กรมโยธาฯแจงเหตุ โครงการระบบระบายน้ำท่วมชุมชนเมืองกาฬสินธุ์ ล่าช้า

18 มิ.ย. 2566 | 13:53 น.
อัปเดตล่าสุด :18 มิ.ย. 2566 | 14:02 น.

กรมโยธาธิการและผังเมือง แจงสาเหตุ โครงการก่อสร้างระบบระบายน้ำหลักแก้ปัญหาน้ำท่วมพื้นที่ชุมชนเมืองกาฬสินธุ์ล่าช้า สั่งเพิ่มคนงานเร่งแก้ไขความเดือดร้อนประชาชน

 

กรณีโครงการก่อสร้างระบบระบายน้ำหลักเพื่อบรรเทาปัญหาน้ำท่วมพื้นที่ชุมชนเมืองกาฬสินธุ์ จังหวัดกาฬสินธุ์ หมดระยะสัญญาโครงการมา 2 ปี ก็ยังสร้างไม่แล้วเสร็จ น้ำท่วมขังหนักกว่าเดิม ชาวบ้านจี้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งเข้ามาแก้ไขเรื่องนี้ด่วนนั้น นายพงศ์รัตน์ ภิรมย์รัตน์ อธิบดีกรมโยธาธิการและผังเมือง

ชี้แจงว่า โครงการก่อสร้างระบบระบายน้ำหลักเพื่อบรรเทาปัญหาน้ำท่วมพื้นที่ชุมชนเมืองกาฬสินธุ์ จังหวัดกาฬสินธุ์ ซึ่งมีเนื้องาน ได้แก่ ระบบระบายน้ำแบบท่อกลมความยาว 6,388 เมตร ระบบระบายน้ำแบบท่อเหลี่ยมความยาว 2,270 เมตร และอาคารชลศาสตร์ จำนวน 2 แห่ง

โดยมี หจก.ประชาพัฒน์ เป็นผู้รับจ้าง ผลงานก่อสร้างปัจจุบัน 57 %  โดยโครงการดังกล่าวได้รับการช่วยเหลือจากมาตรการช่วยเหลือค่าปรับจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID 19) ของกรมบัญชีกลาง เป็นผลให้ผู้รับจ้างได้รับการงดค่าปรับ จากวันที่หมดสัญญา จนถึงวันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2568 ประกอบกับผู้รับจ้างประสบปัญหาขาดสภาพคล่องจึงทำให้งานก่อสร้างล่าช้า

พงศ์รัตน์ ภิรมย์รัตน์

 

ก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2566 อธิบดีกรมโยธาธิการและผังเมือง ได้ลงพื้นที่ติดตาม เร่งรัด การดำเนินโครงการ โดยได้สั่งการเร่งรัดให้ผู้รับจ้างดำเนินโครงการฯ ให้แล้วเสร็จโดยเร็ว โดยให้เพิ่มมาตรการให้ผู้รับจ้างจัดทำแผนการดำเนินงานก่อสร้างเป็นรายสัปดาห์ เร่งดำเนินการในส่วนงานที่กระทบทำให้เกิดความเดือดร้อนต่อประชาชน และให้คณะกรรมการตรวจรับงานและผู้ควบคุมงาน ติดตามอย่างใกล้ชิด

เร่งติดตามแก้ปัญหา

 สำหรับปัญหาพื้นผิวถนนชำรุดและน้ำท่วมขังที่ส่งผลกระทบต่อประชาชนในขณะนี้ อธิบดีกรมโยธาธิการและผังเมือง พร้อมด้วย ผู้ว่าราชการจังหวัดกาฬสินธุ์ ได้สั่งการเร่งด่วนให้ผู้รับจ้างดำเนินการปรับพื้นผิวถนน เทคอนกรีตในจุดที่เป็นปัญหาต่าง ๆ

ขณะนี้ได้ดำเนินการแล้วเสร็จ พร้อมทั้งจัดส่งเจ้าหน้าที่ และเตรียมเครื่องสูบน้ำไว้คอยเฝ้าระวังน้ำท่วมในจุดต่าง ๆ ตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อช่วยเหลือประชาชนได้ทันท่วงที  รวมทั้งสั่งกำชับให้เพิ่มกำลังคน เร่งทำงานในส่วนที่ค้างให้แล้วเสร็จโดยเร็ว เพื่อลดผลกระทบต่อการสัญจรในชีวิตประจำวัน และไม่ก่อให้เกิดความเดือดร้อนต่อประชาชน

เร่งแก้ปัญหา