ชงรัฐบาลใหม่ ปลุกแผน W-MAP 9.3 พันล้าน รุกเส้นทางเดินเรือ

09 ส.ค. 2566 | 06:07 น.
อัปเดตล่าสุด :09 ส.ค. 2566 | 06:17 น.

“สนข.” จ่อชงรัฐบาลใหม่ดันแผน W-MAP วงเงิน 9.3 พันล้านบาท หวังเชื่อมต่อการเดินทางเขตกรุงเทพฯ-ปริมณฑล ครอบคลุมโครงข่ายการเดินทางทางน้ำกว่า 196 กม. ภายในปี 66 แก้ปัญหาจราจรติดขัดในเมือง คาดปี 70 ผู้โดยสารใช้บริการพุ่ง 6.6 หมื่นคนต่อวัน

ที่ผ่านมากระทรวงคมนาคมได้มอบหมายให้สนข.และหน่วยงานอื่นๆ ไปดำเนินการศึกษาเพิ่มบริการการขนส่งในแม่น้ำ ลำคลอง เพื่อเป็นการยกระดับการเดินทางทางน้ำ ให้ทางเลือกในการสัญจรและท่องเที่ยว รองรับความต้องการเดินทางในปัจจุบัน และการเติบโตของเมืองในอนาคต

 

นายปัญญา ชูพานิช ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) เปิดเผยว่า ปัจจุบัน สนข.ได้ศึกษาแผนปฏิบัติการด้านการพัฒนาการเดินทางทางน้ำในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล หรือ W-MAP (ปี 2566-2575) โดยมุ่งเน้นให้เกิดเส้นทางในการเดินทางทางน้ำจาก ระยะทาง 131.2 กิโลเมตร (กม.) เป็นระยะทาง 196.6 กิโลเมตร (กม.) เพื่อเป็นอีกหนึ่งทางเลือกในการเดินทางของประชาชน ลดปัญหาการจราจรติดขัด

“ขณะนี้สนข.ได้ศึกษาแผนดังกล่าวแล้วเสร็จ หลังจากนี้จะเสนอต่อกระทรวงคมนาคมพิจารณา ซึ่งตามแผนพัฒนาดังกล่าว คาดว่าจะจัดใช้งบลงทุนรวม 9,322.10 ล้านบาท ประกอบด้วย เส้นทางเดิมในปัจจุบัน จำนวน 4 เส้นทาง อาทิ เส้นทางเดินเรือแม่น้ำเจ้าพระยา เส้นทางคลองผดุงกรุงเกษม และเส้นทางคลองประเวศบุรีรมย์ ระยะทาง 65.4 กิโลเมตร (กม.) โดยเป็นการพัฒนาบริการจุดเชื่อมต่อล้อ ราง เรือ ให้สะดวกมากยิ่งขึ้น ซึ่งรวมไปถึงการพัฒนาท่าเรือต่างๆ ให้มีบริการสิ่งอำนวยความสะดวกรองรับผู้โดยสาร”

 

 ทั้งนี้แผนพัฒนาการเดินทางทางน้ำกรุงเทพฯ-ปริมณฑล จะได้รับการพิจารณาจากกระทรวงคมนาคม เสนอเข้าสู่ที่ประชุมคณะกรรมการจัดระบบการจราจรทางบก (คจร.) และคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาภายในปี 2566 หลังมีการจัดตั้งรัฐบาลใหม่ โดยจะผลักดันแผนดังกล่าวสู่การปฏิบัติ เนื่องจากเป็นแผนการลงทุนที่เหมาะสม สามารถแก้ปัญหาการจราจรติดขัด เป็นทางเลือกให้แก่ประชาชนในการเดินทางเชื่อมกรุงเทพฯ และปริมณฑล

“แผนพัฒนาการเดินทางทางน้ำดังกล่าว เบื้องต้นสนข. รับหน้าที่ในการศึกษาความเป็นไปได้และจัดลำดับเส้นทางที่มีความสำคัญเร่งด่วน เพื่อบรรจุเป็นวาระการพัฒนาโครงข่ายขนส่ง พร้อมทั้งมอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ผู้ดูแลเส้นทางทางน้ำต่างๆ ไปพัฒนา อาทิ กรุงเทพมหานคร (กทม.) และกรมเจ้าท่า (จท.) เป็นต้น”

 

นายปัญญา กล่าวต่อว่า ด้านรูปแบบการลงทุน เบื้องต้นจากการศึกษาความเหมาะสมพบว่า การประกวดราคาจัดหาเอกชนเข้ามาให้บริการเดินเรือในเส้นทางต่างๆ จะมีหน่วยงานที่กำกับดูแลเส้นทางน้ำเป็นผู้ดำเนินการประกวดราคาเอง ทั้งนี้ภายหลังการพัฒนาเส้นทางเดินทางทางน้ำที่กำหนดไว้แล้วเสร็จจะสร้างความสะดวกในคมนาคมทางน้ำ เพิ่มท่าเรือบริการจาก 103 แห่ง เป็น 200 แห่ง คาดว่าจะมีผู้โดยสารใช้บริการในปี 2570 เพิ่มเป็น 66,060 คนต่อวัน ก่อนขยายต่อเนื่องในปี 2575 เป็นจำนวน 83,484 คนต่อวัน

 

สำหรับเส้นทางพัฒนาใหม่ในแผนระยะสั้น (ระหว่างปี 2566-2570) จำนวน 4 เส้นทาง ระยะทาง 74.3 กิโลเมตร (กม.) คาดใช้งบประมาณลงทุน 5,305.07 ล้านบาท ประกอบด้วย 1.เส้นทางเดินเรือในคลองลาดพร้าว ช่วงสายไหมถึงพระโขนง (S1) วงเงินลงทุน 1,446.21 ล้านบาท ระยะทาง 25.7 กิโลเมตร (กม.) จำนวน 23 ท่าเรือ คาดพร้อมเปิดให้บริการในปี 2569

 

2.เส้นทางเดินเรือในคลองแสนแสบ (S2) วงเงินลงทุน 3,240.70 ล้านบาท แบ่งออกเป็น ช่วงวัดศรีบุญเรืองถึงถนนสุวินทวงศ์ ระยะทาง 12 กิโลเมตร (กม.) จำนวน 16 ท่าเรือ, ช่วงสะพานผ่านฟ้าลีลาศถึงวัดศรีบุญเรือง ระยะทาง 17.3 กิโลเมตร (กม.) จำนวน 28 ท่าเรือ และช่วงป้อมพระสุเมรุถึงสะพานผ่านฟ้าลีลาศ หรือคลองบางลำพู ระยะทาง 1.5 กิโลเมตร (กม.) จำนวน 3 ท่าเรือ คาดพร้อมเปิดให้บริการในปี 2569

ชงรัฐบาลใหม่ ปลุกแผน W-MAP 9.3 พันล้าน รุกเส้นทางเดินเรือ

3.เส้นทางเดินเรือในคลองขุดมหาสวัสดิ์-คลองบางกอกน้อย ช่วงประตูน้ำฉิมพลีถึงศิริราช (S3) วงเงินลงทุน 397.53 ล้านบาท ระยะทาง 17.1 กิโลเมตร (กม.) จำนวน 18 ท่าเรือ คาดเปิดให้บริการในปี 2568 และ 4.เส้นทางเดินเรือในคลองขุดมหาสวัสดิ์ ช่วงประตูน้ำมหาสวัสดิ์ถึงวัดชัยพฤกษมาลา (S4) วงเงินลงทุน 219.93 ล้านบาท ระยะทาง 28 กิโลเมตร (กม.) จำนวน 13 ท่าเรือ คาดว่าจะเปิดให้บริการได้ในปี 2568

 

นอกจากนี้ภายใต้แผนพัฒนาการเดินทางทางน้ำกรุงเทพฯ และปริมณฑล สนข. ยังได้ศึกษาเส้นทางที่จะพัฒนาในระยะยาว (ระหว่างปี 2571-2575) จำนวน 3 เส้นทาง ระยะทาง 56.9 กิโลเมตร (กม.) คาดใช้งบประมาณรวม 2,695.98 ล้านบาท คาดว่าจะทยอยเปิดบริการในปี 2572 ประกอบด้วย 1.เส้นทางเดินเรือในคลองเปรมประชากร ช่วงวัดรังสิตถึงบางซื่อ 2.เส้นทางเดินเรือในแม่น้ำเจ้าพระยาส่วนต่อขยาย ช่วงปากเกร็ดถึงที่ว่าการอำเภอเมืองจังหวัดปทุมธานี และ 3.เส้นทางเดินเรือในคลองประเวศบุรีรมย์ส่วนต่อขยาย ช่วงตลาดเอี่ยมสมบัติถึงวัดสังฆราชา