FTAไทย-อียู “จุรินทร์” ลงนามเสนอเข้าครม.ตั้งเป้าเจรจาไตรมาสแรกปีนี้

03 ก.พ. 2566 | 08:01 น.
อัปเดตล่าสุด :03 ก.พ. 2566 | 08:06 น.

FTAไทย-อียู “จุรินทร์” ลงนามเสนอเข้าครม.ตั้งเป้าเจรจาไตรมาสแรกปีนี้  มั่นใจช่วยไทยได้แต้มต่อทั้งสินค้าบริการและการท่องเที่ยวในอนาคต กับ 27 ประเทศอียู

นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยถึงความคืบหน้าการจัดทำ FTA ไทยกับสหภาพยุโรป ว่าหลังจาที่ได้เดินทางไปพบนายวัลดิส โดมโบรฟสกิส รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีการค้าของสหภาพยุโรป และรองประธานคณะกรรมาธิการยุโรปด้านเศรษฐกิจและกรรมาธิการยุโรปด้านการค้า เมื่อปลายเดือนมรกราคาที่ผ่านมาว่า สหภาพยุโรปมีสมาชิก 27 ประเทศ

นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์

 

มีความเห็นร่วมกันนับหนึ่งการทำ FTA ระหว่างไทยกับสหภาพยุโรป หลังจากที่พบกับรองนายกฯของอียูแล้วแต่ละฝ่ายกลับไปดำเนินการภายในประเทศ ทางสหภาพยุโรปจะขอคำรับรองจาก 27 ประเทศสมาชิก

 

ส่วนประเทศไทยจะนำเข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบกรอบการเจรจา ซึ่งวันนี้ได้ลงนามหนังสือถึงเลขาธิการคณะรัฐมนตรี เพื่อเร่งนำเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรีโดยเร็ว เมื่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรี ให้ความเห็นชอบกรอบการเจรจาแล้ว จะขออนุมัติจากคณะรัฐมนตรีให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์เป็นผู้ประกาศเรื่องเปิดการเจรจาร่วมกับผู้แทนของสหภาพยุโรปต่อไป

FTAไทย-อียู “จุรินทร์” ลงนามเสนอเข้าครม.ตั้งเป้าเจรจาไตรมาสแรกปีนี้

“สหภาพยุโรปมีการทำ FTA กับกลุ่มประเทศอาเซียนแล้ว 2 ประเทศ คือ สิงคโปร์และเวียดนาม ถ้าเป็นไปตามที่คาดการณ์ประเทศไทยจะเป็นประเทศที่ 3 ในอาเซียนซึ่งตนและรองนายกฯอียูตั้งเป้าเร่งกระบวนการภายใน เพื่อประกาศนับหนึ่งการเจรจาให้เสร็จภายในไตรมาสแรกของปีนี้ จะเป็นประโยชน์กับทั้งสองฝ่าย สำหรับประเทศไทยจะได้แต้มต่อทั้งสินค้าบริการและการท่องเที่ยวต่อไปในอนาคต กับ 27 ประเทศที่เป็นสมาชิก”

 

ทั้งนี้ สหภาพยุโรปเป็นคู่ค้าอันดับที่ 4 ของไทย รองจากจีน สหรัฐอเมริกา และญี่ปุ่น ถือว่าเป็นคู่ค้าที่มีความสำคัญ โดยในปี 2565 การค้าระหว่างไทยกับอียู มีมูลค่า 41,038 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้น 2.87% สัดส่วนการค้าประมาณ 7% ของการค้ากับโลก และไทยส่งออกไปอียู มูลค่า 22,794 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (843,378 ล้านบาท) เพิ่มขึ้น 5.17%

FTAไทย-อียู “จุรินทร์” ลงนามเสนอเข้าครม.ตั้งเป้าเจรจาไตรมาสแรกปีนี้

สินค้าสำคัญที่ไทยส่งออกไปอียู เช่น คอมพิวเตอร์และอุปกรณ์ รถยนต์และอุปกรณ์ แอร์และอุปกรณ์ ผลิตภัณฑ์ยางพารา อัญมณีและเครื่องประดับ และไก่แปรรูป เป็นต้น ส่วนสินค้าสำคัญที่ไทยนำเข้าจากอียู เช่น เครื่องจักรกล เคมีภัณฑ์ และยา เป็นต้น ปัจจุบันอียูมี FTA กับประเทศอาเซียน 2 ประเทศ คือ เวียดนามและสิงคโปร์ ถ้ากระบวนการทั้งหมดเป็นไปตามเป้าหมาย ไทยจะเป็นประเทศที่ 3 และถ้าประสบความสำเร็จไทยจะมีตลาดการค้าที่เราได้เปรียบคู่แข่งจากประเทศอื่นเพิ่มขึ้น 27 ประเทศ และจะเป็นแต้มต่อทางการค้าให้กับไทย รวมถึงเป็นการสร้างเงิน สร้างอนาคตให้กับประเทศต่อไป