นับเป็นครั้งแรกของประเทศไทยที่จะมี สถาบันข้อมูลขนาดใหญ่ หรือ “บิ๊กดาต้า” ของประเทศขึ้นมาอย่างเป็นทางการ ภายหลัง ราชกิจจานุเบกษา ได้ประกาศพระราชกฤษฎีกา จัดตั้งสถาบันข้อมูลขนาดใหญ่ (องค์การมหาชน) พ.ศ.2566 โดยให้ศูนย์รวมข้อมูลให้ทั้งภาครัฐ เอกชน เพื่อร่วมมือใช้ประโยชน์ และกำหนดนโยบายเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม
อีกทั้งยังทำให้เกิดการร่วมมือในข้อมูลขนาดใหญ่ของหน่วยงานของรัฐและเอกชนสำหรับการแก้ไขปัญหา การเพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินงาน และการให้บริการการตัดสินใจในการกำหนดนโยบายเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมด้วย
สำหรับการจัดตั้ง สถาบันข้อมูลขนาดใหญ่ (องค์การมหาชน) หรือ “บิ๊กดาต้า” ของประเทศไทย มีรายละเอียดที่น่าสนใจหลายประการ ฐานเศรษฐกิจ ขอรวบรวมและสรุปข้อมูลแบบเข้าใจง่าย ๆ ดังนี้
ชื่อของสถาบันข้อมูลขนาดใหญ่
การจัดตั้งองค์การมหาชนขึ้นครั้งนี้ ให้มีชื่อเรียกอย่างทางการว่า สถาบันข้อมูลขนาดใหญ่ (องค์การมหาชน) เรียกโดยย่อว่า “สขญ.” และให้ใช้ชื่อเป็นภาษาอังกฤษว่า Big Data Institute (Public Organization) เรียกโดยย่อว่า “BDI”
โดยให้สถาบันมีที่ตั้งสำนักงานใหญ่ในกรุงเทพมหานครหรือในจังหวัดอื่นตามที่รัฐมนตรีประกาศกำหนดในราชกิจจานุเบกษา และอาจตั้งสำนักงานสาขาได้ตามที่คณะกรรมการเห็นสมควร
วัตถุประสงค์ของสถาบันข้อมูลขนาดใหญ่
จัดทำยุทธศาสตร์เพื่อขับเคลื่อนการใช้ประโยชน์จากข้อมูลขนาดใหญ่ รวมทั้งส่งเสริม ประสาน และวิเคราะห์ข้อมูลขนาดใหญ่อย่างเป็นรูปธรรม เพื่อผลักดันให้เกิดการพัฒนาศักยภาพและยกระดับเศรษฐกิจและสังคมของประเทศให้เป็นไปอย่างยั่งยืน
ภารกิจของสถาบันข้อมูลขนาดใหญ่
การจัดตั้งสถาบันข้อมูลขนาดใหญ่ (องค์การมหาชน) มีหน้าที่สำคัญ คือ
1. จัดทำยุทธศาสตร์เกี่ยวกับการขับเคลื่อนการใช้ประโยชน์จากข้อมูลขนาดใหญ่ เพื่อผลักดันให้เกิดการพัฒนาศักยภาพและยกระดับเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ เพื่อเสนอต่อคณะรัฐมนตรี
2. ส่งเสริม ประสาน และให้บริการแก่หน่วยงานของรัฐและเอกชน เพื่อให้เกิดการใช้ประโยชน์จากข้อมูลขนาดใหญ่ ในการแก้ไขปัญหา เพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินงานและการให้บริการ หรือการตัดสินใจในการกำหนดนโยบาย เพื่อพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ
3. ให้บริการวิเคราะห์ข้อมูลขนาดใหญ่ รวมทั้งให้บริการคำปรึกษาหรือเป็นที่ปรึกษาด้านข้อมูลขนาดใหญ่และเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องแก่หน่วยงานของรัฐและเอกชน
4. ส่งเสริมหน่วยงานของรัฐและเอกชนในการสร้างนวัตกรรมด้านข้อมูลขนาดใหญ่และเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องให้มีมาตรฐานในระดับสากล เพื่อเพิ่มศักยภาพการบูรณาการและวิเคราะห์ข้อมูลขนาดใหญ่ของประเทศ
5. ส่งเสริม สนับสนุน และพัฒนาธุรกิจด้านการวิเคราะห์ และใช้ประโยชน์จากข้อมูลขนาดใหญ่ของประเทศ
6. ส่งเสริม สนับสนุน และพัฒนาองค์ความรู้และบุคลากรของประเทศด้านการวิเคราะห์ข้อมูลขนาดใหญ่
7. ดำเนินการอื่นเพื่อพัฒนาข้อมูลขนาดใหญ่ของประเทศตามที่กฎหมายกำหนดหรือคณะรัฐมนตรีมอบหมายเพื่อบูรณาการการใช้ประโยชน์จากข้อมูลขนาดใหญ่ สถาบันอาจเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อให้หน่วยงานของรัฐสนับสนุนการดำเนินงานของสถาบันหรือร่วมดำเนินการกับสถาบันตามมาตรานี้ได้
อำนาจหน้าที่ของสถาบันข้อมูลขนาดใหญ่
อำนาจหน้าที่ของสถาบันข้อมูลขนาดใหญ่ ได้กำหนดรายละเอียดไว้ทั้งสิ้น 10 ข้อเพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ ประกอบด้วย
ระยะแรกเริ่มของการตั้งสถาบันข้อมูลขนาดใหญ่
ให้โอนบรรดากิจการ ทรัพย์สิน สิทธิ หนี้ ภาระผูกพัน งบประมาณ และรายได้ของสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัลตามพระราชบัญญัติการพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม พ.ศ. 2560 เฉพาะในส่วนของสถาบันส่งเสริมการวิเคราะห์และบริหารข้อมูลขนาดใหญ่ภาครัฐ ที่มีอยู่ในวันก่อนวันที่พระราชกฤษฎีกานี้ใช้บังคับไปเป็นของสถาบันข้อมูลขนาดใหญ่ (องค์การมหาชน) ตามพระราชกฤษฎีกานี้
ในวาระเริ่มแรก ให้คณะกรรมการสถาบันข้อมูลขนาดใหญ่ ประกอบด้วย ปลัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เป็นประธานกรรมการ เลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ และผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล เป็นกรรมการ และให้ผู้อำนวยการสถาบันส่งเสริมการวิเคราะห์และบริหารข้อมูลขนาดใหญ่ภาครัฐ สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล เป็นกรรมการและเลขานุการ
ในวาระเริ่มแรก ให้ผู้อำนวยการสถาบันส่งเสริมการวิเคราะห์และบริหารข้อมูลขนาดใหญ่ภาครัฐ สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล ซึ่งดำรงตำแหน่งอยู่ในวันก่อนวันที่พระราชกฤษฎีกานี้ใช้บังคับ เป็นผู้อำนวยการสถาบันข้อมูลขนาดใหญ่ (องค์การมหาชน) ตามพระราชกฤษฎีกานี้จนกว่าจะมีการแต่งตั้งผู้อำนวยการตามพระราชกฤษฎีกานี้ ซึ่งต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน 120 วัน นับแต่วันที่พระราชกฤษฎีกานี้ใช้บังคับ หากยังไม่สามารถสรรหาได้ให้ขยายเวลาได้อีกไม่เกิน 60 วัน
ให้โอนบรรดาเจ้าหน้าที่ ลูกจ้าง และผู้ปฏิบัติงานของสถาบันส่งเสริมการวิเคราะห์และบริหารข้อมูลขนาดใหญ่ภาครัฐ ซึ่งปฏิบัติหน้าที่อยู่ในวันก่อนวันที่พระราชกฤษฎีกานี้ใช้บังคับ ไปเป็นเจ้าหน้าที่ ลูกจ้าง หรือผู้ปฏิบัติงานของสถาบันข้อมูลขนาดใหญ่ (องค์การมหาชน) ตามพระราชกฤษฎีกานี้ โดยให้ดำรงตำแหน่งเดิมและให้ได้รับเงินเดือนหรือค่าจ้าง รวมทั้งสิทธิประโยชน์ต่าง ๆซึ่งเคยได้รับอยู่ในวันก่อนวันที่พระราชกฤษฎีกานี้ใช้บังคับไปพลางก่อน
ทั้งนี้ จนกว่าจะได้รับการบรรจุและแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งตามพระราชกฤษฎีกานี้ และให้นับเวลาทำงานของบุคคลดังกล่าว เป็นเวลาทำงานต่อเนื่องกับเวลาทำงานในสถาบันข้อมูลขนาดใหญ่ (องค์การมหาชน) ตามพระราชกฤษฎีกานี้
ในระหว่างที่ยังไม่มีระเบียบ ข้อบังคับ ประกาศ หรือข้อกำหนดของสถาบันข้อมูลขนาดใหญ่ (องค์การมหาชน) ตามพระราชกฤษฎีกานี้ ให้นำระเบียบ ข้อบังคับ ประกาศหรือข้อกำหนดของสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัลตามพระราชบัญญัติการพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม พ.ศ. 2560 ที่ใช้บังคับอยู่ในวันที่พระราชกฤษฎีกานี้ใช้บังคับ มาใช้บังคับด้วยโดยอนุโลม
เมื่อสถาบันข้อมูลขนาดใหญ่ (องค์การมหาชน) ดำเนินการครบ 2 ปี นับแต่วันที่พระราชกฤษฎีกานี้ใช้บังคับ ให้คณะกรรมการพัฒนาและส่งเสริมองค์การมหาชน จัดให้มีการประเมินผลการดำเนินการของสถาบันข้อมูลขนาดใหญ่ (องค์การมหาชน) ว่า เกิดผลสัมฤทธิ์หรือมีความคุ้มค่าเมื่อเทียบกับภาระงบประมาณ เพื่อพิจารณาความจำเป็นหากต้องปรับเปลี่ยนเป็นองค์กรรูปแบบใหม่
เมื่อสถาบันข้อมูลขนาดใหญ่ (องค์การมหาชน) ด าเนินการครบ 5 ปี นับแต่วันที่พระราชกฤษฎีกานี้ใช้บังคับ ให้สำนักงาน ก.พ.ร. จัดให้มีการประเมินความคุ้มค่าตามตัวชี้วัดและค่าเป้าหมายที่ได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการพัฒนาและส่งเสริมองค์การมหาชน หากพิจารณาเห็นว่าไม่คุ้มค่าในการจัดตั้ง ให้สำนักงาน ก.พ.ร. เสนอรัฐมนตรีเพื่อยุบเลิกและโอนถ่ายภารกิจ ไปให้หน่วยงานอื่นต่อไป
อ่านรายละเอียด การจัดตั้งสถาบันข้อมูลขนาดใหญ่ (องค์การมหาชน)