นายสุวิทย์ สรรพวิทยศิริ ผู้ช่วยผู้อำนวยการสถาบันวิจัยนโยบายเศรษฐกิจการคลัง (สวค.) เปิดเผยกับฐานเศรษฐกิจว่า สถานการณ์การเมืองในปัจจุบันไม่ว่าจะออกมายังไงก็มีผลต่อเศรษฐกิจไทยแน่นอน แม้ในกรณีการจัดตั้งรัฐบาลของ 8 พรรคร่วมจะเกิดขึ้นได้ตามไทม์ไลน์เดิมที่กำหนดไว้ แต่ส่วนตัวมองว่า การขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยจะไม่ราบรื่น เพราะการใช้จ่ายงบประมาณจะไม่สามารถทำได้เร็ว ส่งผลกระทบต่อโครงการลงทุนในช่วงครึ่งปีหลังต่อเนื่องถึงช่วงต้นปีหน้า
“มองว่าสถานการณ์การเมืองกับเศรษฐกิจตอนนี้อาการอาจจะไม่ค่อยดีนัก ต่อให้ตั้งรัฐบาลได้ 8 พรรค ก็เชื่อว่าการขับเคลื่อนจะไม่สมูทแน่นอน และมีความกังวลต่อการใช้จ่ายลงทุนรัฐ ซึ่งเดิมก็มีความกังวลอยู่แล้ว”
ส่วนการประเมินภาพรวมเศรษฐกิจไทยในปี 2566 ในกรณีที่แย่สุดเศรษฐกิจไทยจะขยายตัวได้เพียงแค่ 3% หรืออย่างดีก็ 3.2-3.3% เท่านั้น ยังต่ำกว่าศักยภาพที่แท้จริงของเศรษฐกิจที่จะต้องโตได้ไม่ต่ำกว่า 5% แต่จะค่อย ๆ ปรับดีขึ้นในปีหน้าไปอยู่ที่ 4.2%
โดยประเด็นที่เป็นข้อกังวลคือ เศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าของไทยมีสัญญาณชะลอตัวชัดเจน โดยเฉพาะประเทศจีน ซึ่งเป็นผลพวงมาจากสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ-จีนที่เกิดขึ้นมาก่อนหน้านี้ และจะกระทบต่อการส่งออกของไทยแน่นอน
เช่นเดียวกับภาคการท่องเที่ยว ขณะนี้เริ่มเห็นสัญญาณนักท่องเที่ยวจีนอาจไม่มาตามคาด แม้ว่าจะมีจำนวนเที่ยวบินปรับเพิ่มขึ้น ส่วนกรณีของเศรษฐกิจโลกที่ขยายตัวช้านั้น ก็ยังเป็นปัจจัยสำคัญ แถมยังมีสัญญาณของดอกเบี้ยขาขึ้นแล้วค้างนาน ซึ่งถ้าเป็นไปในลักษณะนี้จะส่งผลกระทบต่อประสิทธิภาพของนโยบายการคลังของประเทศ อีกอย่างยังมีปัญหาเงินเฟ้อที่ชะลอตัวในช่วงครึ่งปีหลังซึ่งเป็นเรื่องที่ยังวางใจไม่ได้ด้วย โดยทั้งปี 2566 ประเมินว่าเงินเฟ้อจะอยู่ที่ 3.02%
นายสุวิทย์ กล่าวว่า แม้ว่าปัจจัยลบจากเศรษฐกิจโลก การส่งออก และการท่องเที่ยว จะกระทบกับเศรษฐกิจไทยในปีนี้ แต่ก็ยังพอมีสัญญาณอื่นที่ดี คือ การลงทุนจากต่างประเทศ หลังจากพบตัวเลขยืนยันจากทางสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน และ สำนักงาน อีอีซี รายงานข้อมูลล่าสุด มีตัวเลขการลงทุนของนักลงทุนจากจีนเพิ่มขึ้น
โดยเฉพาะอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า หรือ EV และการลงทุนอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ จากไต้หวัน ซึ่งน่าจะเป็นการเข้าสู่ทศวรรษที่เปลี่ยนไปของจีนเหมือนกับญี่ปุ่น ที่ค่อย ๆ ถอนการลงทุนจากจีนเข้าสู่ภูมิภาคอื่น
แหล่งข่าวจากกระทรวงการคลัง กล่าวกับฐานเศรษฐกิจว่า เศรษฐกิจไทยในช่วงครึ่งปีหลัง จะเป็นอย่างไรขึ้นอยู่กับว่าการจัดตั้งรัฐบาลจะเกิดขึ้นเร็วหรือไม่ เพราะหากตั้งรัฐบาลช้าจะทำให้การเบิกจ่ายงบประมาณในโครงการต่าง ๆ ล่าช้าและมีข้อจำกัด ขณะเดียวกันเศรษฐกิจไทยยังได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจโลกชะลอตัว จนส่งผลกระทบต่อการส่งออก
เบื้องต้นคลังประเมินว่า เศรษฐกิจไทยทั้งปี น่าจะขยายตัวได้เพียง 3% โดยในช่วงไตรมาสที่ 2 ของปีนี้ คาดว่า จะขยายตัวประมาณ 2.5% ไตรมาสที่ 3 ขยายตัว 3.3% และไตรมาสที่ 4 ขยายตัวได้ 3.6%
“เศรษฐกิจไทยในช่วงครึ่งปีหลังเทียบกับครึ่งปีแรกมีความเสี่ยงว่าจะติดลบ คือโตต่ำกว่าครึ่งปีแรก เพราะว่ามีปัจจัยเสี่ยงทั้งการส่งออก และการเบิกจ่ายงบประมาณที่ช้ากว่ากำหนด โดยเฉพาะในช่วงไตรมาสสุดท้ายจะเป็นไตรมาสที่น่ากังวลมากที่สุด เพราะไม่มีงบลงทุนใหม่ลงไปขับเคลื่อนเศรษฐกิจ แม้ว่าจะประเมินเอาไว้ว่าจะโต 3.8% แต่เป็นการโตจากฐานที่ต่ำในปีก่อน โดยฝากความหวังเอาไว้ที่ตัวเลขนักท่องเที่ยวจะช่วยประคองเศรษฐกิจ คาดว่า ทั้งปีจะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้าประเทศไทยประมาณ 28-30 ล้านคน”
ทั้งนี้จากการพิจารณาประมาณการเศรษฐกิจของสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง เกี่ยวกับการรายละเอียดด้านรายจ่ายเพื่อการบริโภคขั้นสุดท้ายของภาคเอกชน ณ ไตรมาสแรกปี 2566 พบว่า หลังจากผ่านช่วงการระบาดของไวรัสโควิดมาแล้ว แต่การบริโภคภาคเอกชนในสาขาต่าง ๆ ยังไม่กลับเข้าสู่ช่วงภาวะปกติ โดยเฉพาะด้านการขนส่ง ซึ่งยังมีค่าดัชนีอยู่แค่ระดับ 87.4 เท่านั้น ส่วนสาขาอื่น ๆ เช่น อาหาร ภัตตาคาร ที่อยู่อาศัย ก็ยังทรงตัว