นายวิษณุ ทับเที่ยง หัวหน้าผู้ตรวจกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า กรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) ได้ดำเนินการปรับปรุงกฎหมายฉบับล่าสุด คือประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม เรื่องการจัดการสิ่งปฏิกูลหรือวัสดุที่ไม่ใช้แล้ว พ.ศ. 2566 นำหลักการผู้ก่อมลพิษเป็นผู้จ่ายหรือเป็นผู้รับผิดชอบ (Polluter Pays Principle: PPP) มาใช้อย่างเต็มรูปแบบ
โดยกำหนดความรับผิดตั้งแต่ต้นทางโรงงานผู้ก่อกำเนิด ไปจนกว่าสิ่งปฏิกูลหรือวัสดุที่ไม่ใช้แล้วจะได้รับการจัดการจนแล้วเสร็จ ซึ่งจะมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2566 เป็นต้นไป
ทั้งนี้ ได้กำหนดให้โรงงานผู้ก่อกำเนิดของเสียทุกโรงงานต้องรายงานข้อมูลผ่านระบบการรายงานข้อมูลกลางของกระทรวงอุตสาหกรรม หรือ iSingle Form (https://isingleform.go.th/home) ซึ่งเป็นฐานข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data) ของกระทรวงฯ ที่ใช้ในการกำหนดนโยบาย การกำกับดูแลการประกอบกิจการโรงงาน การป้องกันและปราบปรามการลักลอบทิ้งกากอุตสาหกรรมที่สร้างความเดือดร้อนให้แก่ประชาชนและสิ่งแวดล้อม
โดยให้โรงงานต้องรายงานภายในกรอบระยะเวลาตามที่กฎหมายกำหนดคือ 30 มิถุนายน 2566 หากฝ่าฝืนไม่รายงานหรือรายงานล่าช้ามีโทษปรับสุงสุด 20,000 บาท
“การบริหารจัดการกากอุตสาหกรรม จำเป็นต้องใช้กฎหมายในการกำกับดูแลอย่างเข้มงวด และต้องมีการจัดการอย่างถูกต้องและเหมาะสมตามหลักวิทยาศาสตร์ เพื่อป้องกันไม่ให้ของเสียจากภาคอุตสาหกรรมหลุดออกจากระบบ อาจส่งผลกระทบกับชุมชนและสิ่งแวดล้อมในวงกว้าง ดังนั้น จึงต้องการแจ้งเตือนไปยังผู้ประกอบการที่ยังไม่ได้รายงานข้อมูลกากอุตสาหกรรม ให้เร่งดำเนินการภายในระยะเวลาที่กฎหมายกำหนด"
ซึ่งขณะนี้ประเทศไทยมีโรงงานผู้ก่อกำเนิดของเสียจำนวน 60,638 โรงงานทั่วประเทศ โดยมีโรงงานที่ยังไม่ได้รายงานข้อมูลกว่า 27,000 แห่ง จึงกำชับให้สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดอุตสาหกรรมทั่วประเทศ เร่งประสาน ติดตาม และเน้นย้ำให้ผู้ประกอบกิจการโรงงานรายงานข้อมูลการจัดการสิ่งปฏิกูลหรือวัสดุไม่ใช้แล้วผ่านระบบข้อมูลกลางของกระทรวงอุตสาหกรรม ภายในกรอบระยะเวลาตามที่กฎหมายกำหนด คือไม่เกินวันที่คือ 30 มิถุนายน 2566 นี้ ซึ่งหากไม่ปฏิบัติตามมีโทษปรับสูงสุด 20,000 บาท
นายวิษณุ กล่าวอีกว่า กระทรวงอุตสาหกรรม มีแนวทางควบคุมผู้ก่อกำเนิดของเสียภายใต้นโยบาย MIND ใช้หัวและใจ ปั้นอุตสาหกรรมคู่ชุมชน มุ่งสู่ความสำเร็จใน 4 มิติ ได้แก่ ความสำเร็จทางธุรกิจ การดูแลสังคม การดูแลรักษาสิ่งแวดล้อม การกระจายรายได้ให้กับชุมชน
และให้ความสำคัญในการยกระดับทุกองค์ประกอบของภาคอุตสาหกรรม ควบคู่กับการสร้างความเข้มแข็งและกระจายรายได้สู่ชุมชน เพื่อนำไปสู่เป้าหมายอุตสาหกรรมดี อยู่คู่กับชุมชนอย่างยั่งยืน โดยเฉพาะประเด็นการดูแลรักษาสิ่งแวดล้อมในมิติของการบริหารจัดการกากอุตสาหกรรม