thansettakij
“ไทย-อียู” ถกเข้ม เตรียมเจรจา FTA  รอบแรกก.ย.นี้ เล็งปิดดีลปี 68

“ไทย-อียู” ถกเข้ม เตรียมเจรจา FTA รอบแรกก.ย.นี้ เล็งปิดดีลปี 68

19 ก.ค. 2566 | 04:46 น.
อัปเดตล่าสุด :19 ก.ค. 2566 | 04:50 น.

“ไทย-อียู” ถกเข้ม เตรียมการประชุมเจรจา FTA รอบแรก ที่บรัสเซลส์ ก.ย.นี้ พร้อมตั้งคณะเจรจากลุ่มย่อย 19 กลุ่ม กำหนดประชุมปีละ 3 รอบ สไทยจะเป็นเจ้าภาพ รอบที่ 2 ต้นปีหน้า ที่กรุงเทพฯ ตั้งเป้าสรุปผลภายในปี 2568

นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า ในฐานะหัวหน้าคณะเจรจา FTA ฝ่ายไทย ได้พบหารือกับนายคริสตอฟ คีแนร์ (Mr. Christophe Kiener) ผู้อำนวยการสำนักภูมิภาคเอเชียใต้ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ ของคณะกรรมาธิการยุโรปด้านการค้า (Head of Unit for South and South East Asia, Australia and New Zealand, European Commission, Directorate-General for Trade)

นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ

หัวหน้าคณะเจรจาฝ่ายสหภาพยุโรป (อียู) เมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม ที่ผ่านมา เพื่อเตรียมการประชุมเจรจา FTA ไทย-อียู รอบแรก ซึ่งจะจัดขึ้นในเดือนกันยายนนี้ และวางแนวทางการเจรจา FTA โดยจะกำหนดให้มีการประชุม FTA ปีละ 3 รอบ ซึ่งจะสลับกันเป็นเจ้าภาพจัดการประชุม และหากมีความจำเป็นสามารถเพิ่มรอบการเจรจาหรือจัดหารือระหว่างรอบได้

“ไทย-อียู” ถกเข้ม เตรียมเจรจา FTA  รอบแรกก.ย.นี้ เล็งปิดดีลปี 68

โดยที่ประชุมได้ตั้งคณะเจรจากลุ่มย่อย 19 กลุ่ม ประกอบด้วย 1.การค้าสินค้า 2. กฎว่าด้วยถิ่นกำเนิดสินค้า 3. พิธีการด้านศุลกากรและการอำนวยความสะดวกทางการค้า 4. มาตรการเยียวยาทางการค้า 5. อุปสรรคทางเทคนิคต่อการค้า 6. มาตรการสุขอนามัยและสุขอนามัยพืช 7.การค้าบริการและการลงทุน

8. การค้าดิจิทัล 9.การจัดซื้อจัดจ้างโดยรัฐ 10. ทรัพย์สินทางปัญญา 11. การแข่งขัน 12. รัฐวิสาหกิจ 13. SMEs 14. พลังงานและวัตถุดิบ 15. การค้าและการพัฒนาที่ยั่งยืน 16. ระบบอาหารที่ยั่งยืน 17. ความโปร่งใส และหลักปฏิบัติที่ดีด้านกฎระเบียบ 18. กลไกระงับข้อพิพาท และ 19. อารัมภบท ข้อบททั่วไป ข้อบทสุดท้าย ข้อบทเชิงสถาบัน และข้อยกเว้น

“ไทย-อียู” ถกเข้ม เตรียมเจรจา FTA  รอบแรกก.ย.นี้ เล็งปิดดีลปี 68

นอกจากนี้ ทั้งสองฝ่ายได้กำหนดช่วงเวลาที่จะเริ่มการเจรจา โดยอียูจะเป็นเจ้าภาพการเจรจารอบแรก ในเดือน ก.ย.นี้ ณ กรุงบรัสเซลส์ ประเทศเบลเยียม ส่วนไทยจะเป็นเจ้าภาพการเจรจารอบที่ 2 ในเดือน ม.ค. 2567 ที่กรุงเทพฯ และอียูจะเป็นเจ้าภาพการเจรจารอบที่ 3 ในเดือน มิ.ย. 2567 ณ กรุงบรัสเซลส์ ประเทศเบลเยียม ทั้งนี้ จากการที่รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ (นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์) ได้หารือกับรองประธานคณะกรรมาธิการยุโรปด้านเศรษฐกิจและกรรมาธิการยุโรปด้านการค้า (นายวัลดิส ดอมบรอฟสกิส) เมื่อเดือน มี.ค. 2566 เพื่อประกาศเริ่มการเจรจา FTA ไทย-อียู และได้ตั้งเป้าสรุปผลให้ได้ภายในปี 2568

ทั้งนี้ ในช่วง 5 เดือนแรก (ม.ค.-พ.ค. 2566) การค้าระหว่างไทยและอียู มีมูลค่า 17,598.04 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ไทยส่งออกไปอียู มูลค่า 9,392.30 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และไทยนำเข้าจากอียู มูลค่า 8,205.74 ล้านดอลลาร์สหรัฐ สินค้าส่งออกสำคัญ ได้แก่ เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ อัญมณีและเครื่องประดับ เครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบ และผลิตภัณฑ์ยาง และสินค้านำเข้าสำคัญ ได้แก่ เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ ผลิตภัณฑ์เวชกรรมและเภสัชกรรม เคมีภัณฑ์ และเครื่องจักรไฟฟ้าและส่วนประกอบ