นายปัญญา ชูพานิช ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) เปิดเผยถึงความคืบหน้าโครงการแลนด์บริดจ์ ในพื้นที่ จ.ชุมพร และระนอง ว่า ปัจจุบันสนข.เตรียมเปิดรับฟังความคิดเห็น ภายในเดือนสิงหาคมนี้ โดยเป็นการเปิดรับฟังความคิดเห็นครั้งที่ 1 ในขั้นตอนกำหนดชอบเขตและแนวทางการศึกษา หลังจากนั้นในเดือนตุลาคม-ธันวาคม 2567 จะเปิดรับฟังความคิดเห็นครั้งที่ 2 ในขั้นตอนการประเมิน พร้อมจัดทำร่างรายงานประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมสำหรับโครงการที่อาจมีผลกระทบต่อทรัพยากรธรรมชาติ คุณภาพสิ่งแวดล้อม สุขภาพ อนามัย (EHIA) และในเดือนมีนาคม 2567 จะเปิดรับฟังความคิดเห็นครั้งที่ 3 ในการทบทวนร่างรายงานฯ EHIA ต่อไป หลังจากนั้นจะเสนอเข้าที่ประชุมครม.ชุดใหม่ รับทราบหลักการของโครงการฯ ภายในเดือนตุลาคม 2566
นายปัญญา กล่าวต่อว่า สนข.ได้จ้างบริษัทที่ปรึกษาเพื่อศึกษาการจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EHIA) ของโครงการฯ ตั้งแต่เดือนมีนาคม 2564-กันยายน 2566 แต่ปัจจุบันการศึกษาEHIA มีความล่าช้า เนื่องจากเกิดสถานการณ์การแพร่ระบาดเชื้อไวรัสโควิด-19 ส่งผลให้การศึกษาEHIA ต้องขยายระยะเวลาของสัญญาออกไป 1 ปี เริ่มตั้งแต่เดือนมีนาคม 2564-กันยายน 2567 คาดว่าจะดำเนินการแล้วเสร็จภายในเดือนมีนาคม 2567
"ที่ผ่านมาโครงการแลนด์บริดจ์ชุมพร-ระนอง ตามแผนเดิมจะต้องเสนอต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) ก่อนยุบสภา แต่เสนอไม่ทัน ส่งผลให้ต้องมีการเสนอต่อกระทรวงคมนาคมและเสนอต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) ชุดใหม่ รับทราบหลักการอีกครั้ง ภายในเดือนตุลาคม 2566"
นายปัญญา กล่าวต่อว่า ทั้งนี้สนข.มีแผนเตรียมเดินทางไปโรดโชว์ ในต่างประเทศที่มีสายการเดินเรือขนาดใหญ่ 10 ประเทศ อาทิ ไต้หวัน จีน ญี่ปุ่น และฝรั่งเศษ เพื่อดึงนักลงทุนจากต่างประเทศภายในเดือนตุลาคม-พฤศจิกายน 2566 หลังจากนั้นสนข. จะปรับปรุงรายละเอียด และวิเคราะห์โครงการตามข้อมูลที่ได้จากการโรดโชว์หลังจากนั้น ภายในเดือนพฤศจิกายน-ธันวาคม 2566 ก่อนเสนอครม.อนุมัติเพื่อดำเนินการก่อสร้างโครงการ ภายในเดือนมกราคม 2567 หลังจากนั้นจะเริ่มเปิดประมูลพร้อมกันทั้งโครงการฯ ภายในต้นปี 2568 และลงนามเอกชนลงทุนในไตรมาส 3 ของปี 2568 คาดว่าจะทยอยเปิดโครงการในระยะแรกได้ ภายในปี 2573
นายปัญญา กล่าวต่อว่า ส่วนการประมูลของโครงการฯ เบื้องต้นเป็นการประมูลรวมทุกแพ็กเก็จ ประกอบด้วย ท่าเรือน้ำลึก,ทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง (มอเตอร์เวย์) และรถไฟ ซึ่งใช้รูปแบบการลงทุน International Bidding โดยให้สิทธิ์เอกชนในไทยและต่างประเทศ เป็นผู้ลงทุน 100% ส่วนรัฐจะให้สัมปทานพื้นที่ระยะเวลา 50 ปี โดยมีเงื่อนไขว่าเอกชนรายใดสามารถบริหารพื้นที่ได้น้อยที่สุดตามที่ภาครัฐกำหนดจะได้รับคะแนนการพิจารณาเป็นผู้รับสัมปทานด้วย
"ยืนยันว่าโครงการนี้มีวัตถุประสงค์ไม่ได้ต้องการสร้างท่าเรือเพื่อมาแข่งขันกับประเทศสิงคโปร์ แต่ต้องการช่วยระบายเรือที่ต้องการเข้ามาขนส่งสินค้าในกลุ่มประเทศอาเซียน และประเทศใกล้เคียง เนื่องจากปริมาณการขนส่งสินค้าผ่านช่องแคบมะละกาเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้มีการจำกัดการเดินเรือ หากไทยสามารถทำให้โครงการเกิดขึ้นได้จะเป็นประตูการนำเข้า-ส่งออก สินค้าในประเทศไทยและต่างประเทศ รวมทั้งเป็นศูนย์กระจายสินค้าไปยังประเทศในแถบอาเซียน"
สำหรับวงเงินในการลงทุนทั้งโครงการฯ อยู่ที่ประมาณ 1 ล้านล้านบาท แบ่งการก่อสร้างเป็น 4 ระยะ มีระยะเวลาในการก่อสร้างรวม 8 ปี โดยมีรูปแบบการก่อสร้างท่าเรือฝั่งชุมพร-ระนอง เป็นพี้นที่เปลี่ยนรูปแบบการขนส่งสินค้าฝั่งชุมพร-ระนอง และมูลค่าลงทุนเส้นทางเชื่อมโยงท่าเรือ โดยระยะที่ 1 วงเงินลงทุนรวมประมาณ 5.22 แสนล้านบาท ระยะที่ 2 วงเงินลงทุนรวมประมาณ 1.64 แสนล้านบาท ระยะที่ 3 วงเงินลงทุนรวมประมาณ 2.28 แสนล้านบาท และระยะที่ 4 วงเงินลงทุนรวมประมาณ 8.51 หมื่นล้านบาท
ด้านการก่อสร้างท่าเรือฝั่งระนอง แบ่งการพัฒนาเป็น 3 ระยะ ประกอบด้วย ระยะที่ 1 จะเริ่มดำเนินการก่อสร้างท่าเรือภายในปี 2571 ระยะเวลาก่อสร้าง 2 ปีครึ่ง คาดก่อสร้างแล้วเสร็จในปี 2573 สามารถรองรับประมาณตู้สินค้า ได้ประมาณ 6 ล้าน TEU ระยะที่ 2 จะเริ่มดำเนินการก่อสร้างท่าเรือภายในปี 2574 ระยะเวลาก่อสร้าง 3 ปี คาดก่อสร้างแล้วเสร็จในปี 2576 สามารถรองรับประมาณตู้สินค้า ได้ประมาณ 12 ล้าน TEU และระยะที่ 3 จะเริ่มดำเนินการก่อสร้างท่าเรือภายในปี 2577 ระยะเวลาก่อสร้าง 2 ปี คาดก่อสร้างแล้วเสร็จในปี 2578 สามารถรองรับประมาณตู้สินค้า ได้ประมาณ 20 ล้าน TEU
ขณะที่การก่อสร้างท่าเรือฝั่งชุมพร แบ่งการพัฒนาเป็น 4 ระยะ ประกอบด้วย ระยะที่ 1 จะเริ่มดำเนินการก่อสร้างท่าเรือภายในปี 2571 ระยะเวลาก่อสร้าง 2 ปีครึ่ง คาดก่อสร้างแล้วเสร็จในปี 2573 สามารถรองรับประมาณตู้สินค้า ได้ประมาณ 4 ล้าน TEU ระยะที่ 2 จะเริ่มดำเนินการก่อสร้างท่าเรือภายในปี 2575 ระยะเวลาก่อสร้าง 2 ปี คาดก่อสร้างแล้วเสร็จในปี 2576 สามารถรองรับประมาณตู้สินค้า ได้ประมาณ 8 ล้าน TEU ระยะที่ 3 จะเริ่มดำเนินการก่อสร้างท่าเรือภายในปี 2577 ระยะเวลาก่อสร้าง 2 ปี คาดก่อสร้างแล้วเสร็จในปี 2578 สามารถรองรับประมาณตู้สินค้า ได้ประมาณ 14 ล้าน TEU และระยะที่ 4 จะเริ่มดำเนินการก่อสร้างท่าเรือภายในปี 2579 ระยะเวลาก่อสร้าง 3 ปี คาดก่อสร้างแล้วเสร็จในปี 2581 สามารถรองรับประมาณตู้สินค้า ได้ประมาณ 20 ล้าน TEU
นายปัญญา กล่าวต่อว่า ทั้งนี้สนข.ยังมีแผนดำเนินการศึกษาเพื่อจัดทำร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษภาคใต้ (พ.ร.บ. SEC) เพื่อขับเคลื่อนการพัฒนาโครงการแลนด์บริดจ์ เบื้องต้นสนข.จะมีการจัดตั้งสำนักงานกรรมการนโยบายเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษภาคใต้ (SEC) ในลักษณะเดียวกับพระราชบัญญัติเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (พ.ร.บ.อีอีซี) ที่ใช้ขับเคลื่อนโครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) โดยจะเสนอร่าง พ.ร.บ.SEC พร้อมเงื่อนไขสิทธิประโยชน์ ไปยังสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) และจัดทำเอกสารประกวดราคา (อาร์เอฟพี) เพื่อคัดเลือกผู้ลงทุน แล้วเสร็จภายในไตรมาส 4 ปี 2567 หากการจัดตั้งสำนักงานฯแล้วเสร็จ รวมทั้งร่างพ.ร.บ.มีผลบังคับใช้แล้ว สนข.จะมอบหมายให้ทางสำนักงานฯเป็นผู้ดูแลต่อไป