นายไพโรจน์ โชติกเสถียร อธิบดีกรมการจัดหางาน เปิดเผยว่า เพื่อรองรับการฟื้นฟูเศรษฐกิจของประเทศ กรมได้ร่วมมือกับภาคเอกชนในการบริหารจัดการแรงงานต่างด้าวโดยเมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม 2566 คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบให้คนต่างด้าวที่มีสถานะไม่ถูกต้องตามกฎหมาย(แรงงานเถื่อน)อยู่ในราชอาณาจักรเป็นกรณีพิเศษและสามารถทำงานกับนายจ้างไปพลางก่อนได้ โดยไม่ต้องมีใบอนุญาตทำงาน จนถึงวันที่ 31 ก.ค. 2566
โดยให้นายจ้างดำเนินการยื่นบัญชีรายชื่อความต้องการจ้างแรงงานต่างด้าว พร้อมรูปถ่าย ต่อกรมการจัดหางาน ภายในวันที่ 31 ก.ค. 2566 โดยให้นายทะเบียนออกหลักฐานการยื่นบัญชีรายชื่อความต้องการจ้างแรงงานต่างด้าวให้แก่นายจ้าง และให้คนต่างด้าวใช้บัญชีรายชื่อดังกล่าว เป็นหลักฐานแสดงว่าคนต่างด้าวได้รับการผ่อนผันให้ทำงานได้ถึงวันที่ 31 ก.ค. 2566
ทั้งนี้กรมการจัดหางาน ดำเนินการแก้ไขปัญหาการขาดแคลนแรงงานมาอย่างต่อเนื่อง แต่ปัญหาการขาดแคลนแรงงานในภาคธุรกิจยังคงปรากฏอยู่ เนื่องจากคนต่างด้าว ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 5 ก.ค.2565 ที่ไม่ได้ยื่นคำขอต่ออายุใบอนุญาตทำงาน ภายในวันที่ 13 ก.พ. 2566 ซึ่งมีจำนวนประมาณ 500,000 คน ปัจจุบันกลายเป็นคนต่างด้าวที่มีสถานะไม่ถูกต้องตามกฎหมาย ซึ่งไม่สามารถอยู่ในราชอาณาจักรและทำงานได้
ในขณะที่นายจ้าง/สถานประกอบการ มีความต้องการจ้างแรงงานเพิ่มมากขึ้น ซึ่งบางส่วนจำเป็นต้องจ้างงานคนต่างด้าวที่การอนุญาตให้อยู่ในราชอาณาจักรสิ้นสุด หรือเข้าเมืองโดยไม่ถูกต้อง กระทรวงแรงงานจึงเสนอแนวทางการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าวที่มีสถานะไม่ถูกต้องตามกฎหมายให้คณะรัฐมนตรีพิจารณา เพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าว
“ถ้าแรงงานไปจดทะเบียนไม่ทันก็จะขอครม.รักษาการขยายเวลา และแรงงานเองสามารถขออนุญาติรับใบทำงาน เพื่อรอการขึ้นทะเบียนขออนุญาติทำงานต่อไป ส่วนแรงงานที่อยู่กับนายกจ้างก่อนมีประกาศของกระทรวงมหาดไทย 5ก.ค.66 ถ้ามาหลังถือว่าไม่เข้าหลักเกณฑ์การขึ้นทะเบียนในครั้งนี้ แรงงานมียนมามีประมาณ70% ส่วนที่เหลือเป็น ลาว กัมพูชา และอื่นๆ”
ด้านนายพจน์ อร่ามวัฒนานนท์ รองประธานกรรมการหอการค้าไทย และประธานคณะกรรมการแรงงานและพัฒนาฝีมือแรงงาน กล่าวว่า หอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย โดยคณะกรรมการแรงงานและพัฒนาฝีมือแรงงาน ได้รับข้อร้องเรียนถึงประเด็นปัญหาการขาดแคลนแรงงานจากสมาชิกผู้ประกอบการ สมาคมการค้าที่ใช้แรงงานเข้มข้นดังกล่าวมาอย่างต่อเนื่อง จึงได้มีการจัดประชุมหารือเพื่อหาแนวทางแก้ไขปัญหาและจัดทำข้อเสนอต่อรัฐบาลมาโดยตลอดเป็นระยะเวลา 6 เดือน (ตั้งแต่เดือนมกราคม-มิถุนายน 2566) ร่วมกับกระทรวงแรงงาน อย่างใกล้ชิด โดยมีความพยายามที่จะแก้ไขปัญหาและมุ่งเป้าหมายเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจของประเทศให้เป็นรูปธรรม
นายวิบูลย์ สุภัครพงษ์กุล กรรมการหอการค้าไทย และรองประธานคณะกรรมการแรงงานและพัฒนาฝีมือแรงงาน กล่าวว่า แนวทางการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าวที่มีสถานะไม่ถูกต้องตามกฎหมายตามมติคณะรัฐมนตรีที่กระทรวงแรงงานเสนอนั้น มีความสำคัญที่จะช่วยพลิกฟื้นเศรษฐกิจ ภาคธุรกิจอุตสาหกรรมการส่งออก และภาคธุรกิจอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของไทย ผมจึงขอเชิญชวนและประชาสัมพันธ์ผู้ประกอบกิจการที่ใช้แรงงานต่างด้าวทั่วประเทศ โปรดเร่งดำเนินการนำแรงงานต่างด้าวมาขึ้นทะเบียนให้ถูกต้อง