รายงานข่าวจากกระทรวงคมนาคม เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ความคืบหน้าโครงการรถไฟทางคู่สายแม่สอด-ตาก-กำแพงเพชร-นครสวรรค์ ระยะทางรวม 250 กิโลเมตร (กม.) วงเงินลงทุน 108,498 ล้านบาท แบ่งเป็น ค่าก่อสร้าง 101,918 ล้านบาท ค่าจัดกรรมสิทธิ์ที่ดิน 3,895 ล้านบาท บาท และค่าจ้างที่ปรึกษาควบคุมงานก่อสร้าง 2,684 ล้านบาท
ปัจจุบันการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) อยู่ระหว่างเก็บรวบรวมและจัดทำข้อมูลแนวเขตที่ดินในรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ฉบับปรับปรุงเพื่อเสนอต่อสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) พิจารณา
หลังจากนั้นรฟท.จะเสนอรายงานฉบับดังกล่าวต่อคณะกรรมการผู้ชำนาญการพิจารณารายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (คชก.) ,คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ (กก.วล.) ,กระทรวงคมนาคม,สำนักงานสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) และคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาเห็นชอบตามลำดับ คาดว่าจะดำเนินการแล้วเสร็จภายในปี 2566
เริ่มประกวดราคาในปี 2567
รายงานข่าวจากกระทรวงคมนาคม กล่าวว่า โครงการรถไฟทางคู่สายแม่สอด-ตาก-กำแพงเพชร-นครสวรรค์ จะเริ่มประกวดราคาหาผู้รับจ้างภายในปี 2567 หลังจากนั้นจะเริ่มดำเนินการก่อสร้างภายในเดือนตุลาคม 2567 - กันยายน 2573 โดยใช้เวลาก่อสร้างประมาณ 6 ปี คาดว่าโครงการฯแล้วเสร็จ พร้อมเปิดให้บริการภายในปี 2573
ขณะที่ความคืบหน้าการเวนคืนที่ดินและอสังหาริมทรัพย์ของโครงการฯ ปัจจุบันอยู่ระหว่างดำเนินการกำหนดเวนคืนที่ดินและอสังหาริมทรัพย์ ประกอบด้วย ที่ดิน 2,166 แปลง คิดเป็น พื้นที่ถูกเขตทาง 7,203 ไร่ 2 งาน 41 ตารางวา (ตร.ว.) อาคารสิ่งปลูกสร้าง 249 หลัง คิดเป็นพื้นที่ถูกเขตทาง 30,315 ตารางเมตร (ตร.ม.)
รวมทั้งเสนอขอออกพระราชกฤษฎีกา (พ.ร.ฎ.) เวนคืนที่ดินต่อสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ภายในเดือนตุลาคม 2566 - กันยายน 2567 หลังจากนั้นจะเริ่มสำรวจอสังหาริมทรัพย์และจัดกรรมสิทธิ์ที่ดิน พร้อมขอใช้พื้นที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช และกรมป่าไม้ ภายในเดือนเมษายน 2567 - กันยายน 2569
เช็คแนวเส้นทางรถไฟทางคู่
สำหรับแนวเส้นทางของโครงการรถไฟทางคู่สายแม่สอด-ตาก-กำแพงเพชร-นครสวรรค์ ระยะทางรวม 250 กิโลเมตร (กม.)เริ่มต้นที่สถานีปากน้ำโพ และสิ้นสุดที่สถานีด่านแม่สอด แบ่งเป็น 2 ช่วง ได้แก่ ช่วงที่ 1 (นครสวรรค์ – กำแพงเพชร – ตาก) ระยะทาง 183 กิโลเมตร ประกอบด้วย ที่หยุดรถไฟ 8 แห่ง ได้แก่ บางตาหงาย, ตาขีด, ยางสูง, วังยาง, วังบัว, เทพนคร โกสัมพี,และวังหิน
ทั้งนี้ในช่วงที่ 1 (นครสวรรค์ – กำแพงเพชร – ตาก) มีสถานีทั้งหมด 15 แห่ง ประกอบด้วย สถานีบึงเสนาท, สถานีบ้านมะเกลือ,สถานีมหาโพธิ, สถานีเก้าเลี้ยว,สถานีเจริญผล,สถานีป่าพุทรา,สถานีวังแขม,สถานีท่ามะเขือ,สถานีคณฑี,สถานีกำแพงเพชร,สถานีหนองปลิง,สถานี ลานดอกไม้,สถานีวังเจ้า,สถานีหนองบัวใต้ และสถานีตาก โดยมีย่านกองเก็บสินค้า (CY) 2 แห่ง ประกอบด้วย สถานีหนองปลิงและสถานีหนองบัวใต้
ส่วนช่วงที่ 2 (ตาก – แม่สอด) ระยะทาง 67 กิโลเมตร (กม.) มีสถานีทั้งหมด 4 แห่ง ได้แก่ สถานีด่านแม่ละเมา,สถานีแม่ปะ ,สถานีแม่สอด และสถานีด่านแม่สอด มีอุโมงค์ จำนวน 4 แห่ง ระยะทางรวมประมาณ 29.7 กิโลเมตร (กม.) ประกอบด้วย อุโมงค์ดอยรวก ซึ่งเป็นอุโมงค์คู่ทางเดี่ยว ระยะทาง 15.5 กิโลเมตร (กม.) ,อุโมงค์ด่านแม่ละเมา 1 เป็นอุโมงค์เดี่ยวทางคู่ 1.4 กิโลเมตร (กม.) ,อุโมงค์ด่านแม่ละเมา 2 เป็นอุโมงค์เดี่ยวทางคู่ 0.8 กิโลเมตร (กม.) และอุโมงค์ดอยพะวอ เป็นอุโมงค์คู่ทางเดี่ยว 12 กิโลเมตร (กม.) โดยมมีย่านกองเก็บสินค้า (CY) และศูนย์ซ่อมบำรุง (Depot) 1 แห่ง คือ สถานีด่านแม่สอด
เส้นทางรถไฟสายใหม่เชื่อมตะวันออก-ตก
หากโครงการรถไฟทางคู่ สายแม่สอด - ตาก - กำแพงเพชร - นครสวรรค์ แล้วเสร็จจะมีแนวเส้นทางเชื่อมต่อกับรถไฟทางคู่ สายนครสวรรค์ - บ้านไผ่ และรถไฟทางสายใหม่ สายบ้านไผ่ – มุกดาหาร -นครพนม ทำให้เกิดแนวเส้นทางที่สมบูรณ์สอดคล้องกับแผนพัฒนาเส้นทางรถไฟสายใหม่เชื่อมตะวันออก -ตะวันตก (East-West Corridor) จากแม่สอด - นครพนม
ทั้งนี้จะช่วยเพิ่มขีดความสามารถด้านการขนส่งสินค้า ผู้โดยสาร และเพิ่มศักยภาพด้านการท่องเที่ยวของประเทศ ลดระยะเวลาประหยัดพลังงานเชื้อเพลิงที่ใช้ในภาคการขนส่งของประเทศ เพิ่มประสิทธิภาพของการขนส่งสินค้าและการเดินทางสาธารณะ ตลอดจนจูงใจให้ประชาชนใช้บริการทางรางมากขึ้นเพื่อลดอุบัติเหตุทางถนน