การจัดตั้งรัฐบาล และการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีคนที่ 30 ของประเทศไทย ยังคงไม่สะเด็ดน้ำ
โดยถือว่าเป็นปัญหาที่สำคัญต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุนที่จะเข้ามาในประเทศไทย
ทั้งนี้ จากการตรวจสอบความคิดเห็นของ "ฐานเศรษฐกิจ" ต่อองค์กรที่เกี่ยวข้องทางเศรษฐกิจ พบว่า
นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ระบุว่า ภาคเอกชนจับตาสถานการณ์การเมืองใกล้ชิด โดยนักลงทุนไทยและนักลงทุนต่างชาติรายเดิมที่ลงทุนอยู่แล้วกลุ่มนี้อาจรอได้ เพราะคุ้นเคยกับสภาพสังคมและการเมืองไทยเป็นอย่างดี รวมทั้งนักลงทุนจีนที่ประกาศการลงทุนอย่างต่อเนื่องก็ดูจะไม่ค่อยให้น้ำหนักกับการเมืองนัก
"ภาคเอกชนลุ้นกับภารกิจการจัดตั้งรัฐบาล ที่มีพรรคเพื่อไทยเป็นแกนนำ ซึ่งหากการจัดตั้งรัฐบาล ยังเป็นไปตามไทม์ไลน์ คือ ภายในเดือนสิงหาคมนี้ หรืออย่างช้าเสร็จในต้นเดือนกันยายน ก็ไม่กังวลมาก เพราะเอกชนสามารถวางแผนการทำธุรกิจได้ แต่หากยืดเยื้อไปถึงปลายเดือนกันยายน จะกระทบหนักและจะสร้างความเสียหายต่อเศรษฐกิจ ทั้งนี้จุดสำคัญ คือ จะต้องเป็นรัฐบาลที่มีเสถียรภาพ ต้องเป็นรัฐบาลเสียงข้างมาก"
อย่างไรก็ดี นักลงทุนต่างชาติรายใหม่ที่เป็นกลุ่ม New S-Curve ไฮเทคโนโลยีที่ไทยต้องการดึงมาลงทุนจากสหรัฐฯ และยุโรปซึ่งอยู่ระหว่างการตัดสินใจย้ายฐานการผลิตอาจลังเลและเลือกลงทุนประเทศอื่นแทนเพราะตอนนี้การแข่งขันในภูมิภาคเองมีความร้อนแรง
"นักธุรกิจทั้งไทยและต่างชาติต่างจับตา เพราะมีความท้าทายรออยู่มากมาย หากเป็นรัฐบาลที่ไม่มีเสถียรภาพ ก็เหมือนคนป่วยและจะแย่ ขณะที่คู่ค้าต่างชาติ มีสอบถามมาบ้าง แต่ยังไม่ถึงขั้นถามเซ้าซี้ เพราะเห็นว่ายังอยู่ในไทม์ไลน์เช่นเดียวกัน แม้จะรู้สึกตื่นเต้น และบีบหัวใจไปบ้าง เพราะเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอด"
นายธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ระบุว่า นักธุรกิจและผู้บริโภคต่างจับตาการโหวตเลือกนายกฯ ว่าจะไปในทิศทางใดเพราะหากไม่มีรัฐบาล หรือจัดตั้งรัฐบาลล่าช้า การใช้งบประมาณของภาครัฐจะถูกเลื่อนออกไป ทำให้ภาคธุรกิจวางแผนลงทุนไม่ได้
"หากการจัดตั้งรัฐบาลล่าช้าออกไป แต่ยังอยู่ในเดือน ส.ค. - ก.ย. ผลกระทบต่อเศรษฐกิจคงจะไม่รุนแรง เพราะรัฐบาลสามารถเดินหน้างบลงทุนต่าง ๆ ได้ แต่หากจัดตั้งรัฐบาลเลยออกไปเดือน ต.ค. การใช้งบประมาณจะถูกเลื่อนออกไปช่วงไตรมาส 2 ปี 2567 จะกระทบการขยายตัวเศรษฐกิจเพิ่มขึ้น"
ส่วนการชุมนุมกับผลของเศรษฐกิจประเมินว่า หากไม่มีความรุนแรง เศรษฐกิจก็จะสามารถเติบโตได้ 3.5% แต่หากได้นายกรัฐมนตรีและเร่งจัดตั้งรัฐบาลใหม่ได้ตามกรอบระยะเวลาและผลักดันการใช้งบประมาณ เร่งเดินหน้าลงทุน เศรษฐกิจไทยมีโอกาสขยายตัวได้ 4%
อย่างไรก็ตาม กรณีเลวร้าย การชุมนุมประท้วงมีความรุนแรงจนเกิดความเสียหายต่อภาคการท่องเที่ยวช่วงครึ่งปีหลังนี้ มีโอกาสจะเห็นจำนวนนักท่องเที่ยวหายไปประมาณ 10 ล้านคนสูญเสียรายได้ท่องเที่ยวหายไปประมาณ 500,000 ล้านบาทซึ่งจะฉุดการขยายตัวของเศรษฐกิจลดลง 1%
นายวีริศ อัมระปาล ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) ระบุว่า นักลงทุนที่อยู่กับ กนอ. ยังไม่เกิดความวิตกกังวลมากมายเท่าใดนัก เนื่องจากการลงทุนในนิคมอุตสาหกรรมส่วนใหญ่จะเป็นการลงทุนในระยะยาว ซึ่งอย่างน้อยจะต้องภาพกว้างไปประมาณ 20-30 ปี เพราะฉะนั้นเหตุการณ์ที่เกิดในปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็นการจัดตั้งรัฐบาล หรือการหารือเพื่อหาสูตรทางการเมืองที่เหมาะสม
โดยนักลงทุนเชื่อว่าเหตุการณ์ดังกล่าวก็จะผ่านพ้นไป ไม่ว่าจะต้องใช้เวลา 1-2 เดือนก็ตาม แต่ก็จะได้มาซึ่งรัฐบาลที่เหมาะสม
อย่างไรก็ดีในความคิดเห็นส่วนตัวเชื่อว่า ผู้หลักผู้ใหญที่กำลังฟอร์มทีมรัฐบาลอยู่ในปัจจุบัน ต่างก็เห็นปัญหาในอดีตที่ผ่านมา ทุกฝ่ายก็พยายามช่วยกันไม่ให้เกิดปัญหาความวุ่นวาย หรือเหตุการณ์บานปลายเหมือนที่เคยผ่านมา
"วันนี้ทุกคนช่วยกัน โดยมองว่ารัฐบาลที่จะจัดตั้งออกมาน่าจะเป็นสูตรที่ทุกคนยอมรับได้ และบ้านเมืองก็จะเดินต่อไป"
ขณะที่บรรยากาศการลงทุนก็จะดีขึ้น ในความคิดเห็นส่วนตัวมีความเชื่อมั่นแบบนั้น ส่วนนักลงทุนเองก็เข้าใจว่าอาจจะรอดู แต่ก็มีความเข้าใจบริบทของการเมืองในประเทศไทย และคงจะไม่แย่เหมือนในอดีตที่ผ่านมา
ด้านนักลงทุนรายใหม่นั้น มองว่าอาจจะรอดูบ้าง เพราะอย่างที่เรียนไปแล้วว่าการลงทุนเป็นการลงทุนระยะยาว แต่โดยหลักก็ยังมีปัจจัยอื่นอีกมากต่อการตัดสินใจเข้ามาลงทุนในประเทศ ไม่ว่าจะเป็นโครงสร้างพื้นฐาน แรงงาน คุณภาพของคน และความพร้มทางด้านสาธารณูปโภค
โดยใทยเองก็ได้โชว์ศักยภาพให้ได้เห็นว่ามีระบบน้ำ มีระบบไฟฟ้าที่ค่อนข้างมีเสถียรภาพ สามารถใช้งานได้ ทำให้นักลงทุนมความเชื่อมั่น การเมืองก็เป็นเพียงปัจจัยหนึ่งเท่านั้น
"ต้องการให้คนไทยมั่นใจว่าบรรยากาศการลงทุนยังมีมาอย่างต่อเนื่อง และค่อนข้างมีทิศทางที่สดใสในอนาคต รอเพียงแต่รัฐบาลใหม่ที่เข้ามา และหวังว่านโยบายใหม่จะต่อเนื่อง และสามารถสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุนได้