รายงานข่าวจากการรถไฟแห่งประเทศไทย(รฟท.) แจ้งความคืบหน้าโครงการรถไฟความเร็วสูงไทย-จีน ระยะ(เฟส)ที่ 1 ช่วงกรุงเทพฯ–นครราชสีมา ระยะทาง 253 กิโลเมตร (กม.) 14 สัญญา วงเงิน 1.79 แสนล้านบาทว่า ขณะนี้ก่อสร้างแล้วเสร็จ 1 สัญญา อยู่ระหว่างก่อสร้าง 10 สัญญา เพิ่งลงนาม และรอเข้าพื้นที่ 1 สัญญา และรอลงนาม 2 สัญญา ประกอบด้วย 1.สัญญาที่ 4-5 ช่วงบ้านโพ-พระแก้ว ระยะทาง 13.3 กม. สำนักงานอัยการสูงสุด ยังอยู่ระหว่างตรวจร่างสัญญา หากแล้วเสร็จจะสามารถลงนามสัญญาจ้างกับ บริษัท บุญชัยพาณิชย์(1979) จำกัด ผู้รับจ้าง วงเงิน 10,325 ล้านบาท เพื่อดำเนินการก่อสร้างต่อไป
2.สัญญา 4-1 ช่วงบางซื่อ-ดอนเมือง ระยะทาง 15.2 กม. ซึ่งเป็นช่วงที่มีโครงสร้างทับซ้อนกับโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน(ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา) ขณะนี้ยังไม่ได้ข้อสรุปเรื่องการแก้ไขสัญญาร่วมลงทุนโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบินฯ คาดว่าต้องรอรัฐบาลชุดใหม่พิจารณา อย่างไรก็ตามสำหรับภาพรวมงานการก่อสร้างโครงการฯ มีความคืบหน้า 23.95% โดย รฟท. เริ่มงานก่อสร้างเมื่อเดือน ธ.ค.60 ยังคงตั้งเป้าหมาย และจะพยายามเร่งรัดงานก่อสร้าง เพื่อให้โครงการรถไฟไฮสปีดไทย-จีน เฟสที่ 1 สามารถเปิดบริการได้ภายในปี 70
ขณะที่ความคืบหน้าอีก 11 สัญญา ในไฮสปีดไทย-จีน เฟส1 ดังนี้ สัญญาที่ 1-1 สถานีกลางดง-ปางอโศก ระยะทาง 3.5 กม. งานก่อสร้างแล้วเสร็จ 100% สัญญาที่ 2-1 ช่วงสีคิ้ว-กุดจิก ระยะทาง 11 กม. คืบหน้า 98.67% คาดว่าจะแล้วเสร็จภายในปี 66, สัญญาที่ 3-2 งานอุโมงค์มวกเหล็ก และลำตะคอง ระยะทาง 12.2 กม. คืบหน้า 31.53%
สัญญาที่ 3-3 ช่วงบันไดม้า-ลำตะคอง ระยะทาง 26.1 กม. คืบหน้า 29.09%, สัญญาที่ 3-4 ช่วงลำตะคอง-สีคิ้ว และช่วงกุดจิก-โคกกรวด ระยะทาง 37.4 กม. คืบหน้า 61.23%, สัญญาที่ 3-5 ช่วงโคกกรวด-นครราชสีมา ระยะทาง 12.3 กม. คืบหน้า 4.63%
สัญญาที่ 4-2 ช่วงดอนเมือง-นวนคร ระยะทาง 21.8 กม. คืบหน้า 0.20%, สัญญาที่ 4-3 ช่วงนวนคร-บ้านโพ ระยะทาง 23 กม. คืบหน้า 16.07%, สัญญาที่ 4-4 ศูนย์ซ่อมบำรุงเชียงรากน้อย คืบหน้า 00.12% สัญญาที่ 4-6 ช่วงพระแก้ว-สระบุรี ระยะทาง 31.6 กม. คืบหน้า 0.32% และสัญญาที่ 4-7 ช่วงสระบุรี-แก่งคอย ระยะทาง 12.9 กม. คืบหน้า 42.96%
รายงานข่าวจากรฟท.กล่าวต่อว่า ส่วนความคืบหน้างานสัญญา 2.3 งานระบบราง ระบบไฟฟ้าและเครื่องกล รวมทั้งจัดหาขบวนรถไฟ และจัดฝึกอบรมบุคลากร วงเงินประมาณ 50,633 ล้านบาท ขณะนี้บริษัทคู่สัญญาฝ่ายจีน ประกอบด้วย บริษัท ไชน่า เรลเวย์ อินเตอร์แนชันนัล (CHINA RAILWAY INTERNATIONAL CO., LTD.) และ บริษัท ไชน่า เรลเวย์ดีไซน์ คอร์เปอเรชัน (CHINA RAILWAY DESIGN CORPORATION) ได้ดำเนินงานออกแบบตามสัญญาเบื้องต้นเสร็จแล้ว อยู่ระหว่างฝ่ายไทยตรวจสอบ ปัจจุบันผู้รับจ้างอยู่ระหว่างดำเนินการจัดหาวัสดุ และอุปกรณ์งานระบบ
นอกจากนี้รฟท.มีแผนจัดตั้งองค์กรขึ้นมาดูแลรถไฟความเร็วสูง ในรูปแบบของบริษัท ลักษณะเดียวกับบริษัท รถไฟฟ้า ร.ฟ.ท. จำกัด(รฟฟท.) นั้น ขณะนี้กระทรวงคมนาคม ยังอยู่ในขั้นตอนของการศึกษารูปแบบขององค์กร คาดว่าจะแล้วเสร็จปลายปี 66 จากนั้นจะเร่งดำเนินการจัดตั้ง เพื่อให้ทันกับการที่ฝ่ายจีนจะเข้ามาถ่ายทอดเทคโนโลยี ทักษะ และความรู้ต่างๆ เกี่ยวกับรถไฟความเร็วสูง 11 ด้าน ให้กับบุคลากรฝ่ายไทยประมาณปลายปี 67 พร้อมทั้งรองรับการดำเนินงานรถไฟความเร็วสูงของไทยในอนาคตด้วย