"ดีพร้อม" ดึงสาขาภาพยนตร์สู่ "Soft Power" ดันเศรษฐกิจกว่า 250 ล้าน

21 มิ.ย. 2566 | 07:18 น.
อัปเดตล่าสุด :21 มิ.ย. 2566 | 07:18 น.

"ดีพร้อม" ดึงสาขาภาพยนตร์สู่ "Soft Power" ดันเศรษฐกิจกว่า 250 ล้าน สร้างความแตกต่างผลิตเนื้อหาดึงดูดความสนใจของผู้บริโภค เกิดกระแสความนิยม และเกิดโมเดลธุรกิจที่สะท้อนภาพลักษณ์ใหม่ของประเทศ

นายใบน้อย สุวรรณชาตรี อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) หรือดีพร้อม เปิดเผยว่า ปี 2566 ดีพร้อมจะมุ่งเน้นการพัฒนาองค์ความรู้ ทักษะบุคลากรภาคอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ เพื่อยกระดับขีดความสามารถของผู้ประกอบการในการออกแบบและพัฒนาผลิตภัณฑ์ บรรจุภัณฑ์ และบริการทั้งการให้คำปรึกษาแนะนำเชิงลึก การใช้เทคโนโลยีหรือนวัตกรรมเข้ามาประยุกต์ 

รวมถึงการเชื่อมโยงเครือข่ายและสร้างโอกาสทางการตลาดเพื่อการเติบโตที่ก้าวกระโดดและยั่งยืนสู่เศรษฐกิจยุคใหม่ โดยตั้งเป้าหมายที่จะส่งเสริมและพัฒนาผู้ที่เกี่ยวข้องในอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ จำนวนไม่น้อยกว่า 250 กิจการ และพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ไม่น้อยกว่า 100 ผลิตภัณฑ์ โดยคาดว่าจะสามรถกระตุ้นเศรษฐกิจและสร้างมูลค่าเพิ่มให้เศรษฐกิจสร้างสรรค์ไม่น้อยกว่า 250 ล้านบาท 

ทั้งนี้ ที่ผ่านมาดีพร้อม ได้ดำเนินการยกระดับศักยภาพผู้ประกอบการอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ ด้วยการพัฒนาองค์ความรู้และทักษะบุคลากร การยกระดับขีดความสามารถของผู้ประกอบการ การนำความคิดสร้างสรรค์ นวัตกรรม และเทคโนโลยีมาประยุกต์ใช้ในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ บรรจุภัณฑ์ และบริการ  การผลิตเนื้อหา (Content) ที่สามารถดึงดูดความสนใจของผู้บริโภค 

โดยเฉพาะการส่งเสริมอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ในสาขาบันเทิง ภาพยนตร์ และละคร ซึ่งดีพร้อมได้ดำเนินโครงการส่งเสริมอุตสาหกรรมดีพร้อมผ่านบทละครเชิงสร้างสรรค์ เพื่อพัฒนาทักษะให้แก่นักเขียนบทละครหรือผู้ที่สนใจให้สามารถสอดแทรกเนื้อหาสะท้อนให้เกิดการสร้าง Soft Power และกระแสนิยม 

ดีพร้อม ดึงสาขาภาพยนตร์สู่ Soft Power ดันเศรษฐกิจกว่า 250 ล้าน

อีกทั้งยังเกิดการกระจายรายได้ไปยังผู้ประกอบการอุตสาหกรรมประเภทอื่น ๆ อาทิ อุตสาหกรรมเสื้อผ้าแฟชั่น อุตสาหกรรมอาหาร อุตสาหกรรมท่องเที่ยว และผลักดันให้เกิดการบริโภคและสร้างความต้องการให้สินค้าไทย ซึ่งจะสามารถลดปัญหาด้านผลิตผลล้นตลาด เกิดการกระตุ้นทางเศรษฐกิจและสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจสร้างสรรค์ในอนาคตต่อไป

นอกจากนี้ ยังได้ส่งเสริม พัฒนา และสนับสนุนอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ผ่านกิจกรรม/โครงการต่าง ๆ เพื่อยกระดับไปสู่การเป็นเศรษฐกิจสร้างสรรค์แบบ Next Gen ประกอบด้วย 

  • การส่งเสริมและพัฒนาธุรกิจเชิงสร้างสรรค์เตรียมความพร้อมสู่การเป็นผู้ประกอบการ SME ยุคใหม่ 
  • การเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันโดยนำความคิดสร้างสรรค์ นวัตกรรม และเทคโนโลยีมาประยุกต์ใช้ในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ บรรจุภัณฑ์ และบริการ เช่น การพัฒนาคุณภาพผลิตภัณฑ์สิ่งทอเข้าสู่มาตรฐานอุตสาหกรรม (DIPROM Thailand Textiles Tag) การพัฒนาผลิตภัณฑ์ (DIPROM Product Design) การพัฒนาบรรจุภัณฑ์อัจฉริยะสร้างสรรค์วิถีใหม่ (The Smart DIPROM Packaging : Smart DIPROM Pack) เป็นต้น 
  • การเชื่อมโยงเครือข่ายดีพร้อมและสนับสนุนปัจจัยเอื้ออุตสาหกรรมสร้างสรรค์ อาทิ การสร้างเครือข่ายนักออกแบบ การเชื่อมโยงเครือข่ายศูนย์ออกแบบและพัฒนาผลิตภัณฑ์ (DIPROM Thai-IDC) การเข้าถึงแหล่งเงินทุน การประกวดบรรจุภัณฑ์ไทย

รวมถึงยังมีการส่งเสริมและพัฒนาเศรษฐกิจแบบองค์รวมไปพร้อมกัน เพื่อให้สอดรับกับนโยบาย BCG Economy (Bio-Circular-Green Economy) หรือโมเดลเศรษฐกิจสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน ด้วยการเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์สร้างสรรค์ตามแนวทางเศรษฐกิจหมุนเวียน (Up-Cycling Up-Creation in Circular Economy) โดยการผลิต ออกแบบ และแปรสภาพวัสดุเหลือใช้จากการอุปโภคและบริโภคในท้องถิ่น 

และวัสดุรีไซเคิลอื่น ๆ ให้เป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ตามแนวทางเศรษฐกิจหมุนเวียน รวมถึงการต่อยอด พัฒนาวัสดุ และออกแบบผลิตภัณฑ์สร้างสรรค์ (DIPROM Cross Material Design) เพื่อส่งเสริมและพัฒนา SME ให้มีความคิดสร้างสรรค์ในการสร้างมูลค่าเพิ่มผลิตภัณฑ์และการออกแบบร่วมกันจนสามารถสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ใหม่ระหว่างธุรกิจ ก่อให้เกิดการสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจและตอบสนองความต้องการของตลาดได้

นายใบน้อย กล่าวอีกว่า จากกระแส Soft Power ได้สร้างชื่อเสียงให้กับประเทศไทยเป็นอย่างมากผ่านหลากหลายภาคอุตสาหกรรม ไม่ว่าจะเป็นอุตสาหกรรมบันเทิง อาหาร แฟชั่น ศิลปะการแสดง และการท่องเที่ยว นำมาซึ่งวลี “A Must Item” ของชาวต่างชาติเมื่อมาเยือนไทย อาทิ กางเกงช้าง ผัดไทย ข้าวเหนียวมะม่วง มวยไทย และจากการจัดอันดับ Global Soft Power Index 2022 ประเทศไทยจัดอยู่อันดับที่ 35 จาก 120 ประเทศทั่วโลก และอันดับที่ 6 ในเอเชีย 

ซึ่งสะท้อนถึงความพยายามและความสำเร็จก้าวแรกในการผลักดัน Soft Power ของไทย โดยกลไกขับเคลื่อนสำคัญ คือ การใช้ความคิดสร้างสรรค์ และเทคโนโลยี