เครื่องราง ของขลัง พระเครื่อง นับเป็นหนึ่งในสิ่งของแทนความอุ่นใจที่อยู่คู่กับวิถีชีวิตคนไทยมานาน โดยเฉพาะการเป็นตัวแทนที่ยึดเหนี่ยวจิตใจ หรือการเสริมโชค วาสนา ค้าขาย อย่างกรณีของ ครูกายแก้ว ซึ่งมีผู้ศรัทธาเดินทางมากราบไหว้ขอให้ประสบผลสำเร็จในหน้าที่การงาน และการค้าขาย ก็เป็นอีกหนึ่งตัวอย่างของเครื่องราง ของขลังที่กำลังได้เป็นกระแสร้อนแรงอยู่ในปัจจุบัน
ขณะเดียวกันเมื่อมองมุมธุรกิจของ “เครื่องราง ของขลัง” ยังถือว่ามีแนวโน้ตเติบโตที่สดใส และมักถูกหยิบยกมาใช้เป็นอีกหนึ่ง Soft Power ของไทยเช่นเดียวกัน โดยที่ผ่านมา “ธนวรรธน์ พลวิชัย” อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย และประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ เคยประเมินมูลค่าของ ธุรกิจจากความเชื่อและความศรัทธา ซึ่งสร้างรายได้ปีละเป็นหมื่นล้านบาท
ด้วยกระแสความสนใจดังที่กล่าวมาข้างต้นนี้ ส่งผลให้การโฆษณาขายเครื่องราง ของขลัง หรือให้บริการ ผ่านสื่อต่าง ๆ มีความแพร่หลายมากขึ้น และส่วนใหญ่มักพบเห็นการใช้ข้อความที่ยากต่อการพิสูจน์ อวดอ้างสรรพคุณที่เกินจริง เช่น เสริมโชคลาภบารมี หรือทำให้หายจากการเจ็บปวด ทำให้ผู้บริโภคหลงเชื่อและได้รับความเสียหายหรืออันตรายจากการใช้สินค้าหรือบริการดังกล่าว
ดังนั้นเพื่อเป็นการป้องกันหรือระงับยับยั้งไม่ให้ผู้บริโภคถูกเอารัดเอาเปรียบหรืออาจเกิดอันตรายกับผู้บริโภค ที่เกิดจากการใช้สินค้าหรือบริการจากการโฆษณาขายเครื่องราง ของขลัง หรือให้บริการ เมื่อไม่นานมานี้ สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) จึงเตรียมออกร่างกฎมายเข้ามาควบคุมการโฆษณาขายเครื่องราง ของขลัง อย่างจริงจัง
โดยจัดทำเป็น ร่างกฎกระทรวงกำหนดข้อความโฆษณาเครื่องราง ของขลัง หรือบริการที่เป็นการไม่เป็นธรรมต่อผู้บริโภคหรือที่อาจก่อให้เกิดผลเสียต่อสังคมเป็นส่วนรวม พ.ศ. .... ล่าสุด ได้มีการเปิดรับฟังความคิดเห็นต่อร่างกฎหมายไปเป็นที่เรียบร้อยแล้ว
ทั้งนี้ในการเปิดรับฟังความคิดเห็น ได้มีผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องเข้าร่วม ประกอบด้วย บุคลากร สคบ. หน่วยงานรัฐ ผู้ประกอบธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับ และประชาชน
โดย สคบ. แจ้งว่า ในขั้นตอนต่อจากนี้ กองคุ้มครองผู้บริโภคด้านโฆษณา จะนำความคิดเห็นของผู้มีส่วนเกี่ยวข้องไปพิจารณา ปรับปรุง และแก้ไขให้ร่างกฎกระทรวงฉบับดังกล่าวเกิดความเหมาะสมต่อไป