“เพื่อไทย”ตั้งรัฐบาลกระตุ้นเศรษฐกิจระยะสั้น

22 ก.ค. 2566 | 03:00 น.

“เพื่อไทย”ตั้งรัฐบาลกระตุ้นเศรษฐกิจระยะสั้น : ดร.นณริฏ พิศลยบุตร นักวิชาการอาวุโสสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย(TDRI) หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3907

ภายหลังที่ประชุมรัฐสภาลงมติ ว่าไม่สามารถเสนอชื่อ นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรค และแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี ของพรรคก้าวไกล ในสมัยประชุมสภานี้ได้อีกแล้ว ทำให้ พรรคเพื่อไทย ซึ่งเป็นพรรคอันดับสอง ได้โอกาสในการเป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาล และเสนอชื่อบุคคลที่สมควรจะเป็นนายกรัฐมนตรี คนที่ 30  

ดร.นณริฏ พิศลยบุตร นักวิชาการอาวุโสสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย(TDRI) ได้ออกมาประเมินแนวโน้มทางการเมืองในขณะนี้ โดยคาดได้ว่า พรรคเพื่อไทยจะได้เป็นพรรคแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาล ส่งผลให้พรรคเพื่อไทยได้คุมกระทรวงเศรษฐกิจที่สำคัญของประเทศ หลังรัฐสภามีมติให้เสนอชื่อ นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล แคนดิเดตนายกรัฐมนตรี ครั้งที่ 2 กระทำไม่ได้ และศาลรัฐธรรมนูญได้สั่งให้ นายพิธา หยุดปฎิบัติหน้าที่ ส.ส.ไว้ก่อน ระหว่างรอการวินิจฉัย 

นอกจากนี้ ยังต้องลุ้นกรณี พรรคก้าวไกล ส่อโดนยุบพรรคหรือไม่ด้วย ดังนั้น ทำให้ตอนนี้โอกาสการจัดตั้งรัฐบาล จะเป็นของพรรคเพื่อไทย 

ทั้งนี้ ดร.นณริฏ ได้ฉาย 3 ฉากทัศน์ ทางการเมืองต่อจากนี้ว่า 

1. พรรคเพื่อไทย เสนอว่าจะไม่แตะ ม.112 และร่วมกับ 8 พรรคเดิม หวังให้ พรรคภูมิใจไทย กับ พรรคประชาธิปัตย์ มาช่วยโหวตนายกฯ โดยไม่สนเสียง ส.ว.

2. พรรคเพื่อไทย สลับมาจับมือกับ พรรคภูมิใจไทย พรรคประชาธิปัตย์ และหาเสียงเพิ่ม อาจมีงูเห่าทำให้ได้เกินครึ่ง 250 และหวังให้พรรคก้าวไกล โหวตปิดสวิตซ์ ส.ว.ให้ โดยไม่เข้าร่วมรัฐบาล

3. พรรคเพื่อไทย จับมือกับ พรรคพลังประชารัฐ และอาจมีพรรคภูมิใจไทย กับพรรคประชาธิปัตย์ โดยใช้เสียง ส.ว.สนับสนุน
ทั้ง 3 กรณี สิ่งที่จะเกิดขึ้น คือ พรรคก้าวไกลไม่ได้เป็นพรรคร่วม จะพลิกเป็นฝ่ายค้าน ส่งผลให้พรรคเพื่อไทยได้คุมเศรษฐกิจ 
เราจะได้เห็นนโยบายประชานิยม กระตุ้นเศรษฐกิจในระยะสั้นกลับมา โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เงินแจก Digital กับ เงินประกันรายได้ทุกครัวเรือน ไม่น้อยกว่า 20,000 บาท 

ทั้งนี้ หากเทียบการใช้งบประมาณประชานิยมของทั้ง 2 พรรค คือ พรรคก้าวไกล กับ พรรคเพื่อไทย ถือว่าใช้งบประมาณเยอะทั้ง 2 พรรค แต่พรรคเพื่อไทยอาจจะใช้งบประมาณทำนโยบายประชานิยมน้อยกว่าพรรคก้าวไกล หากพรรคก้าวไกล มาเป็นรัฐบาลจะต้องเข้ามาหารายได้ภาษีมาสนับสนุนโครงการต่างๆ เพิ่มมากขึ้น 

หาก พรรคเพื่อไทย มาบริหารเศรษฐกิจ คาดว่าเศรษฐกิจในระยะสั้นขยายตัวได้ดี เพราะมีการอัดฉีดเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจเยอะมาก ทั้งจากนโยบายกระเป๋าเงินดิจิทัล (Digital Wallet) กับประกันรายได้ไม่น้อยกว่า 20,000 บาท ต่อครัวเรือน 

และนโยบายพรรคไม่แตะตลาดหุ้น ก็จะทำให้หุ้นเติบโตได้ แต่ในระยะยาวจะเป็นความท้าทายว่า เศรษฐกิจไทยจะไปต่ออย่างไร ต้องดูว่ารัฐบาลเพื่อไทยจะดันเศรษฐกิจไปในทิศทางไหน และจะประสบความสำเร็จหรือไม่ 

                               “เพื่อไทย”ตั้งรัฐบาลกระตุ้นเศรษฐกิจระยะสั้น

ถ้าจะให้สรุป คือ เพื่อไทยมาเศรษฐกิจจะมีเสถียรภาพกว่าก้าวไกล แต่ไทยจะเสียโอกาสการปรับโครงสร้างความเหลื่อมล้ำต่างๆ ไป เพราะพรรคก้าวไกลมีนโยบายปรับโครงสร้างเยอะ เช่น ลดขนาดข้าราชการ แก้เกณฑ์ทหาร ลดการผูกขาด ส่วนเพื่อไทยก็จะเน้นแจกแบบเดิมๆ

ที่ผ่านมา นโยบายเศรษฐกิจ ของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี จะเน้นเป็นรูปแบบการลงทุนในอุตสาหกรรมใหม่ เพื่อพัฒนา หรือเปลี่ยนแปลงรูปแบบสินค้า และเทคโนโลยี (new s-curve) กับ โมเดลเศรษฐกิจสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน (BCG) ก็ต้องดูว่า รัฐบาลเพื่อไทยจะดันเศรษฐกิจไปในทิศทางไหน และจะประสบความสำเร็จหรือไม่ โครงการที่ค้างท่อ คือ รถไฟเชื่อมสนามบิน สนามบินอู่ตะเภา ก็เป็นโครงการที่ต้องดันให้สำเร็จโดยเร็ว

growth ในช่วงรัฐบาลที่ผ่านมาก็ทำได้ดีพอสมควร ไทยมีจุดขายมากขึ้น ต้องรอดูว่าพรรคเพื่อไทยจะมาสานต่อ หรือ จะมีอะไรมาเพิ่มเติม ซึ่งส่วนตัวคิดว่า รัฐบาลใหม่ควรนำนโยบายรัฐบาลเดิมมาสานต่อ เพราะมีความเหมาะสมทางวิชาการ

สำหรับสถานการณ์ความไม่แน่นอนทางการเมืองต่อเศรษฐกิจไทย ประเมินเบื้องต้นว่า มี 2 ประเด็นในเชิงลบ คือ 

1. ถ้าจัดตั้งรัฐบาลไม่ได้ หรือได้รัฐบาลเสียงข้างน้อยมาเป็นรัฐบาล จะขับเคลื่อนนโยบายไม่ได้ และ ถ้ามีเหตุการประท้วงรุนแรง จะส่งผลต่อภาพลักษณ์การลงทุนบ้าง  

และ 2.หากการจัดตั้งรัฐบาลไม่ลากยาวเกิน 3 เดือน ผลกระทบต่อเศรษฐกิจจะมีไม่มาก ส่วนม็อบต้องดูระดับการประท้วง ถ้าลงถนน และชุมนุมลากยาว ก็จะกระทบเศรษฐกิจบ้าง