นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า ภาคเอกชนยังมีความกังวลถึงการจัดตั้งรัฐบาลล่าช้า หากล่าช้าและต้องใช้เวลาถึง 10 เดือน จะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจ และความเชื่อมั่นของนักลงทุน แม้จะเข้าใจว่าทุกอย่างมีขั้นตอนก็ตาม แต่เรื่องที่รัฐสามารถดำเนินการได้ก่อน ก็อยากให้เร่งดำเนินการ
"กรณีกระแสข่าวถึงข้อเสนอให้รออีก 10 เดือน เพื่อจัดตั้งรัฐบาล โดยเป็นช่วงที่ ส.ว.พ้นวาระการร่วมโหวตนายกรัฐมนตรีนั้น เป็นมุมมองทางด้านภาคการเมืองเพื่อให้ตั้งรัฐบาลได้ง่ายขึ้น แต่ยังไม่ได้มีการคุยกันว่าถ้ารอแล้วผลกระทบทางด้านเศรษฐกิจจะมากแค่ไหน ซึ่งเรื่องนี้ต้องมีการชั่งน้ำหนักของผลกระทบ ที่เคยพูดเสมอว่า ทุกอย่างมีต้นทุน"
ทั้งนี้ ต้องดูว่าต้นทุนของประเทศทั้งหมดนั้นรับไหวไหมหากรอ 10 เดือนถือว่าเยอะไปไหม แต่ละเดือนที่รอจะมีผลกระทบอย่างไรบ้าง ผมว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องที่ต้องคุยกัน กรณีการเสนอให้รอ 10 เดือน ถือเป็นโจทย์ใหม่ เพราะฉะนั้น ส.อ.ท.จะนำข้อเสนอนี้ไปวิเคราะห์ ดูผลกระทบ อะไรที่ไหว และไม่ไหวบ้าง
สำหรับเรื่องไทม์ไลน์ตั้งรัฐบาลนั้น เอกชนได้มีการวางแผนไว้หมดแล้ว แต่หากการตั้งรัฐบาลล่าช้าไป ส่วนการลงทุน กลุ่มนักลงทุนไทยรอได้นาน 6 เดือนถึง 1 ปี แต่นักลงทุนต่างชาติอาจจะไม่ได้อินเรื่องการเมืองไทย
โดยเฉพาะกลุ่มนักลงทุนประเทศใหม่ๆ ที่ไทยกำลังเชิญชวนอยู่ กลุ่มนี้อาจจะรอ 1 เดือน หรืออย่างมากก็ 2 เดือน ส่วนถ้าเป็นนักลงทุนต่างชาติที่อยู่กับไทยมานาน อาทิ ญี่ปุ่น ก็อาจจะเคยชิน รอได้ ขณะที่นักลงทุนจากจีนไม่ค่อยให้น้ำหนักเรื่องการเมืองไทยเท่าไหร่ บางส่วนก็มายื่นขอลงทุนเข้ามาในไทยแล้ว
อย่างไรก็ดี ผู้ประกอบการยังมีความกังวลต่อปัญหาหนี้ครัวเรือน ที่กดดันกำลังซื้อในประเทศ ขณะที่ภาคการส่งออกยังคงชะลอตัว นอกจากนี้ แนวโน้มการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของสหรัฐ ยังเป็นความเสี่ยงต่อเศรษฐกิจการเงินโลก รวมถึงความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจจีน ส่งผลกระทบต่อภาคการส่งออก และวิกฤตภัยแล้งที่เกิดจากปรากฏการณ์เอลนีโญ ส่งผลกระทบภาคเกษตรและภาคอุตสาหกรรม