นายทศพล ทังสุบุตร อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า ในฐานะเลขานุการคณะกรรมการการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว เปิดเผยว่า เดือนมกราคม - พฤษภาคม 2566 คณะกรรมการฯ ได้มีการอนุญาตให้คนต่างชาติเข้ามาลงทุนประกอบธุรกิจในประเทศ จำนวน 274 ราย เป็นการลงทุนผ่านช่องทางการขอรับใบอนุญาตประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว จำนวน 87 ราย และการขอหนังสือรับรองการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว จำนวน 187 ราย เงินลงทุนทั้งสิ้น 45,392 ล้านบาท จ้างงานคนไทยรวม 2,999 คน
ชาวต่างชาติที่เข้ามาลงทุน 5 อันดับแรก ได้แก่ ญี่ปุ่น 63 ราย เงินลงทุน 15,873 ล้านบาท สหรัฐอเมริกา 48 ราย เงินลงทุน 2,456 ล้านบาท สิงคโปร์ 46 ราย เงินลงทุน 6,356 ล้านบาท จีน 19 ราย เงินลงทุน 11,479 ล้านบาท และ ฮ่องกง 12 ราย เงินลงทุน 2,991 ล้านบาท
รวมถึงมีการถ่ายทอดเทคโนโลยีอันเป็นองค์ความรู้เฉพาะด้านโดยตรงจากประเทศผู้เข้ามาลงทุนให้แก่คนไทย เช่น องค์ความรู้เกี่ยวกับการควบคุมแรงดันหลุมขุดเจาะปิโตรเลียม องค์ความรู้เกี่ยวกับการออกแบบระบบไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ในโครงการรถไฟฟ้า องค์ความรู้เกี่ยวกับการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานลม องค์ความรู้เกี่ยวกับวิธีการแก้ไขปัญหาในการใช้งานยางล้ออากาศยาน และองค์ความรู้เกี่ยวกับเทคโนโลยีการแก้ไขปัญหาเครื่องอัดอากาศ เป็นต้น
เมื่อเปรียบเทียบช่วงเวลาเดียวกันปี 2565 พบว่า การอนุญาตให้คนต่างชาติเข้ามาลงทุนประกอบธุรกิจในประเทศไทย เพิ่มขึ้น 37 ราย คิดเป็น16% มูลค่าการลงทุนลดลง 9,684 ล้านบาท และจ้างงานคนไทย 23 ราย โดยจำนวนนักลงทุนที่เข้ามาสูงสุดยังคงเป็นนักลงทุนญี่ปุ่น เช่นเดียวกับปี 2565
ธุรกิจที่ได้รับอนุญาตเดือนมกราคม - พฤษภาคม 2566 ส่วนใหญ่เป็นธุรกิจที่สอดคล้องกับการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ นโยบายการส่งเสริมการลงทุนเพื่อเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ
ส่วนการลงทุนในพื้นที่ EEC ของนักลงทุนต่างชาติ เดือนมกราคม - พฤษภาคม 2566 มีนักลงทุนต่างชาติสนใจลงทุนในพื้นที่ EEC จำนวน 48 ราย คิดเป็น 18% ของจำนวนนักลงทุนทั้งหมด โดยมีมูลค่าการลงทุนในพื้นที่ EEC จำนวน 9,442 ล้านบาท คิดเป็น 21% ของเงินลงทุนทั้งหมด เป็นนักลงทุนจากประเทศญี่ปุ่น 19 ราย ลงทุน 3,264
ล้านบาท จีน 9 ราย ลงทุน 752 ล้านบาท ฮ่องกง 3 ราย ลงทุน 2,920 ล้านบาท และประเทศอื่นๆ 17 ราย ลงทุน 2,506 ล้านบาท โดยธุรกิจที่ลงทุน เช่น บริการให้คำปรึกษาแนะนำด้านการบริหารจัดการกระบวนการผลิตในอุตสาหกรรมต่างๆ บริการทางวิศวกรรมและเทคนิค เช่น การออกแบบเครื่องจักร เครื่องกล เครื่องมือ และอุปกรณ์ บริการรับจ้างผลิตชิ้นส่วนพลาสติกสำหรับอุตสาหกรรมต่างๆ เป็นต้น เพื่อค้าส่งในประเทศ
ทั้งนี้ เฉพาะเดือนพฤษภาคม 2566 มีการอนุญาตให้คนต่างชาติประกอบธุรกิจในประเทศไทย จำนวน 57 ราย เป็นการลงทุนผ่านช่องทางการขอรับใบอนุญาตประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว จำนวน 18 ราย และการขอหนังสือรับรองการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว จำนวน 39 ราย เงินลงทุนทั้งสิ้น 6,690 ล้านบาท จ้างงานคนไทย 580 คน
ส่วนใหญ่เป็นนักลงทุนจากญี่ปุ่น สหรัฐอเมริกา และสิงคโปร์ รวมถึง มีการถ่ายทอดเทคโนโลยีอันเป็นองค์ความรู้เฉพาะด้านโดยตรงจากประเทศผู้เข้ามาลงทุนให้แก่คนไทย เช่น องค์ความรู้เกี่ยวกับการควบคุมแรงดันหลุมขุดเจาะปิโตรเลียม องค์ความรู้เกี่ยวกับการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานลม องค์ความรู้ในการใช้เครื่องจักรประกอบล้อรถยนต์และรถจักรยานยนต์ และองค์ความรู้เกี่ยวกับการใช้สารประกอบไฟโตเจนนิกเพื่อทดแทนการใช้ยาปฏิชีวนะ เป็นต้น