การกวาดล้างนอมินี คนไทยถือครองที่ดินแทนคนต่างชาติ ตามนโยบายของกรมที่ดินกระทรวงมหาดไทย และกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ไม่ใช่เรื่องง่าย แม้ที่ผ่านมาประมวลกฎหมายที่ดิน ของกรมที่ดิน จะไม่เปิดช่องให้ต่างชาติถือครองที่ดินแต่ ต่างชาติสามารถถือครองได้ตามกฎหมายเฉพาะอื่น เช่น กฎกระทรวงกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไข การได้มาซึ่งที่ดินเพื่อใช้เป็นที่อยู่อาศัยของคนต่างด้าว พ.ศ. 2545 พระราชบัญญัติส่งเสริมการลงทุน พ.ศ 2520 และพระราชบัญญัติเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก พ.ศ. 2561 เป็นต้น
แต่การอาศัยช่องทาง การตั้ง "นิติบุคคล" ในสัดส่วนคนไทยถือหุ้น 51 % ต่างชาติ 49% ตามกฎหมายประกอบธุรกิจของคนต่างชาติ กรมพัฒนาธุรกิจการค้ากระทรวงพาณิชย์ ตามหลักฐานคนไทยถือหุ้นใหญ่เป็นนิติบุคคลสัญชาติไทย สามารถถือครองที่ดินไทยได้ ตาม มาตรา 97 แห่งประมวลกฎหมายที่ดิน
กลับกัน มักเห็นทุนต่างชาตินั่งหัวโต๊ะ ซื้อที่ดิน ลงทุนพัฒนาโครงการอสังหาริมทรัพย์ขนาดใหญ่ ตามหัวเมืองท่องเที่ยวสำคัญ ขุมทรัพย์ใหญ่หอบเงิน ผลตอบแทนที่เป็นกำไร ส่งกลับไปยังประเทศของตนเอง สร้างความสูญเสียอย่างมหาศาลที่ประเมินค่ามิได้ ส่วนนอมินีคนไทยได้ผลตอบแทนเพียงค่าจ้าง
ขีดเส้
ขีดเส้น 15 วัน ก่อนส่งดีเอสไอสอบเชิงลึก
ล่าสุด กรมพัฒนาธุรกิจการค้าได้เข้าไปตรวจสอบ ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้ง กรมการท่องเที่ยว กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) กรมที่ดิน กองบัญชาการตำรวจท่องเที่ยวแล้วตรวจไปแล้วประมาณ 200 บริษัท พบว่ามีบางบริษัทที่ส่อจะเป็น"นอมินี"จริง จึงได้ขอให้บริษัทที่สงสัยส่งเอกสารหลักฐานมาให้ตรวจสอบเพิ่มเติม ขีดเส้นให้ 15 วันจากนั้นจะตรวจสอบอีกครั้ง ถ้าพบว่าเข้าข่ายนอมินี ก็จะส่งดีเอสไอตรวจสอบเชิงลึกต่อไป
ส่วนแผนทำงานในปี 2566 กรมพัฒนาธุรกิจการค้า ในฐานะมือปราบนอมินีของกระทรวงพาณิชย์ มีเป้าหมายตรวจสอบ ใน 3 กลุ่มธุรกิจเสี่ยง คือ ธุรกิจท่องเที่ยวและเกี่ยวเนื่อง , ธุรกิจค้าที่ดิน อสังหาริมทรัพย์ และถือครองอสังหาริมทรัพย์ และธุรกิจโรงแรมและรีสอร์ต โดยมีเป้าหมายรวม 9 จังหวัด ได้แก่ เชียงใหม่ เชียงราย ภูเก็ต สุราษฎร์ธานี ชลบุรี ระยอง ประจวบคีรีขันธ์ เพชรบุรี และกรุงเทพฯ เฉพาะในกรุงเทพฯจะเน้นตรวจสอบธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับการท่องเที่ยว เช่น ร้านอาหาร ร้านขายของที่ระลึก โรงแรมที่พัก ในย่านที่เป็นประเด็นเรื่องกลุ่มทุนจีนเข้ามาทำธุรกิจเป็นพิเศษ
นายจิตรกร ว่องเขตกร รองอธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า เปิดเผยว่า กรมให้ความสำคัญในการติดตามและดูแลการประกอบกิจการของคนไทย และตรวจสอบการกระทำความผิดเกี่ยวกับการถือหุ้นแทนคนต่างด้าว (นอมินี) ซึ่งส่วนใหญ่เกิดจากการที่มีคนไทย ยอมรับผลประโยชน์ หรือสมยอม หรือที่ปรึกษากฎหมายแนะนำให้หลีกเลี่ยงกฎหมายเพื่อให้คนต่างด้าวได้ประกอบการกิจการ ทำธุรกิจในไทย กรมเองก็ไม่ได้นิ่งนอนใจ มีการวางแผนและลงพื้นที่ตรวจสอบนิติบุคคลทุกปี
โดยเฉพาะในกลุ่มธุรกิจท่องเที่ยวและธุรกิจที่เกี่ยวเนื่อง เช่น ร้านอาหาร สปา บริการรถทัวร์ โรงแรม อสังหาริมทรัพย์ เป็นต้น ปีหนึ่งก็ประมาณ 100 ราย ที่ตรวจสอบ และเมื่อประเทศไทยมีการเปิดประเทศ หลังจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ผ่อนคลาย เชื่อว่าจะมีนักท่องเที่ยวเข้ามาประเทศไทยมากขึ้น รวมไปถึงนักท่องเที่ยวจีน ดังนั้น เพื่อผลประโยชน์ของประเทศ กรมจะให้ความเข้มงวดในการตรวจสอบธุรกิจนอมินี
โดยแนวทางการป้องกัน ธุรกิจที่มีลักษณะนอมินีนั้นก่อนจดทะเบียนกำหนดให้ส่งเอกสารที่ธนาคารออกให้ เพื่อรับรอง หรือแสดงฐานะการเงินของผู้เป็นหุ้นส่วน หรือผู้ถือหุ้นคนไทยที่ลงทุนหรือถือหุ้นในนิติบุคคลร่วมกับคนต่างด้าว เพื่อแสดงความน่าเชื่อถือว่าคนไทยที่ร่วมลงทุนมีฐานะทางการเงินที่สามารถลงทุนเองได้และหลังจดทะเบียน จะต้องจัดทำข้อมูลนิติบุคคลกลุ่มเสี่ยง และกำหนดเป็นแผนงานโครงการประจำปี เพื่อตรวจสอบเชิงลึกร่วมกับหน่วยงานพันธมิตร
145 บริษัทเข้าข่ายนอมินี
สำหรับ ผลการตรวจสอบนอมินี ที่ผ่านมา ซึ่งทำมาแล้วตั้งแต่ปี 2558-2565 โดยปี 2564 พบพฤติกรรมที่อาจเข้าเป็นความผิดนอมินี มากสุดถึง 145 ราย โดยเป็นธุรกิจท่องเที่ยวและธุรกิจที่เกี่ยวเนื่อง 44 ราย ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์และเกี่ยวเนื่อง 89 ราย ธุรกิจโรงแรม รีสอร์ท 3 ราย ธุรกิจบริการ 9 ราย
โดยปี 2558 เข้าข่าย 13 ราย , ปี 2559 เข้าข่าย 15 ราย , ปี 2560 เข้าข่าย 4 ราย , ปี 2561 เข้าข่าย 2 ราย , ปี 2562 เข้าข่าย 4 ราย , ปี 2563 เข้าข่าย 5 ราย และปี 2565 เข้าข่าย 3 ราย ซึ่งทั้งหมดได้ส่งให้ดีเอสไอ ตรวจสอบเชิงลึกไปแล้ว และได้ ดำเนินคดีความผิดเกี่ยวกับนอมินีแล้วรวม 66 ราย
โดย โทษสำหรับการเป็นนอมินี จำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับตั้งแต่ 1 แสนถึง 1 ล้านบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และยังมีโทษปรับรายวันอีกวันละ 10,000-50,000 บาท จนกว่าจะเลิกฝ่าฝืน และกรรมการบริษัท ก็มีความผิดด้วย
สำหรับสถิติการออกใบอนุญาตและหนังสือรับรองการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว ตั้งแต่เดือนมีนาคม 2543 จนถึงเดือนธันวาคม 2565 มีการออกใบอนุญาตและหนังสือรับรองให้คนต่างด้าวประกอบธุรกิจรวมทั้งสิ้น 13,915 ราย โดยเป็นการออกใบอนุญาต 6,279 ราย ออกหนังสือรับรองการประกอบธุรกิจตามที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุน 5,588 ราย และออกหนังสือรับรองตามสนธิสัญญา 2,048 ราย ทั้งนี้ คนต่างหน้าที่ได้รับใบอนุญาตและหนังสือรับรองมีการแจ้งเลิกประกอบกิจการและถูกเพิกถอนใบอนุญาต 3,509 ราย และยังคงอยู่ 10,406 ราย