สมาคมการจัดการธุรกิจแห่งประเทศไทย (TMA) รายงานผลการจัดอันดับขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ จาก World Competitiveness Center ของสถาบันการจัดการนานาชาติ (IMD) สวิตเซอร์แลนด์ ประจำปี 2566
โดยในภาพรวมประเทศไทยมีอันดับความสามารถในการแข่งขันอยู่ที่อันดับ 30 จาก 64 เขตเศรษฐกิจทั่วโลก ปรับดีขึ้น 3 อันดับจากอันดับที่ 33 ในปีที่แล้ว โดยมีผลคะแนนสุทธิดีขึ้นจาก 68.67 มาอยู่ที่ 74.54 ในปีนี้
ทั้งนี้เมื่อพิจารณาปัจจัย 4 ด้านที่ใช้ในการจัดอันดับ ไทยมีขีดความสามารถในการแข่งขันดีขึ้นจากปีที่แล้วในทุกด้าน ไม่ว่าจะเป็น
โดยด้านสมรรถนะทางเศรษฐกิจ มีอันดับดีขึ้นมากที่สุดถึง 18 อันดับ ตามมาด้วย ด้านประสิทธิภาพของภาครัฐ และด้านประสิทธิภาพของภาคธุรกิจ ที่ต่างขยับอันดับดีขึ้น 7 อันดับ และด้านโครงสร้างพื้นฐาน ขยับดีขึ้น 1 อันดับ โดยมีประเด็นสำคัญในแต่ละด้าน ดังนี้
ด้านสมรรถนะทางเศรษฐกิจ
ภาพรวมอันดับดีขึ้นจากปี 2565 ถึง 18 อันดับ มาอยู่ที่อันดับ 16 ในปี 2566 สาเหตุหลักจากปัจจัยย่อยการลงทุนระหว่างประเทศ ที่ไทยอันดับดีขึ้นจากปีก่อนถึง 11 อันดับ จากอันดับ 33 ในปี 2565 มาอยู่ที่อันดับ 22 ในปีนี้ จากการที่ในปี 2565 นักลงทุนต่างชาติ มีการลงทุนในไทยรวมมูลค่ากว่า 128,774 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2564 ถึง 46,000 ล้านบาท หรือ 56%
โดยมีการลงทุนจากประเทศญี่ปุ่นสูงสุดถึง 39,515 ล้านบาท ตามด้วยสิงคโปร์ และสหรัฐอเมริกา และการค้าระหว่างประเทศ ที่ไทยอันดับดีขึ้นถึง 8 อันดับ จากปีก่อน มาอยู่ที่อันดับ 29 รวมถึงบริการและรายได้ที่เกี่ยวข้องอื่น ๆ มีการเปลี่ยนแปลงดีขึ้น จากการที่ไทยกลับมาเปิดประเทศ หลังวิกฤตโควิด19 ต้อนรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ ส่งผลให้ภาคธุรกิจท่องเที่ยวฟื้นตัว
ด้านประสิทธิภาพของภาครัฐ
ภาพรวมอันดับดีขึ้นจากปี 2565 ถึง 7 อันดับ มาอยู่ที่อันดับ 24 ในปี 2566 สาเหตุหลักจากปัจจัยย่อยกรอบการบริหารภาครัฐ และกฎหมายธุรกิจ ที่ทั้ง 2 ปัจจัยย่อยนี้ ไทยอันดับดีขึ้นจากปีก่อนถึง 7 อันดับ จากอันดับ 41 และ 38 ในปี 2565 มาอยู่ที่อันดับ34 และ 31 ตามลำดับในปีนี้
ด้านประสิทธิภาพของภาคธุรกิจ
ภาพรวมอันดับดีขึ้นจากปี 2565 ถึง 7 อันดับ มาอยู่ที่อันดับ 23 ในปี 2566 สาเหตุหลักจากปัจจัยย่อยผลิตภาพและประสิทธิภาพ ที่ไทยอันดับดีขึ้นจากปีก่อนถึง 9 อันดับ จากอันดับ 47 ในปี 2565 มาอยู่ที่อันดับ 38 ตามลำดับในปีนี้
ด้านโครงสร้างพื้นฐาน
ภาพรวมอันดับดีขึ้น 1 อันดับ จากปี 2565 มาอยู่ที่อันดับ 43 ในปี 2566 สาเหตุหลักจากปัจจัยย่อยโครงสร้างด้านเทคโนโลยี ที่ไทยอันดับดีขึ้นจากปีก่อนถึง 9 อันดับ จากอันดับ 34 ในปี 2565 มาอยู่ที่อันดับ 25 ตามลำดับในปีนี้
ไทยกับเขตเศรษฐกิจในกลุ่มภูมิภาคอาเซียน
จากเขตเศรษฐกิจในสมาชิกประชาคมอาเซียนรวม 10 เขตเศรษฐกิจ มีเพียง 5 เขตเศรษฐกิจ คือ ไทยอินโดนีเซีย มาเลเซีย สิงคโปร์ และฟิลิปปินส์ ที่ได้รับการจัดอันดับโดย IMD ซึ่งเขตเศรษฐกิจที่มีอันดับความสามารถในการแข่งขันสูงสุดของอาเซียนในปี 2566 คือสิงคโปร์อันดับ 4 รองลงมาคือ มาเลเซีย อันดับ 27 ไทย อันดับ 30 อินโดนีเซีย อันดับ 34 และฟิลิปปินส์ อันดับ 52 ตามลำดับ
นายกฯ ยินดีผลการจัดอันดับดีขึ้น
นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม รับทราบผลการจัดอันดับขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ โดยขอบคุณความร่วมมือจากทุกภาคส่วนที่ทำให้รัฐบาลทำงานได้อย่างเต็มที่เห็นผลสำเร็จอย่างเป็นรูปธรรมจากการจัดอันขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศนี้
ทั้งนี้ นายกฯ ยินดีที่ผลการจัดอันดับ 4 ปัจจัยหลักดีขึ้น ถือเป็นกำลังใจสำคัญที่สุดในการทำงาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งสมรรถนะในทางเศรษฐกิจ ที่สะท้อนทิศทางการดำเนินนโยบายที่สอดคล้อง เหมาะสมกับสถานการณ์ของรัฐบาล
อย่างไรก็ดี นายกฯ ดำเนินการเพื่อเสริมสร้างขีดความสามารถของประเทศ ยกระดับกำลังคนสมรรถนะสูง รวมทั้งพัฒนาประเทศอย่างสมดุลสู่ความยั่งยืนอย่างต่อเนื่อง เพื่อเสริมเกราะให้ประเทศพร้อมรับกับความท้าทายที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต