นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า เปิดเผยว่า ดัชนีราคาผู้บริโภคของไทย เดือนพฤษภาคม 2566 เท่ากับ 107.19 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน ซึ่งเท่ากับ 106.62 ส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อทั่วไป สูงขึ้นเพียง 0.53 % ชะลอตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 5 และต่ำสุดในรอบ 21 เดือน
โดย3สาเหตุสำคัญมาจากการลดลงของราคาน้ำมันเชื้อเพลิง และค่ากระแสไฟฟ้า รวมทั้ง ราคาสินค้าในหมวดอาหารชะลอตัวอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับฐานราคาที่ใช้คำนวณเงินเฟ้อเดือนพฤษภาคม 2565 อยู่ระดับสูง ทำให้อัตราเงินเฟ้อในเดือนนี้ชะลอตัวค่อนข้างมาก
ทั้งนี้เมื่ออัตราเงินเฟ้อของไทยเมื่อเทียบกับต่างประเทศ (ข้อมูลล่าสุดเดือนเมษายน 2566) พบว่า ไทยอยู่ในกลุ่มประเทศที่มีอัตราเงินเฟ้อระดับต่ำ และต่ำที่สุดในอาเซียน จาก 7 ประเทศที่ประกาศตัวเลข ทั้ง สปป.ลาว ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ อินโดนีเซีย มาเลเซีย และเวียดนาม
สำหรับการเคลื่อนไหวของราคาสินค้าและบริการ ดังนี้
หมวดอื่น ๆ ที่ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่ม ลดลง 1.83% (YoY) ตามการลดลงของราคาสินค้าสำคัญ อาทิ น้ำมันเชื้อเพลิงในกลุ่มดีเซล แก๊สโซฮอล์ และเบนซิน ค่ากระแสไฟฟ้า เครื่องรับโทรศัพท์มือถือ เครื่องรับโทรทัศน์ เครื่องปรับอากาศ เครื่องซักผ้า แป้งผัดหน้า หน้ากากอนามัย และค่าสมาชิกเคเบิลทีวี ส่วนสินค้าที่ราคาสูงขึ้น อาทิ ก๊าซหุงต้ม ค่าโดยสารสาธารณะ (เครื่องบิน แท็กซี่ จักรยานยนต์รับจ้าง รถเมล์เล็ก/สองแถว เรือ) ค่าการศึกษา สิ่งที่เกี่ยวกับทำความสะอาด (สารกำจัดแมลง น้ำยาล้างห้องน้ำ) และค่าบริการส่วนบุคคล (ค่าแต่งผมชาย/สตรี ค่าทำเล็บ)
ทั้งนี้เงินเฟ้อพื้นฐาน เมื่อหักอาหารสดและพลังงานออก สูงขึ้น 1.55% (YoY) ชะลอตัวต่อเนื่องจากเดือนเมษายน 2566 ที่สูงขึ้น 1.66% (YoY) ส่วนดัชนีราคาผู้บริโภคในเดือนนี้ เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า ลดลง 0.71% (MoM) ตามราคาสินค้าในหมวดอื่น ๆ ที่ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่ม ที่ลดลง 1.59%
โดยเฉพาะราคาพลังงาน ทั้งน้ำมันเชื้อเพลิงในกลุ่มดีเซล แก๊สโซฮอล์ เบนซิน ค่ากระแสไฟฟ้า และสิ่งที่เกี่ยวกับทำความสะอาด (ผงซักฟอก น้ำยาปรับผ้านุ่ม น้ำยาล้างห้องน้ำ) สำหรับสินค้าที่ราคาสูงขึ้น อาทิ โฟมล้างหน้า แป้งทาผิวกาย และสบู่ถูตัว ขณะที่ราคาสินค้า
ในหมวดอาหารและเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ สูงขึ้นเล็กน้อย 0.51% อาทิ ผักและผลไม้ (ผักชี ต้นหอม ผักคะน้า ส้มเขียวหวาน ทุเรียน มังคุด) ไข่ไก่ อาหารโทรสั่ง และเครื่องปรุงรส ส่วนสินค้าที่ราคาลดลง อาทิ เนื้อสุกร กระเทียม มะม่วง น้ำมันพืช และบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป สำหรับเงินเฟ้อเฉลี่ย 5 เดือนแรก (ม.ค. – พ.ค.) ปี 2566 เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน สูงขึ้น 2.96% (AoA)
แนวโน้มอัตราเงินเฟ้อเดือนมิถุนายน ปี 2566 คาดว่าจะชะลอตัวต่อเนื่อง หรือมีโอกาสหดตัวได้ ตามการลดลงของสินค้าในกลุ่มพลังงงาน โดยเฉพาะราคาน้ำมันเชื้อเพลิงที่มีแนวโน้มลดลงและอยู่ระดับต่ำกว่าเดือนเดียวกันของปีก่อนค่อนข้างมาก และค่ากระแสไฟฟ้าที่ปรับลดลงจากมาตรการช่วยเหลือของรัฐบาล ฐานราคาที่ใช้คำนวณเงินเฟ้อในเดือนมิถุนายน 2565 ค่อนข้างสูง ประกอบกับมาตรการลดค่าครองชีพ และการกำกับดูแลราคาสินค้าและบริการของหน่วยงานภาครัฐ ทั้งกระทรวงพาณิชย์และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องที่ดำเนินการอย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม
ความแปรปรวนของสภาพอากาศ อุปสงค์ในประเทศที่ปรับตัวดีขึ้น และต้นทุนการผลิตสินค้าและบริการยังอยู่ระดับสูง ทั้งราคาก๊าซหุงต้ม ค่าแรง และการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย อาจจะทำให้เงินเฟ้อมีโอกาสผันผวนได้บ้าง ซึ่งจะต้องติดตามอย่างใกล้ชิดต่อไป
ทั้งนี้ กระทรวงพาณิชย์คาดการณ์อัตราเงินเฟ้อทั่วไป ปี 2566 อยู่ที่ระหว่างร้อยละ 1.7 – 2.7 (ค่ากลาง 2.2) และหากสถานการณ์เปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญจะมีการทบทวนอีกครั้ง