ความคืบหน้าการจัดตั้งรัฐบาลของพรรคก้าวไกล แม้เริ่มมีความชัดเจนมากขึ้นหลังจากรวมเสียงพรรคร่วมได้ 313 เสียง แต่ถึงกระนั้นก็ยังต้องผ่านด่านหินอีกหลายด่าน ก่อนจะจัดตั้งรัฐบาลได้ ซึ่งถ้าทำได้จริงตามเป้า ชื่อหนึ่งที่แบเบอร์ว่าจะเข้ามานั่งเป็นรัฐมนตรีคุมกระทรวงเกรดเอ นั่นก็คือ “ศิริกัญญา ตันสกุล” โดยมีการคาดหมายว่า เธอจะนั่งในตำแหน่งว่าที่รองนายกฯ ควบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง
ที่ผ่านมาฐานเศรษฐกิจมีโอกาสสัมภาษณ์พิเศษ “ศิริกัญญา ตันสกุล” รองหัวหน้าพรรคก้าวไกล ถึงนโยบายด้านเศรษฐกิจของพรรคก้าวไกลที่พร้อมผลักดันทันทีหากได้เข้ามาเป็นรัฐบาล
เติมเงินเข้ากระเป๋าสตางค์
รองหัวหน้าพรรคก้าวไกล ยอมรับว่า การหารายได้ของประเทศ ที่ผ่านมาเราดูเฉพาะตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ หรือ จีดีพี เป็นหลัก แต่ไม่ดูเงินในกระเป๋าของประชาชน ดังนั้นจึงต้องกลับมาคิดทบทวนกันใหม่ โดยต้องหันมาให้ความสำคัญกับรายได้ครัวเรือน รายได้เกษตรกร และ รายได้เอสเอ็มอี เป็นหลัก ซึ่งทั้งหมดนั้นต้องเติบโตไปตามทิศทางเดียวกับเศรษฐกิจ
“ที่ผ่านมาเราทำให้จีดีพีโตก็จริง เช่นในช่วง 8 ปีที่ผ่านมา จีดีพีโตขึ้นไป 20% และกำไรภาคเอกชนก็โต 30% แต่กลับหล่นเข้ากระเป๋าของประชาชนแค่ 3% เท่านั้น ดังนั้นถ้าเราจะให้เศรษฐกิจโตแล้วรายได้ของคนเติบโตไปด้วย ก็ต้องหาทางคิดใหม่”
ดันเศรษฐกิจให้โตไม่ต่ำ 4%
ขณะเดียวกันยังต้องยอมรับว่า ปัจจุบันผลผลิตศักยภาพ (Potential Output) ของเศรษฐกิจไทยลดลงเรื่อย ๆ โดยอยู่ที่ไม่เกิน 4% การจะทำให้เศรษฐกิจโตอย่างเต็มศักยภาพต้องพยายามดันให้อยู่ในระดับ 4% ให้ได้ โดยปัจจุบันเศรษฐกิจไทยยังมีศักยภาพซ่อนอยู่ และยังไม่ได้ถูกใช้ให้เต็มที่
ตัวอย่างเช่น การหาทางส่งเสริมศักยภาพของเอสเอ็มอี ให้สามารถเติบโตต่อไปได้ หรือช่วยภาคเกษตร ผ่านการละลายน้ำแข็งที่มีอยู่ด้วยการจัดหาที่ดินทำกิน การให้เอกสารสิทธิเพื่อไปต่อยอดทำทุน หรือการปลดหนี้ภาคเกษตร รวมไปถึงการการกระตุ้นการจับจ่ายใช้สอย เป็นต้น
“เศรษฐกิจไทยถ้าไม่หาเครื่องยนต์ขับเคลื่อนตัวใหม่ ๆ คงโตได้ยาก เพราะกำลังแรงงาน 10 ปีข้างหน้า จะหดตัวปีละ 6% ถ้าไม่นำเข้าก็ต้องเร่งหาอะไรมาทดแทนกำลังแรงงานที่จะหายไปเรื่อย ๆ โดยขาแรก คือ ต้องสร้างแบรนด์ดิ้ง ใช้เศรษฐกิจสร้างสรรค์ และอีกขาคือ การดันอุตสาหกรรมไฮเทค ซึ่งรัฐต้องปรับมาทำเชิงรุก มีแพ็คเกจตรงตามความต้องการของนักลงทุนในอุตสาหกรรมเป้าหมาย เพื่อให้เกิดการถ่ายทอดเทคโนโลยีที่ชัดเจน”
ปรับกลไกภาครัฐช่วยขับเคลื่อน
การผลักดันนโยบายของพรรคก้าวไกลทั้งหมด “ศิริกัญญา” ยืนยันว่า จำเป็นต้องใช้กลไกภาครัฐมาเป็นกลไกหลักในการขับเคลื่อน ซึ่งจำเป็นต้องปรับโครงสร้างให้เหมาะสม เพื่อทำรากฐานให้มั่นคง หยุดแช่แข็งชนบทไทย ทลายทุนผูกขาด ยกเลิกกฎหมายที่ไม่จำเป็นให้กลุ่มเอสเอ็มอี และส่งเสริมอุตสาหกรรมใหม่
โดยกลไกภาครัฐที่จะต้องเข้ามาขับเคลื่อนเศรษฐกิจมี 3 ส่วนสำคัญ นั่นคือ
1.งบประมาณ แน่นอนว่า งบประมาณมีปัญหาในตัวเอง และเป็นตัวที่สามารถแก้ไขปัญหาอื่น ๆ ให้ดีได้เช่นกัน โดยต้องเริ่มจากการจัดสรรงบประมาณให้ตรงจุด เพราะงบประมาณบางส่วนถูกใส่ไปมากมายโดยที่ไม่ได้แก้ที่รากฐาน เช่น ภาคเกษตร และชนบทไทย มีการใช้เงินไปกับการอุดหนุนสินค้าเกษตรจำนวนมาก แต่เรื่องที่ดินกลับไม่ได้รับการแก้ไข และก็ไม่ได้ใช้งบประมาณอะไรมาก เพื่อเปิดโอกาสให้ประชาชนมีอาชีพและมีรายได้
ดังนั้นหากพรรคก้าวไกลเป็นรัฐบาลเรื่องแรกเกี่ยวกับงบประมาณที่จะต้องดูทันทีเลยก็คือ งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2567 ซึ่งจะต้องมีการทบทวนใหม่แน่นอน เพราะงบที่จัดทำนั้นไม่มีทางตอบโจทย์รัฐบาลใหม่แน่ ๆ และการใช้งบคงจะล่าช้าออกไปจากวันที่ 1 ตุลาคม 2566 แน่นอน
2.กฎระเบียบ ปัจจุบันมีกฎระเบียบหลายอย่างของทางภาครัฐที่เป้นอุปสรรคต่อประชาน และภาคธุรกิจ โดยเฉพาะเอสเอ็มอีหลายอย่าง เช่น การจัดสรรที่ดินทำกิน ที่เห็นได้ชัด หากปลดล็อกได้เร็วก็สามารถช่วยเหลือกลุ่มที่เดือดร้อนได้เร็วด้วย และสิ่งที่สำคัญอีกอย่างที่พรรคก้าวไกลพร้อมจะลงมือทำทันที นั่นคือ การยกเลิกกฎหมายที่ไม่จำเป็นและเป็นอุปสรรคต่อการประกอบธุรกิจ
3.ปรับรูปแบบวิธีการบริหารจัดการภาครัฐ ปัจจุบันภาครัฐมีประสิทธิภาพต่ำจนคนเลิกหวัง เราต้องการรัฐที่มีความสามารถมากขึ้น แต่ไม่ใช่รัฐที่มีขนาดใหญ่ขึ้น เช่น การดึงดูดอุตสาหกรรมเป้าหมายใหม่ อาจต้องปรับกฎหมายของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เพื่อดึงนักลงทุนในอุตสาหกรรมที่ประเทศต้องการจริงมีสิทธิประโยชน์อื่น ๆ หรือทำงานแบบข้ามหน่วยงาน เพื่อให้การส่งเสริมมีแพ็คเกจดี ๆ ที่โดนใจนักลงทุน เป็นต้น
ดันนโยบายสวัสดิการก้าวหน้า
นโยบายหนึ่งที่พรรคก้าวไกลหยอบมาใช้ในการหาเสียง และพร้อมผลักดันให้ออกมาเป็นหนึ่งในนโยบายสำคัญให้ได้ นั่นคือ “สวัสดิการก้าวหน้า” ตั้งแต่เกิดจนตาย โดยรองหัวหน้าพรรคก้าวไกล ยอมรับว่า ที่ผ่านมานโยบายบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ สุดท้ายแล้วต้องผ่านการคัดกรองมาก แถมยังได้ไม่ตรงคนที่ควรจะได้ ดังนั้นพรรคจึงปรับรูปแบบให้เป็นสวัสดิการถ้วนหน้าจะเกิดผลที่ดีกว่า
สำหรับนโยบายด้านสวัสดิการตั้งแต่เกิดจนตาย ใช้เงินประมาณ 6.5 แสนล้านบาท เช่น ของขวัญแรกเกิด 3,000 บาท เงินเด็กเล็กเดือนละ 1,200 บาท เรียนฟรี ค่าแรงขั้นต่ำปรับขึ้นทุกปี เริ่มต้นวันละ 450 บาท ประกันสังคมถ้วนหน้า เงินผู้สูงวัยและคนพิการเดือนละ 3,000 บาท เติมเน็ตฟรี 1GB ต่อเดือน วัยทำงานมีช่วยเงินค่าเช่าบ้านเดือนละ 1,000 บาทน หรือผ่อนบ้านที่คนจนผ่อนไม่ได้ โดยรัฐจะช่วยผ่านเดือนละ 2,500 บาทต่อเดือน เป็นต้น
ส่วนแหล่งรายได้ที่จะนำมาใช้เติมสวัสดิการ มีดังนี้ ลดขนาดกองทัพ เรียกคือนธุรกิจกองทัพ ลดงบกลาง ลดโครงการที่ไม่จำเป็น เงินปันผลรัฐวิสาหกิจ เก็บภาษีความมั่งคั่งจากคนรวยที่มีทรัพย์สินเกิน 300 ล้านบาท เก็บภาษีที่ดินรายแปลงและรวมแปลง เก็บภาษีนิติบุคคลทุนใหญ่ ปฏิรูปสิทธิประโยชน์บีโอไอ เพิ่มประสิทธิภาพจัดเก็บภาษี รวมถึงการทำหวยบนดิน
“งบประมาณที่จะเอามาใช้ทำสวัสดิการก้าวหน้า หลายคนกังวลว่าเป็นภาระทางการคลังหรือไม่ เราก็บาลานซ์โดยจะหาเงินมาใช้ในส่วนนี้ได้ โดยมาจาก งบประมาณ ต้องจัดสรรให้ดี มีประสิทธิภาพ รีดไขมันออก ตัดงบกลาง ควบคู่การเก็บภาษีให้มีประสิทธิภาพ ไม่ให้รั่วไหล ซึ่งเงินเหล่านี้จะเอาไปใช้กับเรื่องพื้นฐานของประเทศที่สำคัญทั้งนั้น”
นอกจากนี้ยังต้องกระจายอำนาจ เนื่องจากท้องถิ่นมีศักยภาพมหาศาลที่จะระเบิดพลังทางเศรษฐกิจ โดยต้องเติมงบประมาณ อำนาจและทรัพยากร ไม่ให้ท้องถิ่นถูกแช่แข็ง แต่จะเป็นตัวจุดพลังทางเศรษฐกิจไทยให้กลับมา สร้างงานในทุกพื้นที่ทั่วประเทศด้วย