นายกีรติ รัชโน ปลัดกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยถึงสถานการณ์การส่งออกในเดือนเม.ย.2566 ว่ายังคงติดลบต่อเนื่องนับตั้งแต่เดือนเดือนม.ค.-เม.ย. ซึ่งเป็นการติดลบทั้งส่งออก นำเข้า และดุลการ โดยส่งออก 4 เดือน ติดลบ5.2% มีมูลค่า 92,003.3 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน การนำเข้า มีมูลค่า 96,519.3 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ติดลบ2.2%
ส่งผลให้ไทยขาดดุลการค้า 4,516ล้านดอลลาร์สหรัฐ ในขณะที่เฉพาะเดือนเม.ย.ส่งออกของไทยติดลบ7.6%ต่อเนื่องเป็นเดือนที่7 มีมูลค่า 21,723.2 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หากหักสินค้าเกี่ยวเนื่องกับน้ำมัน ทองคำ และยุทธปัจจัย ติดลบที่ 6.8% ส่วนการนำเข้าติดลบ7.3% มูลค่า23,195 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ส่งผลให้ดุลการค้าไทยติดลบ1,471ล้านดอลลาร์สหรัฐ
สาเหตุความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจโลกที่ไปกดดันอุปสงค์ด้านการส่งออก หลายประเทศในภูมิภาคเอเชียยังคงเผชิญกับการส่งออกที่ชะลอตัว แม้ว่าปัจจัยด้านเงินเฟ้อจะชะลอลง แต่ความเปราะบางของภาคธนาคารในสหรัฐฯ และยุโรป กดดันให้เศรษฐกิจโลกมีแนวโน้มชะลอตัวมากขึ้น โดยการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมยังคงลดลงตามความกังวลต่อภาวะเศรษฐกิจโลกและราคาพลังงาน ตรงข้ามกับสินค้าเกษตรที่ขยายตัวได้ดี
โดยการส่งออกผลไม้ทำรายได้สูงสุดเป็นประวัติการณ์ รวมถึงข้าว ไก่สด แช่เย็น แช่แข็ง ยังคงขยายตัวต่อเนื่อง ส่วนการส่งออกไปยังตลาดเป้าหมายขยายตัวในระดับที่น่าพอใจ โดยเฉพาะตลาดจีนที่เป็นตลาดส่งออกอันดับสองของไทยกลับมาขยายตัวสูงถึง 23%
อย่างไรก็ตามการที่ไทยติดลบต่อเนื่องในเดือนเม.ย.หากเทียบกับประเทศที่มีมูลค่าการส่งออกสูง อย่าง อินโดนีเซียทีติดลบ29% เวียดนามติดลบ16.2% สิงคโปร์ติดลบ16% เกาหลีใต้ติดลบ14.3% และไต้หวันติดลบ13.3% ขณะที่4เดือนอินโดนีเซียทีติดลบ7.6% เวียดนามติดลบ12.9% สิงคโปร์ติดลบ8% เกาหลีใต้ติดลบ13% และไต้หวันติดลบ17.7% ซึ่งของไทยถือว่ายังติดลบต่ำกว่าประเทศที่มีการส่งออกเป็นดับต้นๆ
ทั้งนี้สาเหตุที่ไทยติดลบต่อเนืองนอกจากการที่ประเทศคู่ค้ามีโอเวอร์สต็อกจำนวนมากแล้ว การส่งออกสินค้าเกษตรและและอุตสาหกรรมเกษตร บางรายการติดลบต่อเนื่อง เช่น ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง ยางพารา อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป ไขมันและน้ำมันจากพืชและสัตว์ อาหารสัตว์เลี้ยง เป็นต้น เช่นเดียวกับสินค้าอุตสาหกรรมที่ติดลบ11.2% ต่อเนื่อง 7 เดือน เช่น สินค้าที่เกี่ยวเนื่องกับน้ำมัน เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์ และส่วนประกอบ เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ อัญมณีและเครื่องประดับ (ไม่รวมทองคำ) เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ ส่งผลให้ 4 เดือนแรกของปี 2566 การส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมติดลบ 7.1%
“กระทรวงพาณิชย์มั่นใจว่าไตรมาส3จนถึงไตรมาส4ตัวเลขการส่งออกจะกลับมาดีขึ้น สาเหตุที่เดือนนี้ส่งออกติดลบเพราะฐานของปีก่อนสูงซึ่งเป้าทำงานส่งออกของกระทรวงยังคงที่1-2% หรือเฉลี่ยต่อเดือนที่24,000ล้านดอลลาร์สหรัฐ และหากประเทศคู่ค้าสามารถระบายสต็อคหมดเร็วก็น่าจะทำให้มีออเดอร์กลับมาในช่วงเดือนก.ค.เป็นต้นไป”