ดร.ปิยนุช วุฒิสอน ผู้อำนวยการสำนักงานสถิติแห่งชาติ เปิดเผยว่าสำนักงานสถิติแห่งชาติ ทำการสำรวจภาวะการทำงานของประชากร เพื่อติดตาม สถานการณ์แรงงานในทุกสามเดือนหรือรายไตรมาส โดยข้อมูลจากการสำรวจฯ สะท้อนสถานการณ์ปัจจุบันของตลาดแรงงานไทย
รวมทั้งนำข้อมูลจากการสำรวจฯ มาจัดทำตัวชี้วัดที่เกี่ยวข้องกับการว่างงานและตลาดแรงงานของประเทศ จากผลการสำรวจพบว่าสถานการณ์ผู้มีงานทำในไตรมาส 2 ปี 2566 ดีขึ้น ทั้งผู้มีงานทำที่ขยายตัวและการทำงานเต็มเวลาที่เพิ่มขึ้น รวมทั้งสถานการณ์การว่างงานดีขึ้น
โดยไตรมาส 2 ปี 2566 จำนวนผู้มีงานทำเพิ่มขึ้นอยู่ที่ 39.7 ล้านคน เพิ่มขึ้น 6.6 แสนคน จากไตรมาสเดียวกันของปีก่อนหน้า ทั้งนี้เป็นการเพิ่มขึ้นของผู้มีงานทำนอกภาคการเกษตร ที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 2.5 เทียบกับไตรมาสเดียวกันในปีก่อนหน้า
สำหรับชั่วโมงการทำงาน มีการเพิ่มเวลาการทำงานอย่างเห็นเด่นชัด ทั้งผู้ที่ทำงานเต็มเวลาหรือทำงาน 35-49 ชั่วโมงต่อสัปดาห์เพิ่มขึ้นประมาณ 5.6 แสนคน เช่นเดียวกับผู้ที่ทำงาน 50 ชั่วโมงขึ้นไปต่อสัปดาห์ที่เพิ่มขึ้นประมาณ 3.5 แสนคน ในขณะที่ผู้ที่ทำงานน้อยกว่า 35 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ลดลงประมาณ 2.4 แสนคนเมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนหน้า
เมื่อพิจารณาตัวเลขผู้ว่างงานพบว่าสถานการณ์การว่างงานดีขึ้น จำนวนผู้ว่างงานลดลงจากไตรมาสเดียวกันของปีก่อนหน้าจาก 5.5 แสนคน เหลือ 4.3 แสนคน หรือคิดเป็นอัตราการว่างงานร้อยละ 1.1 เช่นเดียวกันกับปัญหาการว่างงานระยะยาว หรือผู้ที่ว่างงานมากกว่า 1 ปีขึ้นไป ที่มีสถานการณ์ดีขึ้นอย่างชัดเจน จาก 1.4 แสนคน ในปี 2565 ลดลงเหลือเพียง 7.4 หมื่นคน ในปี 2566
สถานการณ์แรงงานอีกประเด็นที่น่าติดตาม คือ ผู้เสมือนว่างงาน หรือผู้ที่มีชั่วโมงทำงาน/สัปดาห์น้อยกว่าเกณฑ์ที่กำหนด คือ ไม่เกิน 20 ชั่วโมง/สัปดาห์ สำหรับภาคเกษตรกรรม และไม่เกิน 24 ชั่วโมง/สัปดาห์ สำหรับนอกภาคเกษตรกรรม ซึ่งพบว่ามีสถานการณ์ที่ไม่เปลี่ยนแปลงเมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันในปีก่อนหน้า อยู่ที่ประมาณ 2 แสนคน
โดยสรุปแล้วสถานการณ์การทำงานของประชากรในไตรมาสที่ 2 ปี 2566 ในภาพรวมปรับตัวดีขึ้นเล็กน้อยเมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีที่ผ่านมา สภาวะการทำงานเริ่มกลับเข้าสู่ภาวะปกติ และการว่างงานที่ปรับตัวดีขึ้น