วันนี้ (3 สิงหาคม 2566) นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) เปิดเผยภายหลังการประชุมหัวหน้าหน่วยงานของ กทม. ว่า ได้สั่งการให้ทุกสำนักงานเขต ตรวจสอบเรื่องธุรกิจของชาวต่างชาติ โดยเฉพาะการกระทำที่เป็นลักษณะของนอมินี หรือ การถือหุ้นแทนคนต่างชาติหรือการอำพรางชื่อผู้ถือหุ้นที่แท้จริงเพื่อหลีกเลี่ยงกฎหมาย
“การดำเนินการดังกล่าวไม่ได้เน้นเพื่อไปจับผิด เพราะธุรกิจเหล่านี้สามารถมองได้อีกมุม คือ การกระตุ้นการท่องเที่ยวจากคนต่างชาติ แต่หากพบการกระทำที่เป็นลักษณะของนอมินี จะประสานกับกระทรวงพาณิชย์ไป รวมถึงตรวจสอบว่าการนำเข้าของต่างประเทศมาขายดำเนินการอย่างถูกต้องหรือไม่” นายชัชชาติ ระบุ
สำหรับกรณีที่เขตห้วยขวางมีธุรกิจของคนจีนจำนวนมากในพื้นที่ จากการตรวจสอบพบว่ามีการกระทำผิดอยู่ 4 แห่ง เช่น ขายของโดยไม่มีฉลาก ไม่มีการจดทะเบียนการค้าต่าง ๆ ส่วนในพื้นที่เขตสัมพันธวงศ์ ซึ่งมีพื้นที่เยาวราชก็เป็นอีกเป้าหมายหนึ่งที่เน้นย้ำให้ไปตรวจสอบ
พบเขตห้วยขวางมีนอมินีเพียบ
พล.อ.นิพัทธ์ ทองเล็ก ที่ปรึกษาของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า ขณะนี้ ได้เชิญส่วนราชการที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ กทม. และตำรวจ มาหารือที่สำนักงานเขตห้วยขวาง เพื่อหารือเกี่ยวกับระบบวิธีการทำงานในพื้นที่เขตห้วยขวาง กรณีมีชาวต่างชาติมาประกอบอาชีพอยู่จำนวนมาก และปรากฏเป็นข่าวอยู่ในโซเชียลมีเดียต่าง ๆ ในลักษณะล้อเลียนว่า ที่นี่คือเมืองของประเทศนั้นประเทศนี้
ทั้งนี้จากการหารือได้รับข้อมูลในชั้นต้นว่าชาวต่างชาติที่มาประกอบกิจการในพื้นที่เขตห้วยขวางทั้งหมดใช้นอมินีแทบทั้งสิ้น โดยเป็นการให้คนไทยถือหุ้นแทนแต่ไม่ใช่เจ้าของตัวจริง โดยผู้อำนวยการเขตสัมพันธวงศ์ ให้ข้อมูลว่าในพื้นที่เขตสัมพันธวงศ์มีจำนวนมาก
โดยได้แนะนำให้ผู้อำนวยการเขตอื่นควรศึกษา พ.ร.บ. ของกระทรวงพาณิชย์ มาตรา 42 ที่เกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ ซึ่งส่วนใหญ่จะมาขอเปิดประกอบกิจการในรูปแบบกิ๊ฟชอป และความเป็นจริงผู้จดทะเบียนเป็นคนไทยแต่แรงงานอาจไม่ใช่คนไทย
การหารือครั้งนี้คุย ติดตามกรณีหากเกิดเหตุในพื้นที่ใครจะเป็นผู้รับผิดชอบ จากที่คุยกันได้ข้อมูลว่าในพื้นที่เขตห้วยขวางหรือพื้นที่อื่น ๆ ที่มีเรื่องชาวต่างชาติ จะมีส่วนราชการจำนวนมากที่สามารถเข้าไปดูแลได้ ซึ่งแต่ละหน่วยงานก็มีบทบาทหน้าที่เฉพาะของตน เช่น ตำรวจตรวจคนเข้าเมือง กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงแรงงาน กระทรวงสาธารณสุข และ กทม. อีกทั้งในพื้นที่เขตห้วยขวางมีสถานีตำรวจอยู่ 5 สถานี
จากการหารือทำให้ทราบว่าผู้อำนวยการเขตต้องเป็นผู้รับผิดชอบในฐานะเจ้าของพื้นที่ที่ดูแลฝ่ายปกครอง โดยเขตห้วยขวางจะเป็นต้นแบบสำหรับเขตอื่น ๆ ในการทำงานต่อไป โดยที่ผ่านมามีการปิดไปแล้ว 4 ร้านที่ทำผิดเกี่ยวกับเรื่องผิดประเภทของการขออนุญาต