก่อนหน้า โดยการลงทุนของรัฐบาลและรัฐวิสาหกิจขยายตัว 6.9% และ 1.8% ตามลำดับ อัตราการเบิกจ่ายงบประมาณรายจ่ายลงทุนในไตรมาสนี้อยู่ที่ 16.7% (ต่ำกว่าอัตราเบิกจ่าย 18.8% ในไตรมาสก่อนหน้า แต่สูงกว่า 16.1% ในช่วงเดียวกันของปีก่อน)

การส่งออกสินค้า มีมูลค่า 69,806 ล้านดอลลาร์ สหรัฐฯ ลดลง 4.6% เทียบกับการลดลง 7.5% ในไตรมาสก่อนหน้า สอดคล้องกับการชะลอตัวของเศรษฐกิจประเทศคู่ค้า โดยปริมาณส่งออกลดลง 6.4% ต่อเนื่องจากการลดลง 10.3% ในไตรมาสก่อนหน้า ขณะที่ราคาส่งออกเพิ่มขึ้น 2% ต่อเนื่องจาก 3.1% ในไตรมาสก่อนหน้า

 

สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) แถลงภาวะเศรษฐกิจไทย ไตรมาสแรก ปี 2566

 

ด้านการผลิต 

สาขาเกษตรกรรม การป่าไม้ และการประมง ขยายตัว 7.2% เร่งขึ้นจากการขยายตัว 3.4% ในไตรมาสก่อนหน้า โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากสภาพอากาศที่เอื้ออำนวย และปริมาณน้ำเพียงพอต่อการเพาะปลูก 

สาขาที่พักแรมและบริการด้านอาหาร ขยายตัวในเกณฑ์สูงต่อเนื่อง 34.3% เร่งขึ้นจากการขยายตัว 30.6% ในไตรมาสก่อนหน้า ตามการขยายตัวในเกณฑ์สูงของจำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศ และการท่องเที่ยวภายในประเทศ โดยในไตรมาสนี้ นักท่องเที่ยวต่างประเทศที่เดินทางเข้ามาท่องเที่ยวในประเทศไทยมีจำนวน 6.478 ล้านคน 

สาขาการขายส่งและการขายปลีก การซ่อมยานยนต์และจักรยานยนต์ เพิ่มขึ้นต่อเนื่องเป็นไตรมาสที่ 8 ที่ 3.3% เร่งขึ้นจากการขยายตัว 3.1% ในไตรมาสก่อนหน้า ตามการปรับตัวดีขึ้นของภาคบริการ ด้านการท่องเที่ยว และการขยายตัวต่อเนื่องของการใช้จ่ายภาคครัวเรือน 

สาขาการผลิตสินค้าอุตสาหกรรม ลดลง 3.1% ต่อเนื่องจากการลดลง 5% ในไตรมาสก่อนหน้า ตามการลดลงของกลุ่มการผลิตเพื่อส่งออกและกลุ่มการผลิตเพื่อบริโภคภายในประเทศ ขณะที่การผลิตอุตสาหกรรมที่มีสัดส่วนส่งออกในช่วง 30 - 60% ขยายตัว

เสถียรภาพทางเศรษฐกิจ

อัตราการว่างงานอยู่ที่ 1.05% ต่ำกว่า 1.15% ในไตรมาสก่อนหน้า และต่ำกว่า 1.53% ในไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ส่วนอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ยอยู่ที่ 3.9% และอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานเฉลี่ยอยู่ที่ 2.2% เทียบกับ 5.8% และ 3.2% ในไตรมาสก่อน ตามลำดับ 

สำหรับดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุล 4,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือ 13.9 หมื่นล้านบาท ขณะที่เงินทุนสำรองระหว่างประเทศ ณ สิ้นเดือนมีนาคม 2566 อยู่ที่ 2.2 แสนล้านดอลลาร์ สหรัฐฯ และหนี้สาธารณะ ณ สิ้นเดือนมีนาคม 2566 มีมูลค่าทั้งสิ้น 10,797,505.5 ล้านบาท คิดเป็น 61.2% ของ GDP

 

สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) แถลงภาวะเศรษฐกิจไทย ไตรมาสแรก ปี 2566

 

เศรษฐกิจไทยในปี 2566 

สศช. ประเมินเศรษฐกิจไทยในปี 2566 คาดว่าจะขยายตัวในช่วง 2.7 – 3.7% โดยมีปัจจัยสนับสนุนที่สำคัญ ดังนี้

  1. การฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยว 
  2. การขยายตัวอย่างต่อเนื่องของการอุปโภคบริโภคภายในประเทศ 
  3. การขยายตัวของการลงทุนทั้งภาคเอกชนและภาครัฐ

ทั้งนี้ คาดว่าการอุปโภคบริโภคภาคเอกชนจะขยายตัว 3.7% ส่วนการลงทุนภาคเอกชนและการลงทุนภาครัฐขยายตัว 1.9% และ 2.7% ตามลำดับ และมูลค่าการส่งออกสินค้าในรูปดอลลาร์ สหรัฐฯ ลดลง 1.6% อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ยอยู่ในช่วง 2.5 – 3.5% และดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุล 1.4% ของ GDP