นายทศพล ทังสุบุตร อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่าประเทศไ ทยยังคงเป็นฐานการลงทุนที่สำคัญของนักลงทุยต่างชาติอย่างต่อเนื่อง โดยเห็นได้จากไตรมาสแรกปีนี้ (มกราคม - มีนาคม) มีการอนุญาตให้คนต่างชาติเข้ามาลงทุนประกอบธุรกิจในประเทศไทย ภายใต้พระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ศ.2542 จำนวน 174 ราย
ซึ่งเป็นการลงทุนผ่านช่องทางการขอรับใบอนุญาตประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว จำนวน 56 ราย และการขอหนังสือรับรองการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว จำนวน 118 ราย เม็ดเงินลงทุนทั้งสิ้น 33,048 ล้านบาท จ้างงานคนไทย 1,932 คน
โดยชาวต่างชาติที่เข้ามาลงทุน 5 อันดับแรก ได้แก่ ญี่ปุ่น 46 รายเงินลงทุน 12,172 ล้านบาท สิงคโปร์ 30 ราย เงินลงทุน 4,507 ล้านบาท สหรัฐอเมริกา 25 ราย เงินลงทุน 1,687 ล้านบาท จีน 10 ราย เงินลงทุน 10,987 ล้านบาท และสมาพันธรัฐสวิส 9 ราย เงินลงทุน 1,677 ล้านบาท
เมื่อเปรียบเทียบช่วงเวลาเดียวกันปี 2565 พบว่า มีการอนุญาตให้คนต่างชาติเข้ามาลงทุนประกอบธุรกิจในประเทศไทย เพิ่มขึ้น 28 ราย คิดเป็น 19% มูลค่าการลงทุนเพิ่มขึ้น 6,664 ล้านบาท และจ้างงานคนไทยเพิ่มขึ้น 246 ราย โดยจำนวนชาวต่างชาติที่เข้ามาลงทุนสูงสุด คือ ญี่ปุ่น เช่นเดียวกับปี 2565
ขณะที่การลงทุนในพื้นที่ EEC ของนักลงทุนต่างชาติ พบว่ามีนักลงทุนต่างชาติสนใจลงทุนในพื้นที่ EEC จำนวน 31 รายของการลงทุนทั้งหมด โดยมีมูลค่าการลงทุนในพื้นที่ EEC จำนวน 3,264 ล้านบาทของเงินลงทุนทั้งหมด เป็นนักลงทุนจากประเทศญี่ปุ่น 13 ราย ลงทุน 1,826 ล้านบาท จีน 5 ราย ลงทุน 529 ล้านบาท ไต้หวัน 3 ราย ลงทุน 37 ล้านบาท และประเทศอื่นๆ อีก 10 ราย ลงทุน 872 ล้านบาท
ธุรกิจที่ลงทุน เช่น บริการทางวิศวกรรมด้านการให้คำปรึกษาเกี่ยวกับธุรกิจวิศวกรรมยานยนต์ บริการทางวิศวกรรมและเทคนิค เช่น การออกแบบ และทดลองการใช้งานเครื่องอัดอากาศ และดำเนินการวิเคราะห์ทางวิศวกรรม เป็นต้น บริการรับจ้างผลิตชิ้นส่วนโลหะ และชิ้นส่วนพลาสติก เป็นต้น
ทั้งนี้ เฉพาะเดือนมีนาคม 2566 มีการอนุญาตให้คนต่างชาติประกอบธุรกิจในประเทศไทย จำนวน 61 ราย เป็นการลงทุนผ่านช่องทาง การขอรับใบอนุญาตประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว จำนวน 19 ราย และ การขอหนังสือรับรองการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว จำนวน 42 ราย เม็ดเงินลงทุนทั้งสิ้น 6,292 ล้านบาท จ้างงานคนไทย 281 คน ส่วนใหญ่เป็นคนต่างชาติจากญี่ปุ่น สหรัฐอเมริกา และสิงคโปร์