ความหวังของเมียนมา หลังการประชุม GMS ที่คุนหมิง

24 พ.ย. 2567 | 22:00 น.

ความหวังของเมียนมา หลังการประชุม GMS ที่คุนหมิง คอลัมน์ เมียงมอง เมียนมา โดย กริช อึ้งวิฑูรสถิตย์

KEY

POINTS

  • กลุ่ม GMS จะมีการประชุมร่วมกัน เพื่อพบปะเสวนาหาช่องทางในการร่วมมือกันพัฒนาทางด้านเศรษฐกิจ สังคมและความเป็นอยู่ของประชาชนในประชาคมนี้อยู่เป็นประจำทุกปี
  • วัตถุประสงค์ของการประชุม GMS มุ่งเน้นการพัฒนาเศรษฐกิจ และการเชื่อมโยงทางการค้าและโลจิสติกส์ในภูมิภาค ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีศักยภาพในการเติบโตทางเศรษฐกิจที่สูง โดยมีการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่

ความหวังของเมียนมา หลังการประชุม GMS ที่คุนหมิง คอลัมน์ เมียงมอง เมียนมา โดย กริช อึ้งวิฑูรสถิตย์

 

หลังจากมีการประชุมสุดยอดผู้นำแผนความร่วมมือทางเศรษฐกิจลุ่มแม่น้ำโขงครั้งที่ 8 (The 8th GMS Summit) ระหว่างวันที่ 4-7 พฤศจิกายนที่ผ่านมา ณ นครคุนหมิง สาธารณรัฐประชาชนจีน โดยมีผู้นำทั้ง 6 ประเทศเข้าร่วมประชุม ซึ่งเป็นที่น่าสนใจคือท่านพลเอกอาวุโส เมียน อ่อง หล่าย ผู้นำของประเทศเมียนมา ได้รับเกียรติในการเชิญเข้าร่วมประชุมในครั้งนี้ด้วย ก็มีคำถามจากแฟนคลับมายังผมว่า นี่น่าจะเป็นเรื่องที่เหนือความคาดหมายหรือไม่? หรือจะมีนัยสำคัญอะไรเกิดขึ้นหรือไม่? คำถามเหล่านี้ แม้แต่เพื่อนๆ ที่ต่างประเทศที่ไม่ได้อยู่ในภูมิภาคของเรา ก็ถามผมเข้ามาเช่นกัน 

ในความจริงแล้ว คอลัมน์ของผมมักจะไม่ค่อยพูดถึงเรื่องการเมืองนัก แต่ครั้งนี้คำถามมีเข้ามาเยอะ คงจะหลีกเลี่ยงไม่ตอบก็คงไม่ได้ ผมจะพยายามตอบด้วยความเป็นกลางที่สุดนะครับ อาจจะมีบ้างที่คำตอบไม่ตรงกับใจท่าน หรือตอบไม่ตรงคำถาม ก็ขออภัยมา ณ ที่นี้ครับ 

ก่อนอื่นเราต้องทำความเข้าใจกับบริบทของการประชุม GMS (Greater Mekong Subregion) ก่อน การประชุม GMS หรือสนธิสัญญาลุ่มแม่น้ำโขง ที่มีสมาชิกทั้งหมด 6 ประเทศด้วยกัน คือ กัมพูชา สปป.ลาว เมียนมา เวียดนาม ไทย และประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน ซึ่งเป็นการจับกลุ่มประเทศที่มีแม่น้ำโขงไหลผ่าน ที่ผ่านๆ มา กลุ่ม GMS จะมีการประชุมร่วมกัน เพื่อพบปะเสวนาหาช่องทางในการร่วมมือกันพัฒนาทางด้านเศรษฐกิจ สังคมและความเป็นอยู่ของประชาชนในประชาคมนี้อยู่เป็นประจำ

ทุกปีจะมีการประชุมกัน ทั้งคณะกรรมการและคณะอนุกรรมการกันหลายครั้ง อีกทั้งยังมีการประชุมใหญ่ของผู้นำประเทศทั้ง 6 โดยจะมีการผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกันเป็นเจ้าภาพตลอด โดยงบประมาณในการใช้เพื่อการพัฒนาประเทศในกลุ่มบางส่วน จะได้มาจากการสนับสนุนจากธนาคารเพื่อการพัฒนาเอเชียหรือ (Asian Development Bank : ADB) ในครั้งนี้การประชุมสุดยอดผู้นำ GMS ก็ได้จัดขึ้นที่คุนหมิง ซึ่งเจ้าภาพได้มีการเชื้อเชิญพลเอกอาวุโส เมียน อ่อง หล่าย ผู้นำทหารของเมียนมา เข้ามาร่วมประชุมด้วยนั่นเองครับ

การมาร่วมประชุมครั้งนี้ของผู้นำเมียนมา ได้เป็นหัวข้อที่มีความสำคัญและได้รับความสนใจจากหลายฝ่าย ทั้งในแง่ของการเมืองระหว่างประเทศ และความสัมพันธ์ของเมียนมากับประเทศเพื่อนบ้านในภูมิภาค เพราะผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากการตัดสินใจของท่านผู้นำทางทหาร ในสภาพแวดล้อมทางการเมืองที่ซับซ้อนนี้ หากจะพิจารณาหลายมุมมองเกี่ยวกับการที่ท่านผู้นำของเมียนมา ได้รับเชิญเข้าร่วมประชุมในระดับภูมิภาคดังกล่าว ผมจึงขออนุญาตเน้นถึงเฉพาะผลกระทบในทางด้านเศรษฐกิจทั้งในประเทศเมียนมา ซึ่งจะส่งผลถึงภูมิภาคอาเซียนเป็นหลักก่อนนะครับ

หากเรามองถึงวัตถุประสงค์ของการประชุม GMS ที่มุ่งเน้นไปที่การพัฒนาเศรษฐกิจ และการเชื่อมโยงทางการค้าและโลจิสติกส์ในภูมิภาคนี้ ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีศักยภาพในการเติบโตทางเศรษฐกิจที่สูง โดยมีการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ เช่น ระบบถนนและรถไฟข้ามชาติ การเชื่อมโยงด้านพลังงานและโครงการการค้าในภูมิภาค ทำให้เห็นว่าหากการเข้าร่วมประชุมของท่าน นำมาซึ่งสันติภาพในอนาคตที่ทุกฝ่ายคาดหวังว่า ประเทศเจ้าภาพที่เป็นพี่ใหญ่ในภูมิภาค และเป็นประเทศที่มีอิทธิพลสูงสุด สามารถใช้เวทีดังกล่าว ในการพบปะหารืออย่างเป็นทางการ ระหว่างประเทศเมียนมากับประเทศสมาชิกในกลุ่ม GMS และสามารถใช้ความเป็นมิตรในการพูดคุย และใช้การสร้างโอกาสในการพัฒนาและความร่วมมือทั้งในด้านเศรษฐกิจและสังคม เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนในภูมิภาค และลดความเหลื่อมล้ำระหว่างประเทศสมาชิก เป็นเครื่องมือในการเจรจากับท่านผู้นำเมียนมา เพื่อนำมาซึ่งสันติภาพและความสงบสุขของประเทศเมียนมา นี่ก็จะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งทีเดียว

เราต้องยอมรับว่า ก่อนเกิดวิกฤตการณ์การเมืองในปี 2021 ประเทศเมียนมาเอง ได้มีบทบาทในประชุม GMS ในฐานะสมาชิกที่มีความสำคัญในด้านการค้าและการพัฒนาในภูมิภาค การมีส่วนร่วมของประเทศเมียนมาในโครงการ GMS ช่วยส่งเสริมการเชื่อมโยงด้านโครงสร้างพื้นฐาน เช่น การพัฒนาเส้นทางรถไฟและการขนส่งพลังงานจากพื้นที่ต่างๆในภูมิภาค ประเทศเมียนมายังเป็นพื้นที่ที่มีแหล่งทรัพยากรธรรมชาติอุดมสมบูรณ์ ซึ่งทำให้การร่วมมือทางเศรษฐกิจในลุ่มน้ำโขงมีความสำคัญมากขึ้น ซึ่งส่งผลให้ประเทศในภูมิภาคนี้ ไม่ว่าจะเป็นประเทศไทย เวียดนาม และประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน ต่างมองมาที่ประเทศเมียนมา ว่าเป็น “ประเทศแห่งโอกาสในการส่งเสริมการลงทุน และการค้าที่สำคัญ” เพราะในยุคนั้นประเทศเมียนมาเป็น “ตลาดใหม่และสด” นั่นเป็นเพราะหลังจากถูกปิดประเทศ ด้วยเหตุผลทางการเมือง และการแซงชั่นมาตั้งแต่ปี 1988 เป็นต้นมา พอเข้าสู่การเลือกตั้งในปี 2010 ทุกอย่างในเมียนมาก็เปลี่ยนแปลงไปจากหน้ามือเป็นหลังมือเลยทีเดียว

ต่อมาเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2021ได้มีการเปลี่ยนแปลงการปกครองอีกครั้ง ซึ่งได้สร้างความตึงเครียดภายในประเทศ และสร้างความกังวลต่อประเทศในภูมิภาคและทั่วโลก นับตั้งแต่นั้นความสัมพันธ์ทางการเมืองระหว่างผู้นำประเทศกับกลุ่มต่อต้านจากหลายฝ่าย และหลายประเทศในฝากตะวันตก ที่ทำให้เกิดการแซงชั่นเกิดขึ้น ประเทศเมียนมาจึงได้รับผลกระทบอย่างหนัก โดยเฉพาะจากประเทศที่มีอิทธิพลในองค์กรระหว่างประเทศต่างๆ ในช่วงเวลาหลังการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว การเข้าร่วมประชุมในระดับนานาชาติหรือภูมิภาคของประเทศเมียนมามัก จะได้รับการคัดค้านจากหลายประเทศ ในอาเซียนเองก็มีการออกแถลงการณ์ เพื่อเรียกร้องให้เมียนมาปฏิบัติตามหลักการประชาธิปไตย และให้มีการเลือกตั้งอย่างบริสุทธิยุติธรรมเกิดขึ้นอีกครั้ง โดยส่วนตัวผมที่ได้เห็นจากข่าวการเข้าร่วมประชุม GMS ที่คุนหมิงในครั้งนี้ ท่านพลเอกอาวุโส เมียน อ่อง หล่าย ก็มีท่าทีว่าตอบรับกับข้อเสนอดังกล่าว นับว่าเป็นสัญญาณที่ดียิ่งสำหรับสันติภาพของประเทศเมียนมา 

อย่างไรก็ตาม ผมก็เชื่อว่าทุกคนในภูมิภาคนี้ ต่างก็เฝ้ารอคอยให้สิ่งที่จะเกิดขึ้นในอนาคตข้างหน้านี้ จะส่งผลให้ทุกฝ่ายในประเทศเมียนมา หันมาร่วมกันจับมือกันและเดินไปในทางสันติวิธี เพื่อประเทศชาติและประชาชนชาวเมียนมา จะได้ลืมตาอ้าปากกันเสียทีครับ