รายงานข่าวจากการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) เปิดเผยว่า วันนี้ ( 9 มิ.ย.นี้) รฟม.และวิศวกรที่ปรึกษาอิสระ (ICE) พร้อมด้วย บริษัท อีสเทิร์น บางกอกโมโนเรล จำกัด (EBM) ผู้รับสัมปทานโครงการรถไฟฟ้ามหานครสายสีเหลือง จะร่วมกันลงพื้นที่เพื่อตรวจสอบความพร้อมของสถานีที่เหลือตั้งแต่สถานีหัวหมากไปถึงสถานีลาดพร้าว ว่าจะสามารถเปิดให้ประชาชนใช้บริการฟรีในช่วงการทดสอบเดินรถเสมือนจริง เพิ่มเติมอย่างไร
ทั้งนี้หลังจากเมื่อวันที่ 1 มิ.ย. 2566 ได้ร่วมกันตรวจสอบ และสรุปการเปิดให้ประชาชนทดลองใช้บริการฟรี ตั้งแต่วันที่ 3 มิ.ย. 2566 จำนวน 13 สถานีที่มีความพร้อม คือ จากสถานีสำโรง-สถานีหัวหมาก ส่วนสถานีที่เหลือ ทาง EBM ได้เร่งกระบวนการเก็บงานให้แล้วเสร็จโดยเร็ว
โดยเอกชนให้ความมั่นใจว่ามีความพร้อมในการขยายการเดินรถเพิ่มเติม เป็น 22 สถานีจากสถานีสำโรง-สถานีหัวหมาก-สถานีภาวนา ตั้งแต่วันที่ 12 มิ.ย. 2566 เป็นต้นไป รวมถึงขยายเวลาเดินรถเป็น 06.00-21.00 น. และคาดหมายว่าจะเปิดเดินรถถึงสถานีลาดพร้าว หรือครบ 23 สถานีตลอดสายได้ในวันที่ 19 มิ.ย. 2566 ส่วนเวลาอาจจะยังไม่มีการขยายเพิ่มเพราะยังเป็นช่วงทดสอบระบบ
ในวันที่ 19 มิ.ย.นี้ เวลา 10.00 น. พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี จะเป็นประธานในการเปิดโครงการรถไฟฟ้ามหานครสายสีเหลืองอย่างเป็นทางการ เบื้องต้นพลเอก ประยุทธ์ และคณะจะเดินทางไปยังศูนย์ซ่อมบำรุง ซึ่งตั้งอยู่บนถนนศรีนครินทร์ บริเวณทางแยกต่างระดับศรีนครินทร์ตัดกับถนนบางนา-ตราด ใกล้กับสถานีศรีเอี่ยม เพื่อรับฟังบรรยายสรุปของโครงการฯ จากนั้นคณะจะร่วมทดลองนั่งรถไฟฟ้าโมโนเรลสายสีเหลือง จากศูนย์ซ่อมบำรุง ผ่านสถานีศรีอุดม มุ่งหน้าสู่สถานีลาดพร้าว โดยขบวนรถไฟฟ้าจะรับ-ส่งผู้โดยสารระหว่างทางด้วยจากนั้นนายกฯ จะเป็นประธานในการเปิดให้ประชาชนได้ร่วมใช้บริการที่สถานีลาดพร้าว ซึ่งถือเป็นสถานีต้นทางของโมโนเรลสายสีเหลือง และเป็นขบวนแรกสายสีเหลือง ที่วิ่งทดสอบระบบตลอดสายลาดพร้าว-สำโรง จำนวน 23 สถานี
รายงานข่าวจากรฟม. กล่าวต่อว่า ความคืบหน้าการเปิดให้บริการเชิงพาณิชย์และเริ่มจัดเก็บค่าโดยสารนั้น นอกจากระบบจะต้องได้รับการรับรองความปลอดภัยจาก ICE แล้ว ในส่วนของ รฟม.ได้ดำเนินการคู่ขนานในเรื่องการกำหนดอัตราค่าโดยสารตามเงื่อนไขสัญญาที่กำหนดไว้ โดยมีการคำนวณตามอัตราดัชนีผู้บริโภค (CPI) ก่อนเปิดบริการ 90 วัน ซึ่งได้นำเสนอคณะกรรมการ (บอร์ด) รฟม.เห็นชอบเรียบร้อยแล้ว คาดว่าจะเสนอกระทรวงคมนาคมภายในสัปดาห์นี้เพื่อเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบ จากนั้น ประธานบอร์ด รฟม.จะเป็นผู้ลงนาม ตามข้อบังคับการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย ว่าด้วยการกำหนดอัตราค่าโดยสารรถไฟฟ้าและวิธีจัดเก็บฯ โดยจะต้องประกาศในราชกิจจานุเบกษาล่วงหน้าอย่างน้อย 1 วัน ก่อนมีผลบังคับใช้
สำหรับอัตราค่าโดยสาร เริ่มต้นที่ 15 บาท สูงสุด 45 บาท และตามนโยบายกระทรวงคมนาคม ในการเก็บค่าแรกเข้าครั้งเดียว สำหรับการเดินทางใช้บริการเชื่อมต่อโครงข่ายรถไฟฟ้า MRT ซึ่งสายสีเหลือง เชื่อมต่อกับ สายสีน้ำเงินที่สถานีลาดพร้าว เพื่ออำนวยความสะดวกและลดภาระค่าใช้จ่ายประชาชน โดยผู้โดยสารที่ใช้ระบบตั๋วร่วม EMV จะจ่ายค่าแรกเข้าเพียงครั้งเดียว โดยทาง EBM ได้ติดตั้งระบบหัวอ่านรองรับจำนวน 1 ช่อง ในทุกสถานี และจะเริ่มใช้ได้เมื่อมีการเปิดเดินรถเชิงพาณิชย์ โดยระบบตั๋วร่วมจ่ายค่าแรกเข้าครั้งเดียวนี้จะไม่ครอบคลุมกรณีที่ใช้ตั๋วโดยสารแบบอื่น
"ตามเงื่อนไขของสัญญาสัมปทาน เอกชนจะต้องจัดทำระบบรองรับตั๋วร่วม EMV เพื่อเก็บค่าแรกเข้าครั้งเดียว ไม่มีการคิดค่าแรกเข้าซ้ำซ้อน แต่ยังไม่สามารถใช้บัตรโดยสาร MRT Plus เข้าไปแตะได้ เพราะระบบสายสีเหลืองไม่ได้ทำรองรับ"