นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า สนค. ร่วมกับสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) จัดทำแดชบอร์ดสินค้าเกษตร ภายใต้นโยบายเกษตรผลิต พาณิชย์ตลาด ล่าสุด ได้เผยแพร่แดชบอร์ดกุ้งขาวแวนนาไม (กุ้งขาว) โดยรวบรวมข้อมูลตั้งแต่การผลิต ราคา ตลาดส่งออกของไทย และโอกาสในการขยายการส่งออก ซึ่งผู้สนใจสามารถเข้าถึงข้อมูลผ่านเว็บไซต์ www. คิดค้า .com
โดยในปี 2565 ไทยมีผลผลิตกุ้งขาวประมาณ 2.4 แสนตัน ลดลง 0.07% จากปีก่อนหน้า มีพื้นที่เพาะเลี้ยงทั่วประเทศกว่า 2.7 แสนไร่ และมีจำนวนฟาร์ม 22,336 แห่ง ผลผลิตส่วนใหญ่มาจากภาคใต้ ( 62.34% ของผลผลิตทั้งประเทศ) รองลงมา คือ ภาคตะวันออก 25.06% และภาคกลาง 12.60%
สำหรับ 3 จังหวัดแรก ที่มีผลผลิตสูงสุด คือ สุราษฎร์ธานี ปริมาณ40,950 ตัน ฉะเชิงเทรา ปริมาณ20,356 ตัน และตรัง ปริมาณ18,740 ตัน ส่วนจังหวัดที่มีพื้นที่เพาะเลี้ยงมากที่สุด คือ ฉะเชิงเทรา นครปฐม และจันทบุรี ตามลำดับ สำหรับในช่วง 3 เดือนแรกของปี 2566 มีผลผลิตกุ้งขาวทั่วประเทศ ประมาณ 4.5 หมื่นตัน ลดลง 2.14% เทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน
ด้านราคา พบว่าในช่วง 3 เดือนแรกของปี 2566 ราคาเฉลี่ยกุ้งขาวของไทยที่เกษตรกรขายได้ (ขนาด 51-60 ตัว/กิโลกรัม) อยู่ที่ 175.6 บาท/กิโลกรัม ซึ่งราคากุ้งปากบ่อของประเทศผู้นำตลาด (ขนาด 50 ตัว/กิโลกรัม) เช่น เอกวาดอร์ และอินเดีย มีราคาต่ำกว่าไทย (106.5 และ 137.5 บาท/กิโลกรัม ตามลำดับ) ขณะที่ เวียดนามมีราคาสูงกว่าไทย (180.3 บาท/กิโลกรัม)
ทั้งนี้พบว่าการส่งออกของไทย ในปี 2565 ไทยส่งออกกุ้งขาวและผลิตภัณฑ์ เป็นปริมาณ 98,800.1 ตัน คิดเป็นมูลค่า 1,072.0 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัว 83.4% จากปีก่อนหน้า แบ่งเป็น 3 กลุ่ม คือ กุ้งขาวมีชีวิต สด แช่เย็น และแช่แข็ง 576.91 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัว784% กุ้งขาวปรุงแต่งหรือทำไว้ไม่ให้เสีย ไม่บรรจุในภาชนะที่อากาศผ่านไม่ได้ 174.2 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ติดลบ 17.8% และ กุ้งขาวปรุงแต่งหรือทำไว้ไม่ให้เสีย บรรจุในภาชนะที่อากาศผ่านไม่ได้ 320.88 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัว 5.3%
ส่วนตลาดส่งออกสำคัญของไทย คือ สหรัฐอเมริกา มีสัดส่วน 27% ญี่ปุ่นมีสัดส่วน27% และจีน มีสัดส่วน 17.6% ของมูลค่าการส่งออกกุ้งขาวของไทย โดยมูลค่าการส่งออกกุ้งขาวไปสามประเทศดังกล่าว รวมกันมีสัดส่วนมากกว่า 70% ของมูลค่าการส่งออกกุ้งขาวทั้งหมดของไทย ทั้งนี้ หากเปรียบเทียบการส่งออกสินค้ากุ้งและผลิตภัณฑ์ของโลก ในปี 2564 โลกส่งออกเป็นมูลค่า 26,429.7 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ผู้ส่งออกสำคัญ 5 อันดับแรก ได้แก่ อินเดีย 21.7% ของมูลค่าการส่งออกของโลก เอกวาดอร์ 19.5% เวียดนาม 14.8% อินโดนีเซีย 8.4% จีน 7.5% โดยไทยเป็นอันดับ 6 ส่งออก 5.5%
อย่างไรก็ตามหากพิจารณามูลค่าการส่งออกของไทย พบว่ามากกว่า 50% เป็นการส่งออกในรูปแบบกุ้งขาวมีชีวิต สด แช่เย็น และแช่แข็ง ซึ่งเป็นเพียงการผลิตขั้นต้น ดังนั้น ไทยยังสามารถพัฒนาไปสู่การผลิตสินค้าเกษตรที่มีมูลค่าสูงขึ้น หลีกเลี่ยงการแข่งขันด้านราคา ซึ่งเอกวาดอร์ อินเดีย อินโดนีเซีย และเวียดนาม ส่วนใหญ่เป็นการส่งออกในรูปแบบกุ้งแช่แข็ง ขณะที่จีนส่งออกกุ้งปรุงแต่งในสัดส่วนที่มากกว่า และพบว่าราคาส่งออกเฉลี่ยของโลก (ข้อมูลปี 2563 ล่าสุด) ของสินค้า 3 กลุ่ม คือ กุ้งมีชีวิต สด แช่เย็น แช่แข็ง มีมูลค่า 6,972 ดอลลาร์สหรัฐ/ตัน กุ้งปรุงแต่งหรือทำไว้ไม่ให้เสีย ไม่บรรจุในภาชนะที่อากาศผ่านไม่ได้ มีมูลค่า 9,876 ดอลลาร์สหรัฐ/ตัน และ กุ้งปรุงแต่งหรือทำไว้ไม่ให้เสีย บรรจุในภาชนะที่อากาศผ่านไม่ได้ มีมูลค่า 10,628 ดอลลาร์สหรัฐ/ตัน
ทั้งนี้ ภาครัฐไทยกำหนดเป้าหมายเพิ่มผลผลิตกุ้งทะเลให้ได้ถึง 4 แสนตัน ในปี 2566 และให้ความสำคัญกับการแก้ปัญหาโรคระบาด การเข้าถึงสินเชื่อของเกษตรกร สร้างช่องทางการขาย และนำเทคโนโลยีมาใช้เพิ่มประสิทธิภาพการผลิต นอกจากนี้ สนค. เห็นว่า ผู้ประกอบการควรมุ่งผลิตสินค้าที่มีมูลค่าเพิ่มสูงขึ้น และไทยต้องเร่งพัฒนาสู่การเป็นประเทศชั้นนำด้านสินค้าเกษตรและเกษตรแปรรูปมูลค่าสูงต่อไป