“ประยุทธ์” ทิ้งทวนเร่งแก้ หนี้ครัวเรือน-หนี้นอกระบบ

03 ส.ค. 2566 | 02:50 น.
อัพเดตล่าสุด :03 ส.ค. 2566 | 03:02 น.

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เกาะติดการแก้ไขหนี้ครัวเรือน-หนี้นอกระบบ หลัง ธปท. ร่วมหน่วยงานต่าง ๆ วางแนวทางแก้หนี้ที่ยั่งยืน ส่วนรัฐบาลพร้อมทำมาตรการคู่ขนานสร้างวินัยการเงิน

หนี้ครัวเรือน และ หนี้นอกระบบ นับเป็นปัญหาสะสมในระบบเศรษฐกิจมายาวนาน ล่าสุด น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม ได้ให้ความสำคัญและติดตามการดำเนินการของหน่วยงานและคณะกรรมการชุดต่างๆ อย่างใกล้ชิด 

ล่าสุดได้รับรายงานว่า ขณะนี้ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้ร่วมกับธนาคารพาณิชย์เอกชน ธนาคารเฉพาะกิจของรัฐ สถาบันการเงินที่ไม่ใช่ธนาคาร (นอนแบงก์) ในการดำเนินแนวทางการแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือนอย่างยั่งยืน ซึ่งจะเป็นการยกมาตรฐานการให้สินเชื่อ 

โดยดูแลตั้งแต่ก่อนเป็นหนี้ กำลังจะเป็นหนี้ ระหว่างเป็นหนี้ เมื่อหนี้มีปัญหา และเมื่อมีการขาย/ฟ้องหนี้ และหนี้นอกระบบให้มีโอกาสมากขึ้นที่จะเข้ามากู้ในระบบได้ แบ่งการดำเนินการเป็น 2 ส่วน คือ 

  1. มาตรการให้สินเชื่ออย่างรับผิดชอบและเป็นธรรม ที่สถาบันการเงินต้องเริ่มดำเนินการตั้งแต่ 1 มกราคม 2567 
  2. มาตการแก้หนี้เรื้อรัง เริ่มบังคับใช้ตั้งแต่ 1 เมษายน 2567

 

น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี

น.ส.ไตรศุลี กล่าวว่า นายกรัฐมนตรีเล็งเห็นความสำคัญของปัญหาและได้ให้นโยบายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการแก้ไขโดยต่อเนื่อง ทั้งการช่วยเหลือประชาชนทั้งที่เป็นโครงการระยะเร่งด่วนตามสถานการณ์เช่นในช่วงมีการแพร่ระบาดของโควิด19 และดำเนินมาตรการที่เป็นการแก้ไขเชิงโครงสร้างเพื่อกระตุ้นให้เกิดวินัยการทางเงินทั้งระบบ 

ทั้งนี้ยังชื่นชมความร่วมมือของ ธปท. และสถาบันการเงินทั้งรัฐและเอกชนที่กำลังสร้างวัฒนธรรมการให้สินเชื่อที่ดี  เป็นรากฐานที่จะแก้ไขปัญหาหนี้ครัวเรือนที่ยั่งยืน ให้คนไทยมีหนี้ที่มีคุณภาพ ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายที่รัฐบาลดำเนินการมาตลอดคือมุ่งสร้างวินัยการเงินให้เกิดขึ้นทั้งระบบ

 

“ประยุทธ์” ทิ้งทวนเร่งแก้ หนี้ครัวเรือน-หนี้นอกระบบ

 

รัฐบาลออกมาตรการคู่ขนาน

ปัจจุบันรัฐบาลดำเนินนโยบายแก้ไขปัญหาหนี้ครัวเรือนแบบคู่ขนาน ทั้งการแก้ไขปัญหาระยะเร่งด่วนและระยะยาว ซึ่งระยะเร่งด่วนนั้นได้ขับเคลื่อนผ่านคณะกรรมการกำกับการแก้ไขหนี้สินของประชาชนรายย่อย ดำเนินการใน 3 ด้านที่สำคัญ คือ 

  • ช่วยเหลือลูกหนี้ให้เข้าถึงกลไกการแก้ไขหนี้สิน 
  • ปรับปรุงกฎหมาย
  • เพิ่มเติมแหล่งสินเชื่อที่เป็นธรรม 

ล่าสุดคณะกรรมการชุดนี้มีการรายงานผลดำเนินงานให้ ครม. ทราบเป็นระยะเพื่อปรับปรุงแนวทางการทำงานที่เหมาะสมสอดคล้องกับสถานการณ์

ส่วนของการสร้างวินัยการเงินในระยะยาวสำหรับคนไทย รัฐบาลมีแผนปฏิบัติการด้านการพัฒนาทักษะทางการเงิน ซึ่งขณะนี้อยู่ในช่วงแผ่นปี 65 - 70 ซึ่งมีเป้าหมายสำคัญคือการสร้างทักษะในการบริหารจัดการทางการเงินของบุคคลในทุกช่วงวัย

ทั้งในระดับครอบครัว ในสถานศึกษา และสำหรับประชาชนทั่วไป มีหลายหน่วยงานร่วมขับเคลื่อนแผน อาทิ กระทรวงการคลัง ธปท. สำนักงานคณะกรรการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (กลต.) กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงการอุดมศึกษาฯ เป็นต้น

 

ภาพประกอบข่าว หนี้ครัวเรือน-หนี้นอกระบบ

 

สถานการณ์หนี้ครัวเรือนไทยปัจจุบัน

ก่อนหน้านี้ ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย รายงานภาระหนี้ครัวเรือนคนไทย ในปี 2566 พบว่ามีอัตราที่เพิ่มสูงขึ้นมากที่สุดในรอบ 15 ปี โดยมีหนี้สินรวมอยู่ที่ 559,408 บาท ต่อครัวเรือนเพิ่มขึ้น 11.5 % จากปี 2565 ที่มีหนี้รวม 501,711 บาทต่อครัวเรือน  

สาเหตุที่หนี้เพิ่มสูงขึ้น มาจากค่าครองชีพที่ปรับตัวสูงขึ้น ถึง 16.8 % มีการซื้อสินทรัพย์ถาวรเพิ่มขึ้น 16.2 % เช่น รถยนต์ บ้าน มีรายได้ไม่เพียงพอกับรายจ่าย 13.8% และ กลุ่มตัวอย่างถึง 60 % ไม่มีการออมเงิน ผลการสำรวจยังพบว่า กลุ่มคน GEN Y และ GEN Z ถึง 76 % ยอมรับว่าใช้เงินแบบไม่วางแผน 60.5% มีการใช้จ่ายเงินเกินตัว และ 47.2 % กู้ยืมเงินในอนาคตมาใช้ โดยเฉพาะการใช้บัตรเครดิตเป็นหลัก 

ขณะที่สัดส่วนหนี้ครัวเรือนในไตรมาส 1 ปี 2566 พบว่า มีการชะลอตัวลงมาอยู่ที่ระดับ 90.6% ต่อจีดีพี จากระดับ 91.4% ต่อจีดีพีในไตรมาส 4 ปี 2565 ที่ผ่านมา