สัญญาน้ำมันดิบ WTI ส่งมอบเดือนก.ค. ลดลง 1.15 ดอลลาร์ หรือ 1.66% ปิดที่ 68.27 ดอลลาร์/บาร์เรล
สัญญาน้ำมันดิบเบรนท์ (BRENT) ส่งมอบเดือนส.ค. ลดลง 1.09 ดอลลาร์ หรือ 1.47% ปิดที่ 73.20 ดอลลาร์/บาร์เรล
คณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงิน (FOMC) ของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) มีมติคงอัตราดอกเบี้ยระยะสั้นที่ระดับ 5.00-5.25% ในการประชุมเมื่อวานนี้ ซึ่งเป็นไปตามที่ตลาดคาดการณ์ไว้
อย่างไรก็ดี ในการคาดการณ์อัตราดอกเบี้ยนโยบาย (Dot Plot) เจ้าหน้าที่เฟดส่งสัญญาณปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.25% อีก 2 ครั้ง สู่ระดับ 5.6% ภายในสิ้นปีนี้
ฟิล ไฟนน์ นักวิเคราะห์จากบริษัท Price Group กล่าวว่า ราคาน้ำมันปรับตัวลงเนื่องจากตลาดมีปฏิกิริยาต่อการส่งสัญญาณขึ้นดอกเบี้ยเฟด โดยตลาดวิตกกังวลว่าการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยจะส่งผลให้อุปสงค์น้ำมันชะลอตัวลง นอกจากนี้ การปรับขึ้นดอกเบี้ยของเฟดจะส่งผลให้ดอลลาร์แข็งค่า ซึ่งจะทำให้ราคาสินค้าโภคภัณฑ์รวมถึงน้ำมันดิบนั้น มีราคาแพงขึ้นและไม่น่าดึงดูดใจสำหรับนักลงทุนที่ถือครองสกุลเงินอื่น ๆ
ตลาดยังได้รับแรงกดดันจากรายงานของสำนักงานสารสนเทศด้านการพลังงานของรัฐบาลสหรัฐ (EIA) ซึ่งระบุว่า สต็อกน้ำมันดิบสหรัฐพุ่งขึ้น 7.9 ล้านบาร์เรลในสัปดาห์ที่แล้ว สวนทางกับที่นักวิเคราะห์คาดว่าจะลดลง 500,000 บาร์เรล
ส่วนสต็อกน้ำมันเบนซินเพิ่มขึ้น 2.1 ล้านบาร์เรล มากกว่าที่นักวิเคราะห์คาดว่าจะเพิ่มขึ้นเพียง 460,000 บาร์เรล และสต็อกน้ำมันกลั่นซึ่งรวมถึงฮีตติ้งออยล์และน้ำมันดีเซล เพิ่มขึ้น 2.1 ล้านบาร์เรล มากกว่าที่นักวิเคราะห์คาดว่าจะเพิ่มขึ้น 1 ล้านบาร์เรล
กลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน (โอเปก) ประกาศคงตัวเลขคาดการณ์การขยายตัวของอุปสงค์น้ำมันทั่วโลกในปี 2566 พร้อมกับเตือนว่าเศรษฐกิจโลกเผชิญกับความไม่แน่นอนมากขึ้น และมีแนวโน้มที่จะขยายตัวในอัตราที่ชะลอลงในช่วงครึ่งหลังของปีนี้ เนื่องจากผลกระทบของเงินเฟ้อและภาวะอัตราดอกเบี้ยขาขึ้น
ทั้งนี้ โอเปกคาดการณ์ว่า อุปสงค์น้ำมันทั่วโลกในปี 2566 จะเพิ่มขึ้น 2.35 ล้านบาร์เรล/วัน หรือ 2.4% ซึ่งแทบจะไม่เปลี่ยนแปลงจากการคาดการณ์ในเดือนที่แล้วที่ระดับ 2.33 ล้านบาร์เรล/วัน